คามิเลี่ยน กิ้งก่า เปลี่ยนสีได้ ดาวเด่นจาก มาดากัสการ์


คามิเลี่ยน
คามิเลี่ยน

คามิเลี่ยน
คามิเลี่ยน

คาเมเลี่ยน
คามิเลี่ยน



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หากเอ่ยถึง กิ้งก่า หลายคนคงส่ายหน้า เพราะไม่พิศมัยกับรูปร่างหน้าตาของมันสักเท่าไหร่ แต่คุณอาจเปลี่ยนใจ หากได้ยลโฉมเจ้า กิ้งก่า คามิเลี่ยน เหตุเพราะศิลปะแห่งสีสันบนเรือนร่างของมันสวยสะดุดตา อีกทั้ง กิ้งก่า คาเมเลี่ยน ยังสามารถเปลี่ยนสีตัวเองตามแสงและสภาพแวดล้อมได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งใครที่นิยมชมชอบ สัตว์เลี้ยง สัตว์แปลก วันนี้เรานำข้อมูล กิ้งก่า คามิเลี่ยน มาฝากกันค่ะ

          กิ้งก่า คามิเลี่ยน (Chameieon) เป็นกิ้งก่าสายพันธุ์หนึ่งที่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ในตระกูลสัตว์ดึกดำบรรพ์ มีขนาดเล็ก ตั้งแต่ 8-12 นิ้ว มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในดินแดนมาดากัสการ์ ซึ่งถือเป็นแหล่งอาศัยใหญ่ของ กิ้งก่า คามิเลี่ยน 

          โดยปกติแล้ว กิ้งก่า คามิเลี่ยน จะอาศัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ ที่มีสภาพป่าโปร่งที่สมบูรณ์ และมักจะอาศัยอยู่บนต้นไม้ เกาะตามกิ่งไม้ ยอดไม้นิ่ง ๆ ด้วยเท้าที่สามารถเกาะกิ่งก้านของต้นไม้ได้อย่างดี น้อยครั้งที่จะพบเห็น กิ้งก่า คามิเลี่ยน อาศัยตามพื้นดิน นอกเสียจากจะลงมาวางไข่เพื่อขยายพันธุ์ โดยจะใช้เท้าขุดดินลงไปให้ลึกพอสมควร แล้วจึงวางไข่ลงไปในนั้น จนสุดท้ายก็กลบปากรูเอาไว้ และกลับขึ้นมาอาศัยอยู่บนต้นไม้ตามเดิม

          นอกจากคุณสมบัติเด่นในเรื่องของสีสันอันฉูดฉาดของ กิ้งก่า คามิเลี่ยน ที่มีมีหลากหลายสี เช่น แดง ฟ้า เขียว เหลือง ส้ม น้ำตาล หรือดำ ฯลฯ แล้ว กิ้งก่า คามิเลี่ยน ยังมีจุดเด่นที่ดวงตากลมโตของมันนูนเป็นวงกลมโต มีเปลือกตาขนาดใหญ่ หนาเป็นชั้น ปิดลูกตา กลอกกลิ้งเหลือบมองไปมาได้รอบทิศทาง    

          ว่ากันว่า ยามที่เจ้า กิ้งก่า คามิเลี่ยน ขยับตัวต้องจับตาดูไว้ให้ดี ๆ เพราะฝีมือในการพรางตัวของมันช่างเยี่ยมยอดนัก ทว่ามันก็เป็น จอมเชื่องช้าตัวยง เพราะยามที่ คาเมเลี่ยน ออกเดินจะเชื่องช้ามากถึงมากที่สุด เพราะยามที่ คาเมเลี่ยน ย่างสามขุมออกเดิน มันจะยกขาก้าวไปค้างอยู่ในอากาศก่อนหนึ่งจังหวะ จากนั้นจึงค่อยกรอกตากลม ๆ ไปมารอบทิศทาง ประหนึ่งว่ากำลังระวังภัยเต็มที่ ก่อนที่จะก้าวสัมผัสกับเป้าหมายในในจังหวะต่อไป

ลักษณะทั่วไปของ กิ้งก่า คามิเลี่ยน

           ผิวหนัง : สามารถเปลี่ยนสีผิวตามอารมณ์นั้น ๆ ได้ ก็เนื่องมาจากลักษณะพิเศษของชั้นผิวหนัง และเม็ดสี ผิวหนังชั้นนอกเหล่านี้ตอบสนองต่อแสงและความร้อน ส่วนผิวหนังชั้นในจะตอบสนองต่อสารเคมี เป็นสาเหตุทำให้เซลล์มีการหดและขยายตัว อย่างเช่นในภาวะปกติผิวหนังของ คามิเลี่ยน จะแสดงสีเขียว ในขณะที่โกรธจะแสดงสีเหลือง 

           ตา : ตาของ คามิเลี่ยน มีลักษณะเป็นวงกลมค่อนข้างใหญ่ นูนขึ้นมาและมีขนาดใหญ่ โดยมีเปลือกตาที่ใหญ่และหนาเป็นชั้น ๆ มาปิดลูกตาทำให้มองเห็นลูกตาขนาดเล็ก ซึ่งสามารถมองเห็นได้รอบทิศทางในรัศมีความกว้าง 360 องศา ทั้งสองข้างแบบไม่พร้อมกัน นอกจากนี้ตาของ คาเมเลี่ยน ยังสามารถบอกสุขภาพของมันได้อีกด้วย ซึ่งกิ้งก่าที่ใกล้ตาย หรือขาดน้ำ ตาจะลึกลงไปมาก หากเราพบเห็นตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถเสริมน้ำและวิตามินได้ 

           หาง : หางของกิ้งก่า คามิเลี่ยน มีประโยชน์เพื่อการเกาะกิ่งไม้เอาไว้ โดยการม้วนหาง แต่บางครั้งก็มักเห็นม้วนหางเอาไว้เฉยโดยไม่เกาะกับอะไรเลย เมื่อเราจับหางยืดออกมาพบว่าส่วนหางนี้มีขนาดยาวมาก ยาวมากกว่าขนาดลำตัวเสียอีก บางครั้งสามารถใช้หางยึดกิ่งไม้แทนขาได้ เช่นการม้วนหางยึดต้นไม้แล้วห้อยหัวลงมาเพื่อใช้ลิ้นตวัดแมลงเข้าปาก 

           เท้า : มีลักษณะเท้าที่เป็นเอกลักษ์ คือ มีนิ้วเท้าทั้งหมด 5 นิ้ว และมีเล็บทุกนิ้ว แต่ว่านิ้ว 5 นิ้วนั้นจะแยกออกเป็น 2 ง่าม แบ่งเป็น 2 นิ้วและ 3 นิ้วติดกัน เวลาเดินจะใช้ง่ามหนีบกิ่งไม้ ด้วยนิ้วเท้าลักษณะนี้ทำให้สามารถทรงตัวได้ดีบนต้นไม้ 

           ลิ้น : ลิ้นของ คามิเลี่ยน มีความยาวมาก ยาวพอ ๆ กับความยาวลำตัว ไว้สำหรับจับแมลงต่าง ๆ เพื่อเป็นอาหาร ที่บริเวณปลายลิ้นยังจะมีสารเหนียวไว้คอยจับแมลง มีลักษณะคล้ายท่อกลมที่ปลายลิ้น ไว้จับแมลงแล้วดึงเข้าปากและกลืนแมลงเข้าปากโดยเร็ว

อาหารและการเลี้ยงดู กิ้งก่า คามิเลี่ยน

คาเมเลี่ยน
คามิเลี่ยน



          แม้ว่า คาเมเลี่ยน จะเชื่องช้าในลีลาท่วงท่าการเคลื่อนไหว ทว่าในเรื่องการกินแล้ว คามิเลี่ยน จะใช้ลิ้นยาว ๆ ของมันตวัดอาหาร หรือเหยื่ออันโอชะแบบรวดเร็วจนคุณกระพริบตาแทบไม่ทัน  โดยอาหารที่ใช้เลี้ยง คามิเลี่ยน  เป็นพวกแมลงตัวเล็ก ๆ เช่น จิ้งหรีดตัวเล็ก ๆ หนอน แมงเม่า ปลวก ฯลฯ โดยให้แมลงหรือตัวหนอน 2 ครั้งต่อวัน และคลุกกับวิตามินรวม 2 ครั้งต่อสัปดาห์

          นอกจากนี้ สถานที่เลี้ยง กิ้งก่า คามิเลี่ยน  ก็มีความสำคัญ ตามธรรมชาติมันจะอาศัยตามต้นไม้กิ่งไม้ เราจึงควรจัดสถานที่เลี้ยงให้เข้ากับระบบนิเวศน์ของมัน โดยหาต้นไม้ที่ค่อนข้างมีกิ่งพอควรแต่ไม่ต้องมีใบมากนัก 

          สำหรับกรงเลี้ยง คามิเลี่ยน ที่ดีควรมีขนาดอย่างน้อย 24 นิ้ว หรือ 48 นิ้ว โดยกรงควรจะมีทั้งความสูงและความกว้าง ทั้งนี้ ตู้ที่ใช้เลี้ยง คามิเลี่ยน ก็ทำจากวัสดุหลายประเภท ทั้งมุ้งลวดหรือกระจก การเลี้ยงในตู้กระจกมักจะใช้เลี้ยง คามิเลี่ยน ก่อนวัยเจริญพันธุ์ แต่ไม่สามารถระบายอากาศได้ดี ทำให้มีโอกาสเกิดความเครียดจนทำให้ กิ้งก่า คามิเลี่ยน ป่วยติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ ดังนั้น ตู้กระจกจึงไม่เหมาะกับการเลี้ยงในระยะยาว เนื่องจากจะเป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อโรคและแบคทีเรีย ส่วนกรงมุ้งลวดนั้นนิยมใช้กันมาก เนื่องจากระบายอากาศได้ดี เคลื่อนย้ายได้ง่าย แต่ไม่สามารถกันฝนได้ ในกรณีที่เลี้ยงนอกบ้าน

          ส่วนอีกหนึ่งสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ แสง กิ้งก่า คามิเลี่ยน ต้องการแสงยูวี ในการดำรงชีวิต ดังนั้น ในกรงที่เลี้ยงด้านบนควรมีติดหลอดไฟไว้ด้วย เพราะ คามิเลี่ยน มักขึ้นมาอาบแดดในช่วงกลางวัน โดยอุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 30 - 35 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้เลี้ยง คามิเลี่ยน  ส่วนใหญ่นิยมใช้หลอดไฟ 60 วัตต์






ขอขอบคุณข้อมูลจาก
deqp.go.th, scitour.most.go.th, siamreptile.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คามิเลี่ยน กิ้งก่า เปลี่ยนสีได้ ดาวเด่นจาก มาดากัสการ์ อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2552 เวลา 15:09:15 27,227 อ่าน
TOP
x close