สังเกตอาการปลาป่วย และสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก





สังเกตอาการปลาป่วย และสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก (เทคโนโลยีชาวบ้าน)

          คนเลี้ยงปลาร้อยทั้งร้อยต้องเคยเจอกับอาการป่วยไข้ของปลาที่ตนเลี้ยง โดยเฉพาะมือใหม่ที่เริ่มจากศูนย์ คือไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องการเลี้ยงปลามาก่อนเลย ปลาก็เป็นเช่นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นคือ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ละสายพันธุ์แต่ละชนิดก็จะมีช่วงเวลาดังกล่าวสั้นยาวต่างกันไปตามธรรมชาติกำหนดมา เช่น ปลาเล็กก็มักเกิดง่ายตายเร็ว วงจรชีวิตสั้นมาก ในขณะที่ปลาใหญ่นั้นอายุยืนยาวกว่า การเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะทำให้มันมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวใกล้เคียงกับสภาพเป็นจริง

          การเลี้ยงปลาที่ดีต้องควบคู่ไปกับการสังเกตสุขภาพปลาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถือได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำทุกวันทีเดียว นักเลี้ยงมือเก๋าบางท่านอาจเถียงว่าเขาไม่เคยต้องมานั่งทำอะไรทำนองนี้ ก็เห็นพวกปลาอยู่ได้อย่างสำเริงสำราญ ไม่เห็นมันจะมีปัญหาอะไรสักที ครับ นี่ไม่ใช่เรื่องขี้คุย แต่ต้องขอบอกว่ามันเป็นเรื่องของการกระทำจนเกิดเป็นความเคยชินจนดูเหมือนไม่ได้ทำมากกว่า นักเลี้ยงที่มีประสบการณ์มีสายตาค่อนข้างแหลมคม การมองผ่านตู้ปลาเพียงแว่บเดียวก็เพียงพอที่จะตรวจสอบสภาพโดยรวมภายในตู้เลี้ยงได้อย่างชนิดที่นักเลี้ยงมือใหม่ต้องเพ่งกันเป็นวันๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ สิบเท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เซียนบางคนก็อาจต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าด้วยว่าปลาสุดที่รักต้องมาตายจากไปเพราะความประมาทของตัวเองก็ออกบ่อย

          และเราจะพาไปรู้จักวิธีสังเกตอาการปลาป่วยและวิธีปฐมพยาบาลสักหน่อยกันดีกว่า เพราะถึงยังไงต้องได้ใช้แน่นอนสำหรับทุกๆ ท่านที่มีใจรักทางการเลี้ยงปลาสวยงาม ก่อนอื่นผมขอแยกลักษณะปลาแข็งแรงกับปลาที่ดูเหมือนจะมีอาการป่วยให้ท่านเห็นชัดๆ กันเสียก่อน ดังนี้

ลักษณะของปลาแข็งแรง

          1. ลักษณะลำตัวแข็งแรง มีกล้ามเนื้อขึ้นเต็ม ท้องไม่แฟบบาง ครีบทุกครีบกางตั้ง ใบครีบใสไม่ขุ่นหรือฉีกแหว่ง ขาด ลุ่ย

          2. ตาใส กลม ไม่ขุ่น กระจกตาไม่โปนออกนอกเบ้า

          3. หากเป็นปลามีเกล็ด เกล็ดต้องมีความเงางาม ซ้อนกันเรียบสนิทเรียงกันเป็นแถวสวยงาม หากเป็นปลาไม่มีเกล็ดหรือปลาหนัง ผิวหนังต้องแน่น เรียบตึง

          4. สีสันลวดลายขึ้นสวยงามตามสมควร ไม่จำเป็นต้องสดเข้ม แต่ต้องไม่ซีดจางหรือเลอะเลือน

          5. การว่ายน้ำต้องมีทิศทาง มีความกระตือรือร้น มีประสาทสัมผัสว่องไว

          6. การหายใจต้องไม่หอบถี่จนเกินไป สังเกตจากอาการเปิด-ปิด ของฝาปิดเหงือกข้างแก้ม แผ่นเนื้อเยื่ออ่อนๆ จะกระพือเปิด-ปิด อย่างเป็นจังหวะจะโคน

ส่วนลักษณะของปลาที่เริ่มมีอาการไม่ปกติ มักมีดังนี้

          1. หากเป็นทางด้านกายภาพอาจมีอาการผ่ายผอม ท้องยุบ สันหลังแฟบแบน ครีบลู่หรือกางสลับลู่ อาจฉีกแหว่งหรือกร่อน หรือมีลักษณะของการตกเลือด ท้องบวมโตบริเวณที่เป็นกระเพาะอาหารหรือถุงลม

          2. ตาขุ่น กระจกตาโปน เลนส์ตาที่ความจะดำมันกลายเป็นฝ้า

          3. เกล็ดขาดความเงางาม ด้าน มีจุดกระสีดำขึ้นกระจาย มีจุดขาวขึ้นกระจาย ผิวหนังถูกปกคลุมด้วยเมือกขาวขุ่น ดูคล้ายๆ ปลาส้มที่ใช้ทำอาหาร มีจุดหรือจ้ำสีแดงอันเกิดจากพยาธิภายนอก

          4. สีสันลวดลายซีดหายเลอะเลือน จากแต่เดิมที่เคยขึ้นชัดสดคม

          5. การว่ายน้ำเป็นไปในแบบไร้ทิศทาง หรือพยายามว่ายไปหลบซุกตามมุมตู้หรือนอนนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ประสาทสัมผัสขาดความว่องไว หรือเกิดอาการตื่นตัวรุนแรงผิดปกติ ปลาที่มีพยาธิภายนอกจะว่ายกระสับกระส่าย คอยเอาตัวไถลตามพื้นตู้หรือสันก้อนหิน ขอนไม้ อยู่ถี่ๆ เพื่อกำจัดพยาธิออกจากผิวหนัง ปลาที่มีปัญหาการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหารจะว่ายหัวทิ่มหรือหงายท้อง

          6. การหายใจผิดปกติ ฝาปิดเหงือกทำงานหนัก กระพือเร็ว บางทีจะมีการหยุดชะงักเป็นพักๆ เหมือนเกิดอาการช็อค

สิ่งที่ควรต้องทำ

          อาการผิดปกติดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ฟันธงได้เลยว่า ปลาเป็นโรคแน่ เพียงแต่จะเป็นโรคอะไร อย่างไร ก็คงต้องว่ากันต่อไปในภายหลัง ก่อนอื่นสิ่งที่ท่านต้องทำคือ นำปลาป่วยออกมาปฐมพยาบาลเสียก่อน จะต้องยึดหลักว่ายิ่งรู้เร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว ปลาก็จะมีเปอร์เซ็นต์การรอดสูง หากชะล่าใจปล่อยเวลาให้เนิ่นไปอีก บางทีแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงปลาก็อยู่รอให้เรารักษาไม่ไหวเสียแล้ว

          ขั้นแรกสุดเลยคือ เราต้องมีสถานที่ นั่นก็คือ ภาชนะสำหรับแยกปลาป่วยมารักษาโดยเฉพาะ ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กถึงขนาดกลางก็นิยมใช้ตู้กระจกที่มีความจุน้ำอย่างต่ำสักห้าสิบลิตร ถ้าเป็นปลาใหญ่ๆ ก็อาจใช้ตู้ขนาดร้อยห้าสิบลิตรขึ้นไปหรือไม่ก็บ่อปลา อาจเป็นบ่อพลาสติคหรือบ่อปูนก็ตามแต่สะดวก

          การวางตู้หรือบ่อพยาบาลควรวางในบริเวณที่มีแสงส่องสว่างเพียงพอ เพราะเราต้องคอยสังเกตอาการปลาอย่างใกล้ชิดด้วย ที่สำคัญบริเวณนั้นต้องไม่อยู่ในจุดที่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากนัก จะให้ดีก็หาฮีเตอร์มาใช้ควบคุมอุณหภูมิอีกสักตัวก็ไม่เลว

          ทำความสะอาดภาชนะก่อนเสียหนึ่งรอบด้วยน้ำเกลือเข้มข้น หรือหากใช้ด่างทับทิมก็ใช้เพียงเจือจาง และล้างออกหลายๆ ครั้ง

          เตรียมน้ำใส่ภาชนะ ต้องเป็นน้ำปราศจากคลอรีน มีอุณหภูมิเท่ากันกับตู้เลี้ยงที่กำลังจะแยกปลาป่วยออกมา

          จัดหาวัสดุหลบซ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเกิดอาการเครียด เช่น ขอนไม้ ต้นไม้ หรือก้อนหิน แต่อย่าวางให้รกจนเกินไปนัก การจัดวางควรจัดบริเวณกลางไปจนถึงหลังตู้ ไม่ควรปูกรวดหรือทรายที่พื้นตู้ เพราะจะเป็นที่สะสมฟักตัวของเชื้อโรคและพยาธิหลายชนิด

          ติดตั้งกรองขนาดเล็กเพื่อช่วยให้น้ำสะอาด ไหลเวียนดีและมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอ

          ขั้นต่อไปก็ค่อยๆ จับปลาป่วยออกมาจากตู้ การจับต้องไม่ใช้กระชอนไล่ควานอย่างบ้าคลั่ง เพราะจะทำให้ปลาช็อคตายเสียก่อน ควรค่อยๆ ทำอย่างละมุนละม่อม โดยใช้กระชอนสองอันที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวปลาหลายๆ เท่า ค่อยๆ ไล่ต้อนจนเข้ามุมแล้วจึงช้อนออกมาใส่ถุงพลาสติคหรือกะละมัง

          นำถุงพลาสติคหรือกะละมังไปลอยไว้ในน้ำของตู้พยาบาลเพื่อปรับอุณหภูมิให้เท่ากันดีเสียก่อน ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที จากนั้นค่อยเอากระชอนช้อนเฉพาะตัวปลาลงตู้พยาบาลอีกที อย่าเทน้ำที่ได้จากตู้เดิมลงไปด้วย

          ถึงตอนนี้ปลาก็พร้อมสำหรับการวินิจฉัยและรักษาให้หายขาดต่อไปแล้ว

          อ้อ! แล้วควรจะทำอย่างไรกับตู้เลี้ยงเดิมที่ยังมีปลาที่ไม่ป่วยอยู่?

          ง่ายที่สุดก็เปลี่ยนถ่ายน้ำ 20-25% และสังเกตอาการของปลาต่อไปอีกสักระยะ เพื่อหาดูว่าตัวไหนมีอาการผิดปกติเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หากมีก็จะได้เอามารักษาได้ทันท่วงทีครับ จำไว้ว่าเมื่อปลาป่วย อย่าเพิ่งใส่ยาจนกว่าจะวินิจฉัยอาการของโรคและเตรียมภาชนะสำหรับรักษาให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สังเกตอาการปลาป่วย และสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2552 เวลา 19:12:57 90,440 อ่าน
TOP
x close