แมวในบ้านกัดกัน ทำไงดี ? ชวนทาสมาดูสาเหตุและวิธีสงบศึก เมื่อเหล่าเหมียวกำลังจะตะลุมบอนกัน พร้อมวิธีป้องกันแมวทะเลาะกันระยะยาว
เชื่อว่าใครที่เลี้ยงแมวอยู่ โดยเฉพาะบ้านที่เลี้ยงไว้หลาย ๆ ตัว น่าจะเคยเจอปัญหาแมวชอบทะเลาะกันมาบ้าง ไม่ว่าจะทะเลาะกับแมวจรจัดนอกบ้าน หรือทะเลาะกันเองในบ้าน จับแยกแล้ว แต่เวลาเจอหน้ากันก็ยังทะเลาะอีกอยู่เรื่อย เรียกได้ว่าทำให้ทาสถึงกับปวดหัวเลยทีเดียว แต่ไม่ต้องห่วงเพราะทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ โดยในวันนี้เราได้นำสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาแมวทะเลาะกันมาฝากแล้ว
สาเหตุที่ทำให้แมวทะเลาะกัน
1. หวงอาณาเขต
ปกติแล้วแมวเป็นสัตว์ที่หวงอาณาเขตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแมวที่อาศัยอยู่นอกบ้านหรือในบ้าน พวกมันจะสร้างอาณาเขตของตัวเองด้วยกลิ่น และจะไม่พอใจเมื่อมีแมวตัวอื่นเข้ามาในอาณาเขต ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทะเลาะกัน โดยเฉพาะในบ้านที่เลี้ยงแมวอยู่ด้วยกันหลายตัว
2. สัญชาตญาณ
ส่วนใหญ่แล้วแมวเพศผู้จะมีนิสัยและสัญชาตญาณที่ดุร้าย ซึ่งพวกมันอาจแสดงความดุร้ายออกมาด้วยการทะเลาะกับแมวตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะในเวลาที่พวกมันต้องการแย่งชิงแมวเพศเมีย แต่พวกมันมักจะเริ่มจากการขู่ก่อนที่จะเริ่มทะเลาะกัน
3. การเล่นที่รุนแรงเกินไป
เนื่องจากแมวชอบเล่นกันแรง ๆ จึงทำให้บางครั้งเราเห็นแล้วเข้าใจผิดคิดว่าแมวทะเลาะกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่ทะเลาะกันจริง ๆ ถ้าหากพวกมันเล่นแรงเกินไปจนเกิดบาดเจ็บและไม่พอใจกัน
4. มีแมวตัวใหม่เข้ามา
ถึงแม้ว่าแมวจะสามารถทะเลาะได้กับทั้งแมวแปลกหน้าและแมวที่คุ้นเคยกันดี แต่โดยส่วนมากแล้วพวกมันมักจะทะเลาะกับแมวที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าหากมีแมวตัวใหม่ที่เพิ่งรับมาเลี้ยง หรือแมวเพื่อนบ้าน ก็อาจเกิดการทะเลาะกับแมวตัวเก่าที่อยู่มาก่อนแล้วได้
แมวกำลังจะทะเลาะกัน สังเกตยังไง
เมื่อพวกแมวกำลังจะทะเลาะกัน เราจะสามารถสังเกตเห็นได้จากท่าทางของพวกมันที่กำลังโกรธ ดังนี้
- หูชี้ไปทางด้านหลัง ด้านข้าง หรือแบนราบ (เหมือนปีกเครื่องบิน)
- รูม่านตาขยายใหญ่ขึ้น
- หางชี้ลงหรือมุดอยู่ใต้หว่างขา
- หลังโก่งงอและขนขี้ฟู
แมวทะเลาะกัน ทำอย่างไรดี ?
แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องทำเมื่อแมวทะเลาะกันก็คือ
การห้ามพวกมันให้หยุดกัดกัน แต่จะเข้าไปจับแยกเลยก็คงไม่ดี
เพราะอาจเสี่ยงที่จะโดนลูกหลงจากเขี้ยวและกรงเล็บของพวกมันได้
แนะนำให้หาของเล่นหรือสิ่งที่พวกมันชอบ
แล้วทำให้เกิดเสียงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของพวกมันจนเลิกทะเลาะกัน
แต่ที่สำคัญคืออย่าใช้การดุหรือใช้ความรุนแรงกับแมว
เพราะจะยิ่งทำให้พวกมันเครียดหรือหวาดกลัว
วิธีป้องกันไม่ให้แมวในบ้านทะเลาะกันเอง
ในกรณีที่เลี้ยงแมวไว้ในบ้านหลายตัวหรือตั้งแต่
2 ตัวขึ้นไป และพวกมันอาจไม่ค่อยถูกกันนัก ชอบทะเลาะกันบ่อย ๆ
ขอแนะนำให้ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู
1. แบ่งอาณาเขตให้เพียงพอ
ควรแบ่งและจัดสรรพื้นที่อาณาเขตให้เพียงพอต่อจำนวนแมวภายในบ้าน
อาจจัดที่นอน ที่ให้น้ำและอาหาร ที่ขับถ่าย รวมทั้งของเล่นต่าง ๆ
สำหรับแมวแต่ละตัว ให้ไม่อยู่ใกล้หรือไกลกันจนเกินไป
รวมทั้งอย่าจัดพื้นที่ให้แมวตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในมุมอับ
เพราะอาจทำให้ถูกแมวตัวอื่น ๆ รุมรังแกได้
2. จับแยกแล้วค่อยให้มาเจอกันใหม่
ถ้ามีแมวที่เพิ่งเจอกันได้ไม่นานแล้วพวกมันไม่ค่อยถูกกัน
ให้จับแยกสักระยะหนึ่งก่อน
แล้วจึงค่อยให้พวกมันกลับมาเจอกันและทำความรู้จักกันใหม่อีกครั้ง
3. จัดทางเดินในบ้านเลี่ยงไม่ให้แมวเผชิญหน้ากัน
ลองจัดทางเดินในห้องต่าง
ๆ ของบ้าน ให้มีทางสำหรับแมวเดินมากกว่า 1 ทางขึ้นไป ซึ่งอาจรวมทั้งบนพื้น
ตู้ และชั้นวางของ
เพื่อให้แมวสามารถเดินได้โดยไม่ต้องสวนทางหรือเผชิญหน้ากับแมวตัวอื่นตรง ๆ
ก็จะช่วยลดโอกาสที่พวกมันจะทะเลาะกันได้
วิธีป้องกันไม่ให้แมวในบ้านทะเลาะกับแมวจรจัด
1. ให้แมวอยู่แต่ในบ้าน
ถ้าหากแมวที่เลี้ยงอยู่มีนิสัยติดบ้าน
ไม่ได้ชอบออกไปไหนอยู่แล้ว ก็ให้มันอยู่แต่ในบ้าน
โดยหาม่านหรืออะไรมาบังหน้าต่างไว้
เพื่อไม่ให้แมวในบ้านและแมวจรจัดเจอหน้ากัน รวมทั้งหาของเล่นและสิ่งต่าง ๆ
เพื่อดึงดูดความสนใจไม่ให้แมวไปสนใจสิ่งที่อยู่ข้างนอกบ้าน
2. เลือกเวลาปล่อยแมวออกไปเล่นนอกบ้าน
หากพบว่าเมื่อแมวออกไปข้างนอกบ้านแล้วชอบทะเลาะกับแมวจรจัดในเวลาเดิม
ๆ ให้พยายามเลี่ยง โดยให้แมวอยู่ในบ้านช่วงเวลานั้น
แล้วปล่อยมันออกไปข้างนอกในช่วงเวลาอื่นแทน
เพราะแมวจรจัดตัวนั้นอาจจะอยู่เฉพาะในบางช่วงเวลาก็ได้
3. ทำหมันให้แมว
โดยทั่วไปแมวที่ผ่านการทำหมันแล้วจะมีความดุร้ายน้อยกว่าแมวที่ยังไม่ได้ทำหมัน
เพราะฉะนั้นการพาแมวไปทำหมันก็จะช่วยลดโอกาสที่มันจะทะเลาะกับแมวตัวอื่น ๆ
ได้ ไม่ว่าจะเป็นแมวในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม
4. ทำรั้วป้องกันแมวปีน
ในกรณีที่มีสวนนอกบ้าน
ให้ทำรั้วแบบที่มีขอบลาดเอียง 45 องศา ทั้งด้านนอกและด้านใน
เพื่อป้องกันไม่ให้แมวปีนออกนอกบริเวณบ้าน
และป้องกันไม่ให้แมวจรจัดปีนเข้ามาได้ง่าย ๆ นั่นเอง
วิธีป้องกันแมวทะเลาะกันระยะยาว
ถึงแม้ว่าจะมีวิธีที่สามารถทำให้แมวหยุดทะเลาะกันได้
แต่ถ้าสามารถใช้วิธีแก้ปัญหาในระยะยาวได้ก็น่าจะดีกว่าใช่ไหมล่ะ
จะได้ไม่ต้องคอยกังวลว่าพวกมันจะทะเลาะกันอีกเมื่อไหร่
โดยเรามีวิธีแก้ปัญหาในระยะยาวมาแนะนำให้ได้ลองนำไปใช้กัน ดังนี้
1. พาไปพบสัตวแพทย์หรือนักบำบัด
แมวบางตัวที่มีนิสัยดุร้ายและก้าวร้าวมากเกินไป
ซึ่งอาจเกิดจากอาการป่วยบางชนิดก็เป็นได้
เพราะฉะนั้นการลองพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาก็อาจช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้
หรือถ้าหากไม่ใช่อาการป่วยก็อาจพาไปฝึกบำบัดพฤติกรรมของแมวได้เช่นกัน
2. ฝึกให้พวกมันคุ้นเคยกัน
เมื่อต้องการนำแมวตัวใหม่เข้าบ้าน
ก่อนที่จะจับให้มาอยู่ร่วมกันควรให้พวกมันทำความคุ้นเคยกับกลิ่นของอีกตัวเสียก่อน
อาจเริ่มจากการให้อาหารพร้อมกันในบริเวณใกล้ ๆ กัน
โดยหาอะไรมาบังไว้ไม่ให้พวกมันเผชิญหน้ากัน
จากนั้นก็ลองสลับให้พวกมันใช้ที่นอนหรือที่ขับถ่ายอันเดียวกัน
เมื่อพวกมันเริ่มเคยชินกับกลิ่นของอีกฝ่ายแล้ว
จึงค่อยปล่อยให้พวกมันมาเจอหน้าและอาศัยอยู่รวมกัน
อ่านเพิ่มเติม : พาแมวตัวใหม่เข้าบ้าน ทำยังไงให้แมวตัวใหม่เข้ากับแมวตัวเก่าได้
รู้อย่างนี้แล้วบ้านไหนที่กำลังปวดหัวกับปัญหาแมวทะเลาะกันเป็นประจำ ลองนำวิธีที่เราแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูได้เลย
ใครทำแล้วได้ผลยังไงก็อย่าลืมมาแชร์ให้ฟังกันได้นะ