
ท้องเทียม...มีด้วยหรือ?
เรื่องโดย : น.สพ.พัฒนา รัตนชินกร
ปัญหาที่เจ้าของสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงถามสัตวแพทย์บ่อย ๆ คือวงรอบการเป็นสัดของสุนัข หรือสุนัขจะมีประจำเดือนมาเมื่อไร ความจริงแล้วสุนัขไม่มีประจำเดือนเหมือนคน มีแต่รอบการเป็นสัดที่พร้อมผสม และเป็นวงรอบที่ทำให้เกิดอาการท้องเทียมได้ การท้องเทียมหรือ pseudocyesis เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาการจะเป็นอยู่หลายสัปดาห์ มีน้ำนม และบางครั้งเอาตุ๊กตามาเลี้ยงเป็นลูก
ก่อนที่จะรักษาคงต้องอธิบายถึงการเป็นสัดของสุนัข สุนัขเพศเมียจะสามารถผสมพันธุ์และให้ลูกได้เมื่ออายุ 6-8 เดือน และอาจคลาดเคลื่อนไปจากระยะเวลาที่กล่าวได้ตามสายพันธุ์ของสุนัข สรุปคือสุนัขจะเป็นสัดประมาณปีละ 1-2 ครั้ง สายพันธุ์ที่ยกเว้นอยู่ในตระกูล African breeds เช่น บาเซนจิ โรดิเซียน ริดจ์แบ็ก ซึ่งจะเป็นสัดเพียงปีละครั้งเท่านั้น นอกจากนี้สุนัขที่อายุมาก (อายุมากกว่า 7 ปี) จะยังคงเป็นสัดสามารถผสมพันธุ์ได้ จึงไม่มีวัยหมดประจำเดือนเหมือนในคน
ระยะแรกของการเป็นสัดเรียกว่า Proestrus ระยะนี้อวัยวะเพศจะบวมและมีเลือดจาง ๆ ออกมาจากช่องคลอด ตัวผู้จะเข้ามาหา ในระยะนี้ตัวเมียจะเข้าหาสุนัขตัวผู้แต่ยังไม่ยอมให้ผสมพันธุ์ การที่มีเลือดออกทางช่องคลอดทำให้เข้าใจว่าสุนัขเป็นประจำเดือน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเลือดออกมาจากผนังช่องคลอดไม่ได้เกิดเนื่องจากการสลายของผนังมดลูกเหมือนในคนที่อยู่ในระยะมีประจำเดือน
ระยะที่สองเรียกว่าระยะ Estrus ระยะนี้เลือดที่ออกจากช่องคลอดจะเปลี่ยนสีจางลง เป็นระยะที่สุนัขตัวเมียจะยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ ทั้งยังเป็นช่วงระยะที่ไข่กำลังตกและโอกาสในการผสมติดสูง
ภายหลังผสมพันธุ์แล้ว น้ำเลือดที่ออกจากช่องคลอดจะหายไป และเริ่มเข้าสู่ช่วง Diestrus ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่เรียกว่า Progesterone จะถูกสร้างจากรังไข่ส่วนที่เรียกว่า Corpus luteum เป็นส่วนของรังไข่ที่ได้หลุดออกไปสู่โพรงมดลูกแล้วโดยฮอร์โมนอื่นจะทำหน้าที่ควบคุม Corpus luteum ให้คงอยู่ตลอดเวลาที่สุนัขตั้งครรภ์ (สุนัขตั้งท้องประมาณ 63 วัน) Corpus luteum จะสลายไปภายใน 70 วันหรือนานกว่า ดังนั้นสุนัขที่ท้องเทียมจึงมีฮอร์โมนต่าง ๆ เหมือนสุนัขที่ตั้งท้อง เพียงแต่ไม่มีลูกในท้องเท่านั้น


อาการที่เจ้าของเห็นจะเป็นอาการต่าง ๆ ตามที่กล่าวข้างล่างนี้
1. เตรียมรังสำหรับคลอด
2. เลี้ยงตุ๊กตา
3. มีน้ำนมไหลทางเต้านม
4. อาจมีอาการเบ่งคล้ายคลอดลูก
สุนัขเพศเมียบางตัวมีระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงการเป็นสัด การวินิจฉัยจึงมักใช้การตรวจและซักประวัติมากกว่าการเจาะเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน อาการท้องเทียมมักสังเกตได้หลังการเป็นสัดไปแล้ว 3-6 เดือน

ถ้าอาการน้อยก็คงไม่ต้องทำการรักษา อาการจะหายไปเองใน 3 สัปดาห์ อาจต้องประคบร้อนที่เต้านมหรือเสื้อเพื่อให้นมหยุดไหลเร็วขึ้นและไม่เปื้อนสิ่งของในบ้าน เจ้าของไม่ควรไปรีดหรือบีบเต้านมดูบ่อย ๆ เพราะจะไปกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น แม้กระทั่งการเลียของสุนัขก็กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนม ดังนั้นสุนัขที่ชอบเลียเต้านมตัวเองควรใส่ปลอกคอกันเลียแผลไว้
ถ้ามีอาการมากก็อาจพิจารณาให้ยาขับน้ำ เพื่อให้น้ำนมหยุดไหล เนื่องจากร่างกายจะถูกขับน้ำออกไป การงดให้น้ำสุนัข เพื่อให้น้ำนมหยุดไหลเป็นอันตรายมาก เนื่องจากสุนัขอาจขาดน้ำและตายได้ ถ้าให้ยาขับปัสสาวะแล้ว น้ำนมยังไม่หยุดไหลคงต้องพิจารณาให้ฮอร์โมน เรามักไม่ให้ฮอร์โมนเพศเมีย เพราะจะทำให้สุนัขกลับไปเป็นสัดเทียมและตามด้วยอาการท้องเทียมอีก Progesterone อาจจะใช้ได้ แต่ต้องใช้ภายหลังการรักษาอาการท้องเทียมแล้ว ยาที่แนะนำคือฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ระยะสั้นๆ แค่ 1 สัปดาห์
ฮอร์โมนที่ยับยั้งการสร้าง prolactin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างน้ำนม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เช่น bromocryptine หรือ carbergoline ยาตัวหลังมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าแต่ราคาแพงกว่า ยาจะทำให้สุนัขแท้งได้ในรายที่ตั้งท้อง จึงควรแน่ใจว่าสุนัขไม่ได้ตั้งท้องจริงก่อนที่จะให้ยา

การทำหมันในระยะท้องเทียมเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากเป็นการเอารังไข่ซึ่งมี Corpus luteum อันเป็นสาเหตุของโรคออกไป แต่ข้อเสียคือไม่สามารถหยุดการไหลของน้ำนมได้เนื่องจาก Prolactin ถูกสร้างมาจากต่อมใต้สมอง น้ำนมจะยังคงไหลต่อไปอีกนาน ทางที่ดีคือรอให้อาการท้องเทียมหายไปก่อนแล้วจึงทำหมันสุนัข