เมื่อน้องหมา...ไฮเปอร์ (Dogazine)
"น้องหมาไฮเปอร์" เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คำว่า "ไฮเปอร์" นี้เป็นคำพูดติดปากที่ย่อมาจาก hyperactivity หมายถึง การที่น้องหมามีการแสดงออกมากกว่าปกติ จนไม่ยอมหลับยอมนอน ซึ่งมักพบในสุนัขพันธุ์เล็กและสุนัขบางสายพันธุ์ เช่น กลุ่มเทอร์เรียร์ อย่าง แจ๊ก รัสเซลส์ หรือพันธุ์บีเกิ้ล เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการไฮเปอร์ของ สุนัข อาจทำให้เกิดปัญหาเพียงเล็กน้อยต่อเจ้าของ แต่ถ้ามากเกินไปจนเจ้าของไม่สามารถควบคุมได้ก็จะทำให้เริ่มรู้สึกไม่ดี หรือบางทียังสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้านได้อีกด้วย เช่น การเห่าเสียงดัง การทำลายข้าวของ เป็นต้น
อาการที่บ่งบอกว่า สุนัข มีภาวะ hyperactivity มีดังนี้
ชอบวิ่งวนเป็นวงกลม หรือวิ่งไล่กัดหางตัวเอง
ขี้โวยวาย หรือเห่าแบบไม่มีเหตุผล
มีอาการหอบแทบจะตลอดเวลา
สายตาไม่มีจุดโฟกัส
ทั้งนี้ อาการไฮเปอร์อาจจะต้องแยกจากสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติค่ะ
1. ความซุกซนไม่อยู่สุขใน ลูกสุนัข ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นวัยกำลังเรียนรู้
2. ความกระตือรือร้นของสุนัขที่ถูกฝึกไว้ใช้งาน
3. ความกระตือรือร้นสนใจส่งเสียงเห่า เมื่อสุนัขเจอสิ่งแปลกใหม่ ซึ่งถือว่าปกติ
แต่สำหรับ สุนัข ไฮเปอร์ จะไม่ค่อยมีสมาธิและมีการแสดงออกที่มากเกินไป ไม่รับฟังคำสั่งจากเจ้าของ และมักจะใช้พลังงานไปกับการออกกำลังกาย วิ่ง กระโดดไปรอบๆ หรือส่งเสียงเห่าหอนตลอดเวลา ชอบทำลายข้าวของ ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ ในบ้าน และจะเงียบลงเฉพาะเวลานอนหลับเท่านั้น
สำหรับสาเหตุของอาการไฮเปอร์ใน สุนัข นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับด้านพันธุกรรมหรือไม่ และการวินิจฉัยอาจต้องใช้สัตวแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์โดยตรง หรือให้ยาสำหรับทำการทดสอบสุนัข แล้วทำการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และสังเกตพฤติกรรม โดยใน สุนัข ที่มีภาวะ hyperactivity นั้นจะมีอัตราการเหล่านี้ลดลง รวมทั้งสงบเสงี่ยมขึ้นภายหลังได้รับยา
วิธีการทำให้ สุนัข ไฮเปอร์ สงบลง
ก่อนอื่นเจ้าของจะต้องใจเย็นๆ และไม่ควรโมโห เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เขาแย่ลง อาจเริ่มจากการที่เจ้าของแสดงความสนใจต่อสุนัขในช่วงที่เขาสงบ และไม่สนใจ สุนัข ในช่องที่เขามีการแสดงออกมากเกินควร อาจทำการลงโทษทันทีเมื่อสุนัขแสดงอาการไม่เหมาะสม และควรต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งลองหาสาเหตุว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น เช่น ความกลัวสุนัขตัวอื่น หรือการต้องอยู่บ้านตัวเดียวเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น
และควรหาวิธีการต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจของเขา ทำให้มีสมาธิมากขึ้น และสงบลง ยกตัวอย่างเช่น เวลากินอาหาร อาจเพิ่มความสนใจโดยการซ่อนอาหารในของเล่น (ต้องเป็นของเล่นที่ปลอดภัยและไม่มีชิ้นส่วนที่สุนัขกินเข้าไปได้นะคะ)
นอกจากนั้น การเล่นเกมกับเขาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในการฝึกสมาธิ เช่น โยนลูกบอล จานร่อน หรือพาไปเดินเล่นนอกบ้าน หรือหาเพื่อนให้เขาแล้วปล่อยให้เล่นกันเองเพียงสองตัวเพื่อฝึกการเข้าสังคม และลดความกลัวต่อสุนัขตัวอื่น เป็นต้น
ส่วนการควบคุมปัญหาในระยะยาวก็อาจต้องใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งต้องปรึกษาสัตวแพทย์ต่อไปค่ะ
รวมเรื่องสัตว์เลี้ยง ทั้ง สุนัข แมว ปลา ฯลฯ พร้อมวิธีดูแลสัตว์เลี้ยง คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ