เทคนิคพาหมาซ่าท้า (เสียง) ฟ้าฝน





Thunderstrom Vs Dog Tips เทคนิคพาหมาซ่าท้า (เสียง) ฟ้าฝน (Dog Magazine)

เรื่อง : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ

           ฝนตก ฟ้าร้อง และลมก็ค่อย ๆ พัดแรงขึ้น สุนัขที่บ้านเริ่มออกอาการหายใจแรง เดินวนไปมา ตัวสั่น และพยายามจะหาที่ซ่อนตัวน้ำลายเริ่มไหล ส่งเสียงเห่าหรือคราง บางตัวอาจตะกุยทำลายข้าวของในบ้านเนื่องจากควบคุมอาการกลัวไม่อยู่ นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ บ้าน และเป็นปัญหาพฤติกรรมที่มีเจ้าของมาปรึกษามากที่สุด เคยเจออาการรุนแรงสุดที่เจ้าของเล่าให้ฟัง คือ สุนัขตกใจสุดขีดวิ่งพล่านและหนีออกจากบ้านขณะที่ฝนตก จนเจ้าของต้องขับรถออกไปตาม หากสุนัขที่บ้านของคุณมีอาการข้างต้น เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยลดอาการกลัวเสียงฟ้าร้องของสุนัขที่บ้านคุณได้ครับ


เทคนิคที่ 1 : สร้างห้องหลบภัย

           เหมาะกับสุนัขที่มีอาการไม่มาก กลัวแค่เสียงฟ้าร้อง ไม่ได้กลัวเสียงฝนตก หรือลมพัดแรง ๆ ทุกครั้งที่ฝนเริ่มตกให้เจ้าของพาสุนัขเข้าไปในห้องที่อยู่ด้านในของบ้านทันที ปิดหน้าต่างให้สนิท เพื่อให้เสียงฟ้าร้องเล็ดลอดเข้ามาน้อยที่สุด เปิดเสียงเพลงหรือโทรทัศน์เพื่อช่วยกลบเสียงฟ้าร้อง เจ้าของควรมาอยู่กับสุนัขในห้องดังกล่าวด้วย เพื่อให้สุนัขรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ หากเจ้าของไม่สามารถอยู่กับสุนัขได้จริง ๆ อาจเอาเสื้อผ้าที่มีกลิ่นทิ้งไว้ใกล้ ๆ ตัวสุนัขแทน สำหรับสุนัขที่เคยฝึกให้รู้สึกดีกับการอยู่ในที่นอน โดยการเอาขนมหรือของเล่นไปวางในช่วงที่สุนัขเข้าไปนอน อาจย้ายที่นอนสุนัขมาไว้ในห้องนี้ชั่วคราวด้วย เพื่อให้สุนัขมีมุมที่จะเข้าไปนั่งไปนอนเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ

เทคนิคที่ 2 : สงบคือสิ่งดีเสมอ

           การฝึกสุนัขให้เรียนรู้ที่จะสงบเป็นกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาความกลัวทุกรูปแบบในสุนัข Dogazine ฉบับ Home Alone เดือนมีนาคม ผมเคยสอนวิธีการฝึกให้สงบเพื่อช่วยลดความกลัวของสุนัขเมื่อต้องอยู่บ้านเพียงลำพังไปแล้ว ซึ่งเราสามารถปรับการฝึกมาใช้กับสุนัขที่กลัวเสียงฟ้าร้องได้

           วิธีการฝึกให้สงบง่าย ๆ อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การฝึกคำสั่งพื้นฐาน "คอย" โดยจะมีการเน้นในส่วนของอาการขณะคอยว่าสุนัขต้องอยู่ในท่าทางที่ดูสงบ และจะค่อย ๆ ปรับระยะเวลาการคอยให้นาน ขึ้นในการฝึกแต่ละครั้ง ก่อนอื่นไปทบทวนคำสั่ง "นั่ง" และ "หมอบ" กันก่อนครับ ที่ www.facebook.com/petmanner

           หากพร้อมแล้วให้เริ่มหาสถานที่ฝึก โดยในช่วงแรกต้องเป็นบริเวณที่สงบ ไม่มีคนหรือสุนัขเดินผ่านไปมารบกวนสมาธิ การฝึกแต่ละครั้งจะไม่เกิน 10 นาที เนื่องจากสุนัขเหมือนเด็ก ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการฝึกนาน ๆ ได้ สุนัขที่ไม่มีสมาธิอาจต้องแบ่งการฝึกเป็นรอบละ 5 นาที 2 ครั้ง ผู้ฝึกคนแรกควรเป็นคนที่สุนัขเชื่อฟังมากที่สุดในบ้าน และขนมที่ใช้ในการฝึกควรเป็นขนมที่สุนัขชอบมาก ๆ ซึ่งเราจะไม่ให้ในโอกาสอื่นนอกจากในการฝึกนี้เท่านั้น




การฝึกให้ "คอย" อย่างสงบ

           1. สั่งสุนัขให้ "นั่ง" หรือ "หมอบ" และให้รางวัลในทันทีที่ทำตาม

           2. โน้มตัวเข้าหาสุนัขเล็กน้อย ยื่นฝ่ามือไปทางด้านหน้าและสั่งว่า “คอย” ด้วยเสียงโทนต่ำและลากเสียง ขณะฝึกเจ้าของควรเคลื่อนไหวให้ช้า และหายใจให้ดูผ่อนคลายเพื่อสร้างบรรยากาศที่สงบ เมื่อสุนัขอยู่ในอาการคอยอย่างสงบทั้งใบหน้าและท่าทางให้เจ้าของให้รางวัลพร้อมคำชมในทันที แต่หากสุนัขดูไม่สงบให้พักการฝึก 30 วินาที ให้สุนัขเปลี่ยนอิริยาบถแล้วจึงเริ่มฝึกใหม่ ค่อย ๆ ฝึกซ้ำและขยายระยะเวลาในการคอยจาก 2 วินาที เป็น 5 วินาที

           3. ฝึกตามขั้นตอนที่ 2 แต่คราวนี้ขณะออกคำสั่ง "คอย" ให้เจ้าของก้าวถอยออกมาหนึ่งก้าว และก้าวกลับมาที่เดิมในทันทีให้รางวัลและคำชมหากสุนัขยังคอยอย่างสงบ

           4. เพิ่มระยะการถอยเป็นสองก้าวและคราวนี้ให้สุนัขคอยประมาณ 5 วินาที ให้รางวัลและคำชมในทันทีหากสุนัขยังคอยอย่างสงบเช่นเดิม

           5. การฝึกในครั้งต่อ ๆ ไป เจ้าของอาจลองเปลี่ยนทิศทางในการก้าว เช่น ก้าวไปทางด้านขวาแทน หรือเปลี่ยนท่าทาง อาทิ ขณะที่ก้าวถอยหลังออกมาอาจหมุนตัวหนึ่งรอบ ให้รางวัลและคำชมในทันทีหากสุนัขยังคอยอย่างสงบ การฝึกในขั้นตอนนี้จะช่วยสร้างเงื่อนไขให้สุนัขว่าการคอยอย่างสงบเป็นเรื่องที่ดี แม้เจ้าของจะไม่ได้อยู่ตรงหน้าหรือทำอะไรอยู่ก็ตาม

           6. หลังเสร็จการฝึกสอนควรพูดว่า "พัก" เพื่อเป็นสัญญาณให้สุนัขรู้ว่าสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

           7. การฝึกในวันถัด ๆ มาเจ้าของอาจออกคำสั่งให้สุนัข "คอย" ในขณะที่เจ้าของเดินวนรอบตัวสุนัข หรืออาจตบมือเบา ๆ เพื่อรบกวนสุนัขเล็กน้อยขณะคอย ให้รางวัลและคำชมถ้าสุนัขยังคอยอย่างสงบ

           8. ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการคอยจนถึง 15 วินาที และค่อยเพิ่มสิ่งรบกวนให้มากขึ้น เช่น เจ้าของอาจกระโดด วิ่งอยู่กับที่คุยกับคนอื่น เคาะโต๊ะหรือกำแพง หรือหันหลังให้สุนัข ฯลฯ หลังฝึกได้ครบ 1 สัปดาห์ ให้เปลี่ยนสถานที่ในการฝึกเป็นสนามหน้าบ้าน สุนัขที่เชื่อฟังคำสั่งได้ดีอาจเปลี่ยนให้สมาชิกคนอื่นในบ้านมาฝึกดู อย่าลืมนะครับเป้าหมายในการฝึกคือต้องการให้สุนัขเรียนรู้ว่าการสงบคือสิ่งที่ดีเสมอ ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ และกับใครก็ตาม

เทคนิคที่ 3 : เมื่อเสียงฟ้าร้อง คือ ความคุ้นเคย

           ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สาเหตุที่สุนัขกลัวขณะฝนตกฟ้าร้อง มีปัจจัยกระตุ้นประสาทสัมผัสของสุนัขอยู่หลายอย่าง เช่น เสียงฟ้าร้อง แสงขณะที่เกิดฟ้าแลบ กลิ่นฝน ประจุไฟฟ้าสถิตที่มีผลต่อขน หรือความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็มีผลต่อการเรียนรู้ที่จะเกิดความกลัวสุนัขบางตัวอาจแสดงอาการกระสับกระส่ายอย่างชัดเจนตั้งแต่ฟ้าเริ่มมืดครึ้มก่อนที่ฝนจะตก สิ่งที่สุนัขส่วนใหญ่กลัวเวลาที่เกิดฟ้าร้อง คือ เสียง การฝึกเพื่อปรับพฤติกรรมต่อไปนี้จึงเป็นการใช้เสียงเป็นหลักในการฝึกครับ

           1. ทดสอบดูก่อนครับว่าสุนัขกลัวเสียงฟ้าร้องที่เราจำลองขึ้นไหม โดยเปิดไฟล์เสียงหรือไฟล์วิดีโอที่อัดเสียงฟ้าร้องไว้ (เจ้าของสามารถ download ไฟล์เสียงได้ที่ www.facebook.com/petmanner) การเปิดในครั้งแรกให้เปิดเสียงให้ดังที่สุดก่อนเพื่อทดสอบว่าสุนัขแสดงอาการกลัวหรือไม่ ถ้าสุนัขแสดงอาการกลัว แสดงว่าเราสามารถใช้เสียงฟ้าร้องในการบำบัดพฤติกรรมได้ แต่ถ้าหากสุนัขดูเฉย ๆ อาจเป็นได้ว่าสุนัขไมได้กลัวเสียง อาการกลัวขณะเกิดฝนตกฟ้าร้องอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น แสงตอนฟ้าแลบ หรือเสียงอาจไม่มีความสมจริงมากพอ พูดง่าย ๆ คือหลอกสุนัขไม่สำเร็จ กรณีที่สุนัขกลัวแสงฟ้าแลบ การจำลองแสงฟ้าแลบทำได้ค่อนข้างยาก แต่หากสงสัยว่าสุนัขกลัวประจุไฟฟ้าสถิต เจ้าของอาจลองหาซื้อเสื้อกันประจุไฟฟ้ามาให้สุนัขใส่ดู (search คำว่า stromdefender หรือ thundershirt แล้วสั่งซื้อจากต่างประเทศดูนะครับ)

           2. การฝึกควรทำก่อนที่จะถึงหน้าฝน เพราะหลักในการฝึก คือ ปรับสุนัขให้เคยชินกับเสียงฟ้าร้อง ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 3 ถึง 6 สัปดาห์ ขึ้นกับสุนัขแต่ละตัว ดังนั้นหากในระหว่างช่วงที่ฝึกเจอเสียงฝนตกฟ้าร้องหนัก ๆ จะทำให้เงื่อนไขที่เราต้องการสร้างล้มเหลวได้ ทางที่ดีจึงควรฝึกช่วงก่อนเข้าหน้าฝนครับ

           3. ฝึกในลักษณะเดียวกับการฝึกคำสั่ง "คอย" แต่คราวนี้เราจะเปิดเสียงฝนตกฟ้าร้องไปด้วย ระหว่างที่เราสั่งให้สุนัข "คอย" ให้เราสังเกตอาการของสุนัข โดยเปิดระดับเสียงเบาที่สุด ซึ่งสุนัขไม่แสดงอาการกังวลหรือกระสับกระส่ายออกมาเมื่อได้ยิน (หูของสุนัขดีกว่าคนประมาณ 4 เท่า ให้เริ่มเปิดเบา ๆ ก่อนครับ) ถ้าสุนัขแสดงอาการกระสับกระส่ายออกมา เช่น เริ่มหอบหายใจแรง ตัวสั่น หางจุกก้น เลียปาก หรือหาว ให้ลดระดับเสียงลงจนกระทั่งสุนัขกลับมาดูสงบ อย่าลืมให้รางวัลและคำชมทุกครั้งที่สุนัขคอยโดยที่ไม่แสดงอาการกลัว

           4. การฝึกควรทำครั้งละ 3-5 นาที แต่บ่อย ๆ หลายครั้งต่อวัน เพิ่มระดับเสียงทีละน้อยในทุกวัน จนกระทั่งถึงเปิดระดับเต็มเสียงโดยที่สุนัขไม่มีปฏิกิริยาอะไร
เทคนิคที่ 4 : คิดบวกกับเสียงฟ้าร้อง

           มาจัดปาร์ตี้กันตอนฝนตกดีกว่าครับ ในเมื่อเราห้ามฝนไม่ให้ตก ห้ามฟ้าไม่ให้ร้องไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนมาสร้างความคิดด้านบวกให้กับสุนัขในช่วงที่เกิดฝนตกฟ้าร้องแทน เมื่อพายุฝนทำท่าจะมาให้เจ้าของพาสุนัขเข้าไปในห้องที่ปิดหน้าต่างเพื่อลดเสียงฟ้าร้องลงให้มากที่สุด เตรียมของเล่นชิ้นโปรดและอาหารชิ้นพิเศษไว้ให้สุนัข ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก ตับ เอาเป็นของที่สุนัขชอบมาก ๆ และปกติไม่ได้กินนะครับ ทำกิจกรรม เล่นกับสุนัข และให้สุนัขทานอาหาร โดยเจ้าของพยายามทำตัวให้ดูเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หากสุนัขยอมกิน ยอมเล่น แสดงว่าเราได้สร้างความคิดด้านบวกของการเกิดเสียงฟ้าร้องกับการได้กินอาหารมื้อพิเศษสำเร็จ แต่หากไม่ได้ผลและสุนัขดูตื่นกลัว เราอาจปรับมาใช้การจำลองเสียงฟ้าร้องแทน โดยฝึกในช่วงเวลาปกติที่ฝนไม่ตก เปิดเสียงฟ้าร้องในระดับเบา ๆ ที่สุนัขไม่มีอาการตื่นกลัวและยอมกินอาหารเป็นปกติ ค่อย ๆ เพิ่มระดับเสียงให้มากขึ้นทีละน้อยในวันถัด ๆ ไป





เทคนิคที่ 5 : พบคุณหมอ

           การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุนัขที่กลัวเสียงฟ้าร้อง เป็นสิ่งที่เจ้าของสามารถทำได้เองต่อเมื่อสุนัขมีอาการกลัวไม่รุนแรง และจำเป็นต้องมีการปรับและการออกแบบการบำบัดให้เหมาะสมกับพฤติกรรมสุนัขแต่ละตัว ในรายที่มีอาการกลัวค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกับการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแนะนำให้ปรึกษากับสัตวแพทย์ใกล้บ้านดู สุนัขบางตัวอาจเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับฝนตกฟ้าร้อง หรืออาจเป็นสุนัขที่มีนิสัยตื่นกลัวง่ายเป็นพื้นฐาน การให้ยาเพื่อช่วยลดความเครียดร่วมกับการฝึกในช่วงแรกจึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่สำคัญคือ เจ้าของต้องเข้าใจว่าความกลัวเป็นเรื่องธรรมชาติ สุนัขบางตัวอาจไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เวลาที่ตื่นกลัว เจ้าของต้องหลีกเลี่ยงการจับหรือบังคับสุนัขในช่วงดังกล่าว เพราะสุนัขอาจเผลอทำร้ายเจ้าของได้โดยไม่ตั้งใจ และสุดท้ายห้ามลงโทษสุนัขที่ตื่นกลัวในขณะที่ได้ยินเสียงฝนตกฟ้าร้องอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในขณะฝึกหรือในขณะที่เกิดเหตุการณ์จริง เนื่องจากมีแต่จะสร้างความรู้สึกที่เป็นลบให้กับสุนัขมากยิ่งขึ้น

           หวังว่าเทคนิคที่ให้มา 5 ข้อ จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของสุนัขที่มีปัญหากลัวเสียงฟ้าร้อง หน้าฝนคราวนี้คงไม่มีสุนัขบ้านไหนกลัวเสียงฝนตกฟ้าร้องแล้วนะครับ หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมติดต่อได้ทาง facebook ครับ







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคพาหมาซ่าท้า (เสียง) ฟ้าฝน อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2555 เวลา 13:44:48 2,608 อ่าน
TOP
x close