x close

สารพัดโรคภัยเบียดเบียน ปลามังกร


ปลามังกร


สารพัดโรคภัยเบียดเบียนปลามังกร (ข่าวโลกสัตว์เลี้ยง)

           ไม่ว่าเราจะใส่ใจดูแลปลามังกรตัวโปรดอย่างดีเพียงใด ก็ยังมีโอกาสที่ปลาอะโรวาน่าจะต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ โรคใดโรคหนึ่งในสารพัดโรคต่อไปนี้ ซึ่งสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเลี้ยงปลาอะโรวาน่า บทความต่อไปนี้ ศึกษาไว้ไม่เสียประโยชน์แน่นอน

โรคเหงือก

           เป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่ชอบเกิดกับปลาอะโรวาน่า ผู้เลี้ยงปลาอะโรวาน่าที่มีประสบการณ์ไม่มากพอจะมีโอกาสพบเจอกับโรคเหงือกมากกว่า 80% สาเหตุของโรคเหงือมีที่มาไม่แน่นอน แต่ส่วนมากจะมาจากคุณภาพน้ำไม่ดี ค่า pH สูงหรือต่ำเกินไป ตู้ปลาขาดการดูแล ของเสียเยอะ ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ออกซิเจนภายในตู้ไม่เพียงพอ และอุณหภูมิน้ำสูงหรือต่ำเกินไป

           โรคนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วรักษาให้หายยากอีกด้วย ถ้าเป็นระยะแรกๆ ก็พอแก้ไขได้ แต่หากเป็นหนัก ๆ บางกรณีอาจต้องถึงกับทำศัลยกรรม หรือยิ่งไปกว่านั้นก็ไม่สามารถรักษาได้ เป็นรอยตำหนิตลอดไป ซึ่งโรคเหลือที่ว่านี้มี 4 แบบ คือ เหงือกอ้า (หรือเหงือกบาน) เหงือกหุบ เหงือกพับ และเหงือกบุ๋ม

โรคตาตก

           เกิดจากมีไขมันในเบ้าตาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ดันลูกตาตกลงมา สาเหตุหลัก ๆ ที่พอสันนิษฐานได้ของโรคนี้ คือ

           1. การให้อาหารประเภทไขมันมากเกินไป

           2. การให้เหยื่อประเภท "กุ้งฝอย" สาเหตุนี้เกิดตรงที่เวลาปลามองหากุ้งก็จะมองที่บริเวณพื้นตู้ สอดส่วยไปมาทั่วตู้ นานเข้าก็ทำให้เกิดอาการตาตกได้

           3. ส่วนสาเหตุสุดท้ายก็คือ จากกรรมพันธุ์ ปลามังกรที่ตาตกจากกรรมพันธุ์ มักมีอาการตั้งแต่เล็กคือ 6 นิ้วก็เห็นอาการแล้ว

โรคเกล็ดพอง

           โรคนี้ส่วนมากเป็นในปลาเล็กขนาดไม่เกิน 8 นิ้ว โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากน้ำสกปรก มีค่าของเสียมาก และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลัน ลักษณะอาการก็คือ "เกล็ดจะเปิดอ้าออก" โรคนี้ถือเป็นโรคอันตรายที่อาจทำให้ปลามีโอกาสตายสูง

โรคแผลอักเสบ

           โดยปกติแล้วแผลอักเสบมักจะเป็นที่บริเวณใต้เกล็ดปลา โดยสังเกตได้จากจะมีรอยจ้ำเลือดแดง ๆ หรือมีสีน้ำตาลคล้ำ อาการส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในซอกเกล็ดปลา

โรคหนวดปลาหมึก

           โรคนี้แม้จะไม่อันตรายนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตติดอันดับ โดยมีลักษณะคือ ที่หนวดของปลาจะหงิกงอและมีตุ่มขึ้น ซึ่งดูโดยรวมแล้วเหมือน "หนวดปลาหมึก" สาเหตุสำคัญของโรคนี้ก็คือ ตู้สกปรกมีคราบเปื้อนมาก ปลามี่มีนิสัยชอบเล่นหน้าตู้โดยใช้ปากถูกไถกับตู้เป็นประจำ ประกอบกับตู้สกปรก จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจนมีอาการดังกล่าวด้วย

โรคเกล็ดกร่อน

           โรคนี้มีสาเหตุมารจากในน้ำมีเชื้อโรค และเชื้อดังกล่าวจะค่อย ๆ ไปกัดกินเกล็ด ทำให้เกล็ดปลาดูเหมือนบิ่น แตกหัก หรือเสียรูปไป โรคนี้แม้ไม่ได้ทำอันตรายกับตัวปลาโดยตรง แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานเข้า เกล็ดก็จะถูกกัดกร่อนลงไปเรื่อย ๆ

โรคเชื้อรา

           เป็นโรคยอดฮิตอีกโรคหนึ่ง ถือว่าเป็นกันบ่อย และจะแสดงออกโดยมี "รอยด่าง" หรือ "เปื่อย" ตามจุดต่าง ๆ เชื้อราแม้อาจไม่รุนแรงทำให้ปลาถึงตาย แต่ก็ส้างความรำคาญให้ปลาไม่น้อย ถ้าเป็นหนักเข้า อาจมีโรคแทรกซ้อนเข้ามาติดเชื้อแล้วลุกลามเข้าไปใหญ่ จนท้ายสุดก็อาจถึงตายได้

โรคตาขุ่น

           โรคตาขุ่นมาจาก 2 สาเหตุสำคัญคือ ติดเชื้อจากกรณีตาบาดเจ็บ (อาจจากรอยขีดข่วนหรือถูไถกับอุปกรณ์บางอย่างภายในตู้) และน้ำสกปรกเกินไป มีคราบของเสียภายในตู้เป็นจำนวนมาก ปริมาณออกซิเจนในตู้มีน้อยเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุเช่นกัน โรคตาขุ่นจะมีลักษณะแก้วตาเป็นสีขาวขุ่น ๆ ไม่เห็นลูกตาดำ

โรคริดสีดวง

           ลักษณะของโรคนี้ก็คือจะมี "ติ่งสีชมพูอมแดง" ยื่นออกมาจากช่องทวาร ทำให้การขับถ่ายของปลาเป็นไปอย่างลำบาก สาเหตุของริดสีดวงเกิดจากระบบขับถ่ายของตัวปลาไม่ดี และเมื่อกินอาหารชิ้นใหญ่หรือประเภทย่อยยากไปมาก ๆ ก็ทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา ผลจึงเกิดเป็นติ่งริดสีดวง

โรคจุดขาว

           โรคนี้เป็นโรคที่คนเลี้ยงปลาสวยงามคุ้นเคยกันดี สำหรับสาเหตุของโรคนี้ในปลาอะโรวาน่านั้น มักมาจากเพื่อนร่วมตู้หรือปลาเหยื่อ อาการของโรคจุดขาวจะมีลักษณะเป็นจุดขาว ๆ ขึ้นตามเกล็ดและครีบส่นต่าง ๆ ถ้าหากปลาของเราเริ่มที่จะมีอาการนี้ ให้แยกปลาอื่นที่น่าสงสัยออกไป แล้วทำการรักษาทั้งอะโรวาน่า และปลาเหยื่อเพื่อนร่วมตู้

           ทั้ง 10 โรคที่ยกมา ล้วนเป็นโรครที่นิยมเกิดกับปลาอะโรวาน่า ซึ่งหากพิจารณาถึงปัจจัยของการเกิดโรคทุกโรคนั้น ผู้เลี้ยงดูจะเป็นปัจจัยแห่งการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ขึ้นกับปลากมาที่สุด โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยง ขาดการดูแลเอาใจใส่ ส่วนสาเหตุจากตัวปลามีน้อยมาก ดังนั้น หากผู้เลี้ยงให้ความสำคัญในการเลี้ยงดู โอกาสที่ปลาอะโรวาน่าตัวโปรดจะเกิดโรคภัยมาบั่นทอนให้ชีวิตสั้นลงนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ยาก



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก majesticarowana.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สารพัดโรคภัยเบียดเบียน ปลามังกร อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2552 เวลา 16:26:20 23,491 อ่าน
TOP