x close

นกกะรางคอดำ จากสัตว์ป่าคุ้มครอง สู่การเลี้ยงในบ้าน





นกกะรางคอดำ สัตว์ป่าคุ้มครอง วิจัยสู่การเลี้ยงในบ้าน สร้างอาชีพ (เทคโนโลยีชาวบ้าน)

คอลัมน์ เทคโนฯ สัตว์เลี้ยง
โดย ธงชัย พุ่มพวง

          นกกะรางคอดำ หรือนกซอฮู้ (Garrulax chinensis) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่เริ่มจะหายาก รูปทรงตั้งแต่หัวจรดหางได้สัดส่วน สีสันสวยงาม เสียงร้องได้ไพเราะหลายเสียง จึงเป็นที่ชื่นชอบของบางคนที่แอบไปดักในป่าเพื่อนำมาเลี้ยงไว้ในกรง ทั้งที่รู้ว่าสัตว์ป่าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในเมืองได้ ประกอบกับสภาวะสิ่งแวดล้อมธรรมชาติถูกทำลายไปมากมาย สถานที่วางไข่ ที่พักอาศัย อาหารในป่าเริ่มหมดไป ความสมดุลที่เสื่อมโทรม จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ป่า นกชนิดต่างๆ แม้กระทั่งนกกะรางคอดำ เริ่มจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน โดย ผศ.สุชาติ โชคคณาพิทักษ์ ผู้ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับนกและสัตว์ปีก ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี สาขาวิชาสัตว์ปีก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จบปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จเรื่องการขยายพันธุ์นกปรอดหัวโขนเคราแดงในสภาพการเลี้ยงแบบขังกรง รับรางวัลนักวิจัยที่ควรยกย่องจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ในปี 2551 ประสบผลสำเร็จเรื่องการขยายพันธุ์นกกะรางคอดำ และมีความพร้อมที่จะเผยแพร่วิชาการนำไปสู่เกษตรกรที่สนใจเพาะขยายพันธุ์เลี้ยงเป็นอาชีพ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์ปีก ดีกว่านำสัตว์ป่าหรือนกป่ามาเลี้ยง ที่มีโอกาสจะสูญพันธุ์

          ผศ.สุชาติ เล่าว่า นกกะรางคอดำ มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศจีน และภาคตะวันออกของพม่า จึงมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น นกซอฮู้ โซโฮอาจี้ นกถัว นกถัวดำ สถานที่พบและจำแนกชนิดครั้งแรกที่ประเทศจีน จึงมีชื่อวิทยาศาสตร์เป็นภาษาจีนว่า Garrulous chinensis ทั่วโลกมีนกชนิดนี้อยู่ 51 ชนิด ในประเทศไทยพบ 12 ชนิด พบในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ไม่พบในภาคใต้ เนื่องจากนกชนิดนี้เริ่มหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ จึงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

ลักษณะประจำพันธุ์และพฤติกรรม นกกะรางคอดำ

          ลักษณะของนกกะรางคอดำนั้น จัดเป็นนกที่มีขนาดเล็ก น้ำหนัก ประมาณ 85-115 กรัม ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน แต่เพศผู้จะมีขนาดโตกว่าเพศเมียเล็กน้อย ความยาวจากปลายปากถึงหาง ประมาณ 27-30 เซนติเมตร ขนที่บริเวณหูจะมีสีขาว ใบหน้าและคอสีดำ กระหม่อมสีเทามีไรขนสีขาวแซม ลำตัวด้านบนสีเทาแกมเขียวจนถึงสีน้ำตาลแกมเขียวตัดกับใบหน้า อกสีเทา สีข้างและตะโพกสีเขียวเข้มอมน้ำตาล

          นกกระรางคอดำที่โตเต็มที่นั้น ตาจะเป็นสีแดง ปลายหางสีดำและแผ่ออกไปคล้ายหางพลั่ว ลำตัวด้านล่างสีเทา สีข้างและขนคลุมโคนหางด้านล่างสีน้ำตาลแกมเขียว ขนบริเวณรอบก้นมีสีส้ม ชอบส่งเสียงร้องที่ไพเราะและมีลีลาร่ายรำตามจังหวะการร้องที่สวยงาม นกเพศผู้จะร้องได้ยาวและไพเราะกว่าเพศเมีย

          นกกะรางคอดำ เป็นนกที่ชอบความสะอาด จะอาบน้ำในช่วงที่มีอากาศร้อน โดยเฉพาะช่วงบ่าย จะบินลงไปอาบน้ำบริเวณที่ตื้นๆ โดยใช้ส่วนหัวจุ่มลงไปในน้ำ กระพือปีกเพื่อสลัดน้ำให้เปียกส่วนของคอ ปีก ลำตัว และส่วนหาง เป็นการปรับอุณหภูมิของร่างกายและกำจัดพยาธิภายนอก เช่น เห็บ เหา ไร นกกะรางคอดำชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ประมาณ 2-5 ตัว หรืออยู่รวมกับนกกะรางชนิดอื่นๆ พบตามป่าไม้เบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าไผ่ ป่าโปร่ง ที่มีร่องน้ำลำธารมีน้ำตลอดปี มีอาหารสมบูรณ์ บริเวณสระน้ำ อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ

          อาหารที่ชอบของนกกะรางดำส่วนใหญ่ ได้แก่ หนอน ตัวอ่อนของแมลงทุกชนิด ผลไม้ป่าสุก เช่น โพธิ์ มะเดื่อ กันเกรา หว้า กล้วย ข่อย ชอบหาอาหารกินบนพื้นดิน กระโดดไปมา ใช้ปากพลิกใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้ง เพื่อหาแมลงที่หลบซ่อนอยู่ใต้ใบไม้แห้ง เช่น มด ไข่มด ปลวก แมลงสาบ แมงชอน แมลงหางหนีบ จิ้งหรีด

วิธีการขยายพันธุ์ นกกะรางคอดำ

          การขยายพันธุ์นกกะรางคอดำ ควรจับคู่กันในเดือนธันวาคม สร้างกรงผสมพันธุ์ขนาดกว้าง 90 เซนติเมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.80 เมตร จากนั้นเริ่มคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์พันธุ์ นำมาเลี้ยงในกรงเพื่อปรับสภาพและให้เกิดความเชื่อง เทียบนกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เพื่อจับคู่แล้วปล่อยเข้ากรงผสมพันธุ์ที่เตรียมไว้แต่ละคู่ ควรสังเกตหลังจับคู่กันและปล่อยเข้ากรงผสมพันธุ์แล้ว หากนกจิกตีกันแสดงว่าเข้าคู่กันไม่ได้ควรแยกออก ควรหาคู่ใหม่ที่เข้ากันได้

          สังเกตที่นกทั้งคู่จะอยู่ใกล้กันตลอดเวลา ชอบไซ้ขนที่หน้า คอ หลัง ลำตัว ให้แก่กัน กลางคืนจะนอนด้วยกัน นกเพศผู้และเพศเมียที่มีความพร้อม เพศผู้จะผสมพันธุ์กับเพศเมียบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลาเช้าและเย็น จากนั้นนกเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันสร้างรัง โดยเลือกต้นไม้ภายในกรงผสมพันธุ์ที่มีทรงพุ่มหนา มีกิ่งย่อยประมาณ 3-5 กิ่ง เพื่อให้รังนกมีความแข็งแรง มั่นคง และสามารถอำพรางเพื่อความปลอดภัยจากศัตรู จะใช้ปากคาบเศษใบไม้แห้ง กิ่งเถาวัลย์แห้ง ใบไผ่แห้ง นำมาประกอบเป็นรังรูปทรงครึ่งวงกลม ขนาดปากรัง 7.5-8 เซนติเมตร ลึก 5.5-6 เซนติเมตร หนา 2.5-3 เซนติเมตร ใช้เวลาสร้างรังประมาณ 5-7 วัน

         หลังจากสร้างรังเสร็จแม่นกจะวางไข่วันละฟองจนครบ 2-3 ฟอง พ่อนกและแม่นกจะช่วยกันฟักไข่ทั้งกลางวันและกลางคืน จนครบ 14 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นลูกนก พ่อและแม่นกจะคาบเปลือกไข่หลังจากฟักออกไปทิ้งให้ไกลจากรังทันที เพื่อรักษาความสะอาดและป้องกันศัตรูได้กลิ่นคาว ทั้งคู่จะเปลี่ยนและช่วยกันกกให้ลูกนกมีความอบอุ่นตลอดเวลา สลับกับการออกไปหาอาหารมาป้อนลูกนก เมื่อลูกนกถ่ายมูลออกมา พ่อและแม่ก็จะช่วยกันทำความสะอาดรังนกด้วยการกินมูลของลูกนก จนกระทั่งลูกนกอายุ 10-12 วัน ลูกนกจะมีขนงอกที่สมบูรณ์ ออกมายืนที่ปากรัง พ่อและแม่พยายามให้ลูกนกฝึกบินหลายครั้ง ก่อนที่จะบินออกจากรังไปเกาะกิ่งไม้โดยมีพ่อและแม่นกคอยดูแลและป้อนอาหาร

การส่งเสริมให้นกขยายพันธุ์

         ในธรรมชาติของนกกะรางคอดำ จะผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ได้เพียงปีละ 2 ครอก เนื่องจากนกในสภาพของธรรมชาติต้องอาศัยฤดูกาลและอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่มีส่วนในการกระตุ้นให้ผสมพันธุ์ แต่ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า สามารถทำการเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้ถึง 7 ครอกต่อปี เนื่องจากการเพาะเลี้ยงที่ดี มีอาหารโปรตีนและโภชนาการตามที่นกต้องการได้ตลอดเวลา รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ รวมถึงการควบคุมการรบกวนจากคนแปลกหน้าหรือศัตรู เช่น สุนัข แมว หนู และนกล่าเหยื่อชนิดต่างๆ เข้าไปทำอันตรายหรือทำให้พ่อแม่พันธุ์ตกใจ

         ทั้งนี้ หากพ่อแม่นกคาดว่าจะเกิดอันตราย จะจิกไข่ของตนเองแล้วทิ้งรังบินออกไปหาที่ทำรังใหม่ให้ปลอดภัย วิธีการแยกลูกนกออกจากรังมาอนุบาล สามารถช่วยให้ระยะเวลาการเลี้ยงของพ่อแม่พันธุ์เร็วขึ้น พ่อแม่พันธุ์มีเวลาพักฟื้นและสามารถออกไข่ได้ครอกต่อไปได้ภายใน 7 วัน หลังจากที่แยกลูกออกมาอนุบาล ควรบำรุงพ่อแม่พันธุ์นกกะรางคอดำด้วยการให้อาหารเสริมโปรตีน เช่น หนอนนก ไข่มดแดง จิ้งหรีด

         โดยสรุป แม้ว่านกกะรางคอดำ จัดให้อยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองเช่นเดียวกับ นกกรงหัวจุก นกกางเขนดง นกปรอดแม่ทะ นกเขียวก้านตอง ฯลฯ ความจริงพบว่ามีการลักลอบจับนำมาขายอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวโดยขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้นกเหล่านั้นต้องตายไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการจับมาเลี้ยงเฉพาะตัวผู้ที่มีเสียงร้องไพเราะ ปล่อยให้ตัวเมียอยู่ตามลำพัง ทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล

          ดังนั้น การใช้กฎหมายบังคับแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ยิ่งจะเพิ่มปริมาณการลักลอบจับและจำหน่ายมากขึ้น ควรเปลี่ยนแนวคิดให้มีการส่งเสริมสนับสนุนการขยายพันธุ์ เพื่อเสริมสร้างอาชีพการเพาะเลี้ยงนกเพื่อการค้าตามหลักวิชาการให้มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมด้านส่งไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการมากในขณะนี้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นกกะรางคอดำ จากสัตว์ป่าคุ้มครอง สู่การเลี้ยงในบ้าน อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2552 เวลา 22:36:47 27,962 อ่าน
TOP