x close

แรม 7 สี...ปลาหมอแคระ ที่น่ารัก น่าเลี้ยง



แรม 7 สี



แรม 7 สี...ปลาหมอแคระ ที่น่ารัก น่าเลี้ยง (เทคโนโลยีชาวบ้าน)

คอลัมน์ ปลาสวยงาม
โดย พิชิต ไทยยืนวงษ์

          ปลาหมอสี เป็นชื่อเรียกปลาน้ำจืดในวงศ์ซิคลิเด (Family Cichlidae) ซึ่งมีสมาชิกในวงศ์หลายพันชนิด อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ ที่อยู่ในเขตอบอุ่นและร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา และบางพื้นที่ของทวีปเอเชีย (เช่น ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียและศรีลังกา) 

          ปลาหมอสีมีความหลากหลายทางด้านขนาด รูปร่าง รูปทรง และสีสัน ปลาหมอสีบางชนิดตัวใหญ่เป็นเมตร เช่นปลาหมอไจแอนท์ทังกันยิกา (Boulengerochromis microlepis) ปลาหมอเทมเอนสิส (Cichla temensis) บางชนิดตัวล่ำบึ้กปากกว้างดุร้าย มีขนาดใหญ่เกือบครึ่งเมตร เช่น ปลาหมอโดวิอาย (Parachromis dovii) ปลาหมอมานาเกวนเซ่ (Parachromis managuensis) บางชนิดลำตัวแบบบางครีบกางยาวสลวยสง่างาม เช่น ปลาเทวดาสายพันธุ์ต่างๆ (Pterophyllum spp.) 

          ส่วนชนิดที่เลี้ยงแพร่หลายกันทุกวันนี้ที่มีหัวโหนกมีมาร์คกิ้งมีมุกคือปลาหมอลูกผสม (Cross Breeding Cichlid) ที่เกิดจากการนำปลาหมอสีสายพันธุ์แท้มาผสมข้ามพันธุ์กันเพื่อให้ได้ปลาลักษณะแปลกใหม่ 

          ปลาออสก้าร์ ก็จัดเป็นปลาหมอสีเช่นกัน เช่นเดียวกับปลาปอมปาดัวร์ ปลานิล และปลาหมอเทศ...ปลาหมอสี ไม่ได้มีเฉพาะปลาใหญ่เท่านั้น ปลาขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกกันว่า "ปลาหมอแคระ" ก็มีอีกไม่น้อย และแรม 7 สี ก็คือปลาหมอแคระสายพันธุ์หนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ 

          แรม 7 สี เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลาหมอสี สายพันธุ์ Microgeophagus ramirezi มันมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับปลาหมอสีชนิดอื่นๆ ปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ส่วนตัวเมีย 4-5 เซนติเมตร ลักษณะรูปร่างแบนข้าง ลำตัวกว้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบสัดส่วนกับลำตัว ครีบหางสั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังเชื่อมยาวต่อกันตั้งสูงชันคล้ายกำแพง ก้านครีบแข็ง 3-4 ก้านแรกของครีบหลังมีสีดำตั้งสูงชันขึ้นมาคล้ายหงอนของนกกระตั้ว ดวงตามีสีแดง มีเส้นดำพาดตาจากบนหัวลงมาเกือบถึงใต้คอ มีจุดดำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่บริเวณปลายตัวเห็นเด่นชัด 

          สีสันของปลาชนิดนี้สดสวยเหลือบพรายหลายสีตามชื่อที่ถูกเรียกขานกัน คือมีจุดเขียวอมฟ้าสะท้อนแสงเคลือบบนเกล็ดเต็มลำตัว ยกเว้นส่วนท้องที่จะมีสีออกเหลือง ในปลาที่โตขึ้นมาและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ สีที่ท้องจะกลายเป็นสีชมพูและสีแดงโดยเฉพาะในปลาตัวเมีย 

          นอกจากนั้น ยังมีสีส้มที่ครีบท้อง ครีบทวาร มีสีน้ำตาลบริเวณส่วนหัว ที่บริเวณโพรงจมูกจนถึงปลายริมฝีปากบนของปลาตัวผู้จะเป็นสีแดงเรื่อ สามารถแยกเพศได้จากตรงนี้ นอกเหนือจากความยาวของครีบต่างๆ และขนาดลำตัวที่ตัวผู้จะยาวกว่าและใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด นับไปนับมาไม่ถึง 7 สี แต่ก็เรียกได้ว่าระยิบระยับจับตาไม่ต่างจากอัญมณีมีชีวิตเลยจริงๆ 

          ในวงการปลาสวยงามสากล รู้จักปลาหมอแคระชนิดนี้ในนาม Ramirez"s Dwarf Cichlidae หรือ Butterfly Dwarf Cichlidae ส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า Ram ซึ่งเป็นชื่อที่ย่อมาจาก Ramirez ซึ่งเป็นชื่อของผู้ค้นพบปลาชนิดนี้นั่นเอง ในเมืองไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนมีปลาที่ใช้ชื่อว่า "แรม" หลายชนิด เช่น แรมแดง (Hemichromis bimaculatus) แรมเหลือง (Laetacara curviceps) แรมโบลิเวีย (Microgeophagus altispinosa) ปลาหมอแรมตัวจริงของเราก็เลยได้ชื่อว่า "แรม 7 สี" เนื่องจากมันมีสีสันสดสวยและมีหลายสีในตัวเดียวกันนั่นเอง



แรม 7 สี



การเลี้ยง แรม 7 สี ไม่ยุ่งยากอะไร

          ในธรรมชาติพวกมันอาศัยในลำธารที่มีพืชน้ำ กิ่งก้านไม้ใหญ่และซากใบไม้ทับถมกันในป่าฝนเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ น้ำนั้นแม้มีสีชาด้วยเกิดจากแทนนินที่ซากต้นไม้ขับออกมา แต่ก็ใสสะอาดมาก มีความกระด้างต่ำและเป็นกรดอ่อนๆ สภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้พวกมันอยู่กันอย่างสุขสบายด้วยความสมบูรณ์ของอาหาร ซึ่งก็คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ สารพันที่อาศัยอยู่ตามพื้นดินและที่ลอยมากับกระแสธาร มีปราการหลบซ่อนตัว คือซากต้นไม้ใบไม้และพืชพรรณที่ขึ้นรกครึ้มยามมีปลานักล่าย่างกรายเข้ามา แรมหากินเป็นฝูงกระจัดกระจาย แต่ปลาที่โตขึ้นมาจะเริ่มจับคู่อยู่กันสองตัว ไม่นานจากนั้นก็เริ่มวางไข่ออกลูกหลาน

          การเลี้ยงในตู้ ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ แต่ต้องมีระบบกรองน้ำที่ดี เพราะแรมค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำ คุณภาพน้ำที่เสื่อมแม้เพียงเล็กน้อยในระดับที่ปลาอื่นอาจยังเฉยอยู่ แต่แรมจะเริ่มออกอาการ เช่น เบื่ออาหาร ซึมหรือลอยหัว หากใช้กรองพื้นฐาน เช่น แผ่นกรองใต้กรวดหรือกรองกระป๋องอันเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับปั๊มลม ก็ควรหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆ ในปริมาณน้อยๆ (ประมาณ 15-20%) 

          แรม เป็นปลาจับคู่ผัวเดียวเมียเดียว (Monogamous) หากเลี้ยงในตู้เล็กก็ไม่ควรเลี้ยงเกินหนึ่งคู่ มิฉะนั้นปลาจะออกอาการก้าวร้าวใส่คู่อื่นๆ ในตู้ขนาดปานกลางขึ้นไปสามารถเลี้ยงแรมเป็นฝูงๆ ได้อย่างสบาย รวมกับปลาชนิดอื่นที่ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เช่น ปลาเทวดา ปลาในกลุ่มเตตร้าขนาดไม่เล็กเกินไปนัก 

          การจัดตู้ ควรเน้นปูพื้นด้วยกรวด (ไม่ควรใช้ทราย) ตกแต่งด้วยขอนไม้และพืชน้ำแบบไม่ให้รกนัก และเว้นพื้นที่ส่วนหน้าของตู้เพื่อให้ปลาได้ออกมาว่ายน้ำเล่น พืชน้ำที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงแรมคือ ต้นเฟิน เช่น เฟินรากดำ เฟินเขากวาง ต้นอนูเบียส ต้นอะเมซอน ต้นคริปโตโครีนชนิดต่างๆ ฯลฯ

          แรม เป็นปลาแพ้น้ำใหม่ ควรจัดแต่งตู้ให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นก็ทิ้งน้ำไว้โดยเปิดเฉพาะระบบกรองและแสงส่องสว่าง (สำหรับพืชน้ำ) ราวหนึ่งสัปดาห์ค่อยปล่อยปลาลงตู้ ปลาจะอยู่ได้อย่างสบาย ดีกว่าจัดตู้เสร็จปุ๊บปล่อยปลาลงปั๊บ

          อาหารที่เหมาะสม เนื่องจากแรมเป็นปลากินสัตว์ขนาดเล็ก ฉะนั้น ควรเลือกอาหารที่เหมาะกับมัน หลีกเลี่ยงอาหารสำหรับปลากินพืช เพราะจะทำให้ปลาเสียสมดุลโภชนาการหากกินต่อเนื่องไปนานๆ 

          ในปัจจุบัน นักเพาะพันธุ์เมืองไทยประสบความสำเร็จกับการพัฒนาสายพันธุ์แรม จนได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาและได้รับความนิยมมาก เช่น แรมทอง และแรมบอลลูน แรมบอลลูนเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้ปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในระยะหลังๆ โดยการคัดเอาเฉพาะปลาที่มีรูปร่างสั้น (เนื่องจากเกิดความพิการเพราะการผสมพันธุ์เลือดชิด) แต่ได้สัดส่วนและมีสีสันสวยงาม สุขภาพดี มาผสมพันธุ์กันเพื่อให้ลูกออกมาเป็นปลาทรงสั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แรมบอลลูนที่สวยจะมีลำตัวกลมดิก (ยิ่งกว่าปลาหมอนกแก้วเสียอีก) ส่วนครีบกางตั้งชัน ปลายครีบจะยาวสลวยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายเท่า ดูละม้ายปลากัดจีนเลยทีเดียว

          การเลี้ยงแรมบอลลูนก็เหมือนกับการเลี้ยงแรม 7 สี เพียงแต่ง่ายกว่า เพราะมันมีสรีระที่ไม่เอื้อต่อความก้าวร้าว ทำให้เลี้ยงรวมกับปลาชนิดเดียวกันได้ง่าย ใครที่เคยเลี้ยงแต่ปลาหมอตัวใหญ่ๆ โหนกๆ นิสัยดุร้าย ราคาแพงๆ ลองหันมาเลี้ยงปลาหมอแคระนิสัยน่ารักตัวนี้ดูสักครั้ง...อาจจะติดใจก็ได้นะคะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia.org
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แรม 7 สี...ปลาหมอแคระ ที่น่ารัก น่าเลี้ยง อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2552 เวลา 20:25:32 27,414 อ่าน
TOP