สุนัขพันธุ์ คอลลี่ ตูบหน้าแหลม แสนฉลาด







สุนัขพันธุ์คอลลี่ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
เรื่องโดย แสงทอง พรมใบเงิน

          สุนัขพันธุ์ คอลลี่ เป็นน้องหมาที่แข็งแรง ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ความกว้างและลึกของอกที่พอสมควรจะแสดงให้เห็นถึงกำลัง ส่วนความลาดเอียงของไหล่และมุมที่พอดีของขาหลัง จะแสดงถึงความเร็วและความสง่างาม ส่วนใบหน้าจะแสดงออกถึงความฉลาด

ลักษณะโดยทั่วไป

          ขนและสี : โดยทั่วไปขนของคอลลี่จะฟูและหยาบ ยกเว้น บริเวณหัว และขา สุนัขพันธุ์ คอลลี่ มีขน 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะตรงและสากเวลาสัมผัส ขนที่อ่อนนุ่มหรือหยิกเป็นลอน ๆ ถือเป็นข้อด้อย ส่วยขนชั้นในจะอ่อนนุ่มคล้ายสำลี แน่น และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ขนโดยรวมดูหนา ฟู โดยเฉพาะแผงคอและระบายตรงก้นจะหนาและฟูเป็นพิเศษ ขนที่ใบหน้าจะเรียบเช่นเดียวกับขนที่หน้าขาทั้ง 4 ข้าง แต่ด้านหลังของขาหน้าจะมีขนเป็นระบาย ๆ ออกไป ขนหางยาวจะพองฟู ขนตรงสะโพกจะยาวและแน่น

          ทั้งนี้ สุนัขพันธุ์ คอลลี่ ที่ไม่มีขนชั้นในถือว่าผิดมาตรฐาน สีตามมาตรฐาน FCI จะมีอยู่ 3 สี ได้แก่ Sable and White, Tricolour และ Blue Merle โดยทั้ง 3 สี จะต้องมีมาร์กกิ้งสีขาวตามส่วนต่าง ๆ ต่อไปนี้ ได้แก่ ที่อก ที่คออาจจะขาวรอบคอหรือไม่รอบคอก็ได้ เท้าทั้ง 4 ข้าง และปลายหาง บางครั้งอาจจะมีสีขาวที่ดั้งจมูก หรือที่หัว 

          หัว : หัวจะต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับตัว หัวที่เทอะทะจะทำให้ดูไม่คล่องแคล่ว สดใส ด้านข้างของใบหน้าจากหูจะต้องคล่อยๆเรียวเล็กลงไปจนถึงจมูกโดยไม่มีแก้มป่องออกมา และ2 ข้างต้องสมมาตรกัน จมูกสีดำ หัวกะโหลกแบน และเส้นสันจมูกจะต้องเป็นเส้นตรงเมื่อมองจากด้านข้าง ไม่แอ่น ไม่งุ้ม ไม่โค้ง ความยาวของ 2 ส่วนนี้จะต้องเท่ากันโดยแบ่งออกจากกันโดย stop (จุด stop ที่ถูกต้องจะต้องอยู่ที่จุดกึ่งกลางของมุมตาด้านใน) stop ในคอลลี่จะบางมากๆ แต่ก็ยังมองเห็น ต่างกันกับ stop ในพันธุ์เช็ทแลนด์ที่เห็นชัดเสมือนขั้นบันได สันจมูกคอลลี่จะต้องยาวตรงแต่ไม่เห็นเป็นเหลี่ยม ความลึกของกะโหลกจะต้องพอดี ไม่มากจนเกินไป ฟันควรจะแข็งแรง และสบกันแบบกรรไกร คือด้านหน้าของฟันล่างจะสัมผัสกับด้านในของฟันบน ขนาดฟันพอเหมาะ ช่องว่างระหว่างฟันเล็กน้อยไม่ถือเป็นเรื่องจริงจังนัก คิ้วจะนูนออกมาพียงเล็กน้อย หัวกระโหลกแบน และท้ายทอยไม่สูงเกินไป ความกว้างของกระโหลกจะต้องน้อยกว่าความลึก

          ตา : ตาเป็นรูปแอลมอนต์ขนาดกลาง และควรจะอยู่ลึกลงไปในกระโหลก ไม่นูนออกมา ตาสีเข้ม ไม่ควรมีสีเหลือง

          หู : หูควรมีขนาดเล็กและไม่ชิดกันจนเกินไป หูจะต้องตั้งขึ้นและปลายตกลงมา 1/4 ของหู สำหรับตัวที่หูตั้งหรือว่าหูตูบถือเป็นข้อด้อย ปกติหูลู่ไปทางด้านหลังได้ แต่ว่าตื่นตัวหูจะต้องหันมาทางด้านหน้า

          คอ : คอแข็งแรง มีกล้ามเนื้อ ล่ำ มีแผงคอที่หนา คอยาวพอสมควร คอที่ยาวจะแสดงถึงความสง่างาม คอสั้นจะดูเทอะทะ

          ลำตัว : ลำตัวแข็งแรง แน่น เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ความยาวของลำตัวจะสัมพันธ์กับความสูง ซี่โครงโค้งเหมาะสม ไหล่ลาดเอียงพอเหมาะ อกลึกถึงศอก หลังแข็งแรงได้ระดับ รองรับโดยสะโพกและต้นขาที่แข็งแรง

          ขา : ขาหน้าเมื่อมองจากด้านหน้าจะต้องเป็นเส้นตรง ไม่คด หรือแอ่นเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ 2 ข้างห่างกันพอเหมาะ สำหรับขาที่แคบหรือกว้างเกินไปเป็นข้อด้อย ท่อนขาหน้ามีเนื้อมีหนังไม่แห้งลืบ ข้อเท้ายืดหยุ่นแต่แข็งแรง ท่อนขาหลังมีเนื้อน้อยกว่านิดนึง แต่แน่นไปด้วยกล้ามเนื้อ และเอ็น ขาหลังท่อนล่างและเข่าขาหลังโค้งทำมุมได้รูป เวลามองจากทางด้านหลัง ขาควรจะขนานกันห่างกันเท่ากับสะโพก ถ้าขาชิดเข้าแล้วบานออกตรงท่อนล่างเรียกว่า cow hock ถือว่าผิดมาตรฐาน สำหรับตัวที่เข่าตรงไม่มีมุมถือเป็นข้อด้อย เท้าควรเป็นรูปไข่ นิ้วโค้งได้รูปและนิ้วชิดติดกัน สำหรับเวลาที่สุนัขไมได้เคลื่อนไหว หรือยืนอยู่นิ่งๆเท้าจะต้องชี้ตรงไปทางด้านหน้าเสมอทั้ง 4 เท้า 

          การเคลื่อนไหว : การเดินหรือวิ่งต้องนุ่นมนวล สง่างาม ไม่ติดขัด ดูกลมกลืน เวลาวิ่งเหยาะๆขาหน้าจะต้องสาดไปข้างหน้า ศอกไม่กาง ไม่วิ่งไขว้ไปมา ขาหลังเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อมองด้านข้าง ย่างก้าวยาวพอประมาณหลังตรงได้ระดับ เมื่อมองด้านหน้าขาหน้าและขาหลังควรเป็นแนวเดียวกันกับลำตัว

          หาง : กระดูกหางควรยาวถึงข้อขาหลังหรือต่ำกว่า หางตรงถึงงอเล็กน้อย แต่ปลายต้องไม่ตวัดขึ้นมาคล้ายตะขอ เวลาปกติหางตก แต่ว่าเวลาวิ่งหางจะยกขึ้นแต่ไม่ควรสูงเกินระดับหลัง

          ขนาด : การวัดความสูงจะวัดที่หัวไหล่ ตัวผู้สูง 22- 24 นิ้ว ( 56- 61 ซม. ) ส่วนตัวเมียสูง 20- 22 นิ้ว (51- 56 ซม. ) น้ำหนักตัวผู้ 20.5- 29.5 กก. ตัวเมียหนัก 18- 25 กก.

การดูแล สุนัขพันธุ์ คอลลี่

         การแปรงขน

          การเลี้ยง สุนัขพันธุ์ คอลลี่ ควรมีแปรง 2 ชนิด คือ pin brush และ slicker แปรงให้ทั่วทั้งตัว ตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีปมเหลืออยู่ โดยเฉพาะตรงหลังหู รักแร้ และก้น ที่มักจะเป็นปมได้ง่ายกว่าส่วนอื่น ถ้าคุณอยากให้คอลลี่ของคุณดูดีแปรงขนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าคุณไม่มีเวลาควรแปรงอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อเอาปมต่างๆออก เพราะการมีปมตามตัวจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและความอับชื้น อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้ ในช่วงที่ผลัดขนจะต้องการแปรงขนที่บ่อยขึ้นเพื่อกำจัดขนที่ตายแล้วออก และลดปริมาณขนที่ร่วงตามที่ต่างๆ

          การอาบน้ำ

          ก่อนอาบน้ำควรแปรงขนเอาขนที่ตายแล้ว และปมต่างๆออกก่อน การอาบทั้งๆที่มีปมอยู่อาจก่อให้เกิดการพันกันมากขึ้น อาบน้ำแค่เดือนละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ หรืออาบในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น คอลลี่เป็นสุนัขที่แทบจะไม่มีกลิ่นตัว ถ้าสุนัขของท่านมีกลิ่นอาจจะเพราะขนเปื้อนจากการขับถ่าย ซึ่งมักเกิดกรณีนี้มักเป็นตัวผู้มากกว่าตัวเมีย ท่านอาจจะล้างเพียงบริเวณที่เปื้อนโดยไม่ต้องอาบน้ำทั้งตัว การอาบน้ำบ่อยเกินไป อาจทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้

          หลังจากอาบเสร็จเช็ดตัวให้แห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ แปรงขนด้วย pin brush เสร็จแล้วเป่าให้แห้ง แต่ถ้าท่านใดไม่มีเวลาไม่มีเวลา อาจจะส่งคอลลี่ของท่านไปร้าน Grooming สักเดือนละครั้ง หรือเดือนครึ่งครั้งในกรณีที่สุนัขไม่ได้สกปรก แต่ข้อดีของการอาบน้ำให้สุนัขด้วยตนเองคือ เป็นการสานสัมพันธ์ความรัก ความเอาใจใส่ และนอกจากนี้ท่านยังสามารถตรวจดูสุขภาพผิวหนังและขนของสุนัขได้ด้วย

โรคที่มักเกิดกับ สุนัขพนธุ์ คอลลี่

          โรคผิวหนังไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าท่านเอาใจใส่ดูแลสุนัขของท่าน ยกเว้นสำหรับสุนัขบางตัวที่เป็นภูมิแพ้ หรือมีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้นควรซื้อสุนัขจากแหล่งที่ตรวจสอบที่มาที่ไปได้ และอย่างน้อยพ่อแม่ไม่ควรจะมีประวัติที่เป็น เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน 

          ถ้าสุนัขของท่านมีกลิ่นตัวทั้ง ๆ ที่อาบน้ำแล้วนั่นอาจเป็นเพราะสุนัขของท่านเป็นโรคผิวหนัง ถ้าสุนัขมีความผิดปกติของผิวหนัง หรือท่านสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคผิวหนัง ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาทาเอง การรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยท่านประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาสุนัขมากกว่าที่จะรักษาตอนที่เป็นโรคมาก ๆ แล้ว





ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุนัขพันธุ์ คอลลี่ ตูบหน้าแหลม แสนฉลาด อัปเดตล่าสุด 9 เมษายน 2553 เวลา 16:34:57 1,795 อ่าน
TOP
x close