ปลากัด ปลอดเชื้อ






ปลากัดปลอดเชื้อ (เดลินิวส์)
โดย ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

          หลายคนยังไม่ทราบว่า "ปลากัด" ของไทยมีมูลค่าในการส่งออกอยู่ในลำดับที่ 1 ใน 3 ของปลาสวยงามส่งออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2550 แต่ปัญหาหนึ่งของการผลิตปลากัดเพื่อการส่งออก คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะโรควัณโรคในปลา ซึ่งพบว่ามีการแพร่ระบาดในปลาสวยงาม เช่น  ปลากัด ปลาเทวดาและปลาออสก้า เป็นต้น
   
          ต้นเหตุของโรคเกิดจากเชื้อมัยโคแบคทีเรียม ซึ่งเชื้อนี้สามารถพบในไรแดง ลูกน้ำ ไส้เดือนฝอย ฯลฯ  จากการปนเปื้อนของเชื้อโรคดังกล่าวในกลุ่มอาหารมีชีวิตที่ได้มาในข้างต้น ทำให้ปลากัดที่เลี้ยงด้วยอาหารดังกล่าวมีโอกาสติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคนี้แพร่ไปได้ง่าย จากการสุ่มตรวจตัวอย่างปลาสวยงามดังกล่าว พบว่าประมาณ 90% ของตัวอย่างปลาพบเชื้อมัยโคแบคทีเรียม โดยที่ปลาไม่แสดงอาการป่วย เมื่อปลากัดเป็นโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษา ดังนั้นการศึกษาการผลิตปลากัดปลอดเชื้อจึงเป็นแนวทาง หนึ่งในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อนี้                     

          คุณเต็มดวง  สมศิริ และคณะ จากสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดระยอง จึงได้เริ่มโครงการทดลองผลิตปลากัดปลอดเชื้อโดยการเลี้ยงจากการควบคุมการผลิตไรแดง จากหัวน้ำเขียวคลอเรลล่าที่ปลอดเชื้อ มีการควบคุมสุขอนามัยฟาร์มโดยการฆ่าเชื้อในน้ำและอุปกรณ์ในระบบการเพาะเลี้ยงด้วยคลอรีน รวมทั้งคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ปลากัดที่ผ่านการทดสอบว่าไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อมัยโคแบคทีเรียม จากการทดลองพบว่าเมื่อนำปลากัดมาเพาะพันธุ์ทั้งหมด 3 รุ่น พบว่าลูกปลากัดจำนวน 29 ครอกจาก 30 ครอก ไม่มีเชื้อดังกล่าว ทำให้สรุปได้ในเบื้องต้นว่าพ่อ-แม่พันธุ์ปลากัดที่ปลอดเชื้อสามารถผลิตลูกปลากัดปลอดเชื้อได้ผลเป็นที่น่าพอใจ


   
          เป็นที่สังเกตว่าอาหารธรรมชาติมีชีวิตสำหรับปลาในเขตร้อนพบว่าไรแดงเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดของลูกปลา มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 70% และการเพาะเลี้ยงไรแดงในประเทศไทยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดนิยมใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ เช่น หมูและไก่ ทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปะปนมากับมูลสัตว์ เมื่อนำไรแดงจากการเลี้ยงด้วยอาหารดังกล่าวมีโอกาสที่มีเชื้อโรคติดมาซึ่งรวมถึงเชื้อมัยโคแบคทีเรียด้วย การเพาะเลี้ยงไรแดงที่ใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเจริญของน้ำเขียวเพื่อเป็นอาหารของไรแดง  พบว่ามีสุขอนามัยดีกว่า แต่มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าและผลผลิตไรแดงต่อพื้นที่ยังต่ำกว่าการเลี้ยงด้วยมูลสัตว์
   
          ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถผลิตลูกปลากัดปลอดเชื้อได้ เนื่องจากศักยภาพของฟาร์มยังไม่มีความพร้อม รวมทั้งตัวเกษตรกรเองยังไม่มีความเข้มงวดในการปฏิบัติงานตามระบบ อย่างไรก็ตามทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดระยอง มีวัตถุประสงค์ในการผลิตลูกปลากัดปลอดเชื้อเพื่อผลิตพันธุ์ปลากัดได้คุณภาพ,ลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียม และส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลากัดที่ได้คุณภาพเพื่อการส่งออก





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลากัด ปลอดเชื้อ อัปเดตล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2552 เวลา 14:26:44 1,398 อ่าน
TOP
x close