ปลาการ์ตูน สัตว์เลี้ยงน่ารัก สีสันจากท้องทะเล





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia.org

          ปลาการ์ตูน (Clownfish) เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกปลาสลิดหิน พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก ปลาการ์ตูน ชอบอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลที่มีเข็มพิษสำหรับป้องกันอันตราย แต่ไม่เป็นอันตรายกับ ปลาการ์ตูน ทำให้สามารถอยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน

          ทั้งนี้ ปลาการ์ตูน เป็นปลาทะเลที่นิยมนำมาเลี้ยงกัน เพราะมีสีสันสวยงาม ปลาการ์ตูน ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ตามธรรมชาตินั้น ปลาการ์ตูน จะอยู่กันเป็นครอบครัว และกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ทั้งนี้ ปลาการ์ตูน เป็นปลาที่หวงถิ่นมากจะมีเขตที่อยู่ของตนเอง

          สำหรับ ปลาการ์ตูน มีทั้งหมด 28 ชนิด ในเมืองไทยพบ ปลาการ์ตูน 7 ชนิด พบทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียแดง ปลาการ์ตูนแดง ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนอินเดียน

          ทั้งนี้ ปลาการ์ตูน ทั้ง 7 ชนิด ที่พบในประเทศไทย สามารถที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ในตู้เลี้ยงได้ทุกชนิด การเพาะพันธุ์ ปลาการ์ตูน นั้น ต้องเริ่มจากการจับคู่พ่อ-แม่พันธุ์ที่จะผสมพันธุ์วางใข่ เพศของปลาการ์ตูนนั้นไม่สามารถบอกได้จากลักษณะภายนอก อีกทั้ง ปลาการ์ตูน สามารถที่จะเปลี่ยนเพศได้ โดยเพศของ ปลาการ์ตูน จะถูกกำหนดโดยโครงสร้างของสังคม และเมื่อเปลี่ยนเป็นเพศเมียแล้ว จะไม่สามารถกลับมาเป็นเพศผู้ได้อีก ทำให้การจับคู่ ปลาการ์ตูน มีความสลับซับซ้อนมาก

          สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ การเลี้ยง ปลาการ์ตูน เพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จึงควรเริ่มจากปลาที่มีขนาดยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ และควรใช้ ปลาการ์ตูน ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมากกว่าปลาธรรมชาติ เพราะจะมีความทนทานมากกว่า โดยควรนำปลามาเลี้ยงรวมกันเป็นฝูง ประมาณ 6-8 ตัว หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับขนาดตู้เลี้ยง เมื่อ ปลาการ์ตูน เริ่มจับคู่จะสังเกตว่าทั้งสองตัวจะแยกตัวออกจากฝูงและหวงอาณาเขต จากนั้นให้แยก ปลาการ์ตูน คู่นั้นออกจากตู้ไปเลี้ยงในตู้ที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

การเลี้ยง ปลาการ์ตูน พ่อพันธุ์ - แม่พันธุ์

          ตู้ที่ใช้เลี้ยง ปลาการ์ตูน พ่อพันธุ์ - แม่พันธุ์ ควรมีขนาดความจุอย่างต่ำ ประมาณ 100 ลิตร มีระบบกรองภายในหรือภายนอกตู้ เลี้ยงปลาแยกกันตู้ละ 1 คู่ ในตู้ให้จัดหาวัสดุสำหรับให้ปลาหลบซ่อน และสำหรับวางไข่ได้ เช่น แผ่นกระเบื้องปูพื้น กระเบื้องทะเลเข้าไปในตู้ เพราะปลาสามารถวางไข่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีดอกไม้ทะเลอาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อ - แม่พันธุ์ ให้ใช้อาหารสดที่มีคุณภาพดี เช่นเนื้อหอยลายสับ เนื้อกุ้ง ไรน้ำเค็มที่เสริมกรดไขมัน ไข่ตุ๋น ฯลฯ สลับกัน ให้อาหารวันละ 1 - 2 ครั้ง ระวังอย่าให้มีอาหารตกค้างอยู่ในตู้ ควบคุมคุณภาพน้ำโดยการทำความสะอาดก้นตู้ เปลี่ยนถ่ายน้ำครั้งละ 10-20% ทุก 2 อาทิตย์

การดูแลและการฟักไข่ ปลาการ์ตูน

          พ่อ - แม่ปลาจะทำการดูแลไข่ในระหว่างการฟัก ซึ่งส่วนใหญ่ตัวผู้จะรับหน้าที่ไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 7 วัน แต่ในช่วงอากาศหนาวจะใช้เวลาประมาณ 5-9 วัน หรือในช่วงทีอากาศร้อนจะใช้เวลาประมาณ 6 วัน การนำไข่ออกมาฟัก สามารถกระทำได้แต่จะให้ผลไม่ดีเท่ากับปล่อยให้พ่อ - แม่ปลาฟักไช่เอง การสังเกตว่าลูกปลาจะฟักหรือยัง สังเกตได้จากตาของลูกปลาที่อยู่ในถุงไข่ จะกลายเป็นสีน้ำเงินสะท้อนแสง ซึ่งแสดงว่าลูกปลาพร้อมที่จะฟักออกเป็นตัวแล้ว ลูกปลาจะฟักในช่วงหัวค่ำประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากมืดสนิท

การอนุบาลปลาลูก ปลาการ์ตูน

          หลังจากลูกปลาฟักออกเป็นตัวให้แยกลูกปลาออกจากตู้ โดยใช้กระชอนผ้ารวบรวมลูกปลาและตักออกมาพร้อมน้ำ ระวังอย่าให้ลูกปลาสัมผัสกับอากาศ นำไปอนุบาลในตู้กระจกขนาดเล็ก ความหนาแน่นสูงสุดไม่ควรเกิน 10 ตัวต่อลิตร ให้อากาศแรงพอประมาณ ระหว่างการอนุบาลใช้ โรติเฟอร์ ไรน้ำเค็ม และสาหร่ายชนาดเล็ก เช่น ไอโซโครซิส เป็นอาหารในระยะ 2-3 วันแรกอาจใช้วิธีเพิ่มน้ ในตู้ปลาอนุบาล

          หลังจากนั้นจึงทำการดูดตะกอน เปลี่ยนถ่ายน้ำมันทุกวัน วันละ 20-50% ลูกปลาจะเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปร่างโดยจะมีลวดลาย สีสันบนลำตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีลักษณะเหมือนกับพ่อ - แม่โดยสมบูรณ์ เมื่อมีอายุได้ 3-4 สัปดาห์ และลูกปลาจะลงไปอาศัยอยู่ที่พื้นกันตู้ ถือว่าสิ้นสุดระยะของการอนุบาล จึงย้ายลูกปลาไปเลี้ยงต่อในตู้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อัตรารอดของลูกปลาเฉลี่ยประมาณ 10-20% และลูกปลาจะมีขนาดความยาวประมาณ 8-10 มม.



การเลี้ยงปลาการ์ตูน

          เมื่อพ้นระยะอนุบาล ให้นำปลามาเลี้ยงในตู้เลี้ยงในตู้เลี้ยงที่ใหญ่ขึ้น ความหนาแน่น ประมาณ 1 ตัวต่อลิตร และเริ่มเปลี่ยนอาหารมาเป็นอาหารสด เช่น หอยลายสับหรือเนื้อกุ้งสับ หรือจะให้อาหารที่ผสมขึ้นเอง โดยค่อยๆ ลดไรน้ำเค็มลง ตู้ที่ใช้เลี้ยงต้องมีระบบกรองภายในหรือภายนอกมีการทำความสะอาดและเปลี่ยน ถ่ายน้ำเป็นระยะ เข่น มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20% ทุก 2 สัปดาห์

          สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากในการเลี้ยง ปลาการ์ตูน คือ คุณภาพน้ำและความหนาแน่น ถ้าให้อาหารมากเกินไป มีสิ่งสกปรกหมักหมมอยู่ในตู้เลี้ยงหรือมีความหนาแน่นมาก มักจะเกิดโรค โดยเฉพาะโรคที่เกิดจาก Amyloodinium Ocellatum ซึ่งเมื่อเกิดแล้วลูกปลาจะตายเกือบหมด

          ดังนั้น การดูแลรักษาความสะอาดและคุณภาพน้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และความต้องการจับคู่ พ่อ-แม่พันธุ์ ควรจะนำปลาที่มีอายุประมาณ 4-6 เดือน แยกเลี้ยงเป็นพ่อ - แม่พันธุ์ต่อไป โดยปลาจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุได้ประมาณ 8-12 เดือน

การให้อาหาร ปลาการ์ตูน

           การเลี้ยงปลาทะเลเพื่อเลี้ยงดูสวยงามนั้น ไม่ควรให้กินอาหารเกินวันละครั้งและควรให้กินแต่พออิ่ม ไม่ควรให้ตามที่ปลาต้องการ เพราะจะทำให้เกิดของเสียมาก บางช่วงถ้าปลาไม่กินอาหารเช่นในช่วยที่อากาศเย็น จะต้องงดให้อาหารหรือลดปริมาณของอาหารลง อาหารที่ให้อาจเป็นเนื้อกุ้งสับ หอยลานสับ กุ้งเคย อาหารสำหรับปลาทะเล ฯลฯ สลับกันไป และเมื่อมีอาหารเหลือตกอยู่ก้นตู้ต้องกำจัดออก ห้ามปล่อยทิ้งไว้กับตู้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำเกิดการเน่าเสีย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลาการ์ตูน สัตว์เลี้ยงน่ารัก สีสันจากท้องทะเล อัปเดตล่าสุด 27 สิงหาคม 2552 เวลา 18:49:32 16,106 อ่าน
TOP
x close