เปิดกฎหมายเลี้ยงสัตว์ใน กทม. พร้อมวิธีขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของควรรู้

เปิดข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ใน กทม. ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ 10 มกราคม 2569 ใครต้องลงทะเบียนบ้าง มีข้อกำหนดอย่างไร ไปดูเลย

เลี้ยงสัตว์

สำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ สุนัข หรือ แมว และเลี้ยงสัตว์ภายในเขตของ กทม. มาเตรียมตัวไปลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงกัน เพราะตอนนี้ได้มีการประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 และกำลังจะมีผลบังคับใช้ 10 มกราคม 2569 เอาไว้เตรียมตัวไปลงทะเบียนล่วงหน้ากัน

สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในข้อกำหนด

  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เม่นแคระ ฯลฯ
  • สัตว์ปีก เช่น นก ฯลฯ
  • สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา ฯลฯ
  • สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น ซาลาแมนเดอร์ กบ ฯลฯ 
  • สัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า ฯลฯ
  • สัตว์มีพิษหรือสัตว์ดุร้าย เช่น งู ฯลฯ 

การเลี้ยงสัตว์ตามพื้นที่

เลี้ยงนก

  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น วัว ควาย ม้า กวาง หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกัน เลี้ยงได้ 1 ตัว ขนาดพื้นที่ 50 ตร.วา
  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพะ แกะ หมู ม้าแคระ หรือสัตว์ที่มีขนาดเดียวกัน เลี้ยงได้ 3 ตัว ขนาดพื้นที่ 50 ตร.วา
  • ไก่ เป็ด ห่าน 1 ตัว ขนาดพื้นที่ 4 ตร.ม. 
  • นกขนาดใหญ่ 1 ตัว เช่น นกกระจอกเทศ หรือนกที่มีขนาดเดียวกัน ขนาดพื้นที่ 50 ตร.ม. 
  • นกขนาดเล็ก 5 ตัว ขนาดพื้นที่ 1 ตร.ม.

ห้ามเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สาธารณะ ยกเว้นเพื่อรักษาพยาบาล การย้ายที่อยู่ของเจ้าของ การปล่อยสัตว์เพื่อการกุศล/จารีตประเพณี

ข้อกำหนดจำนวนสุนัขและแมวตามพื้นที่

คอนโดหรือห้องเช่า

  • ห้องเช่าหรือคอนโด ขนาดไม่เกิน 20-80 ตร.ม. : เลี้ยงได้ 1 ตัว
  • ห้องเช่าหรือคอนโด ขนาด 80 ตร.ม. ขึ้นไป : เลี้ยงได้สูงสุด 2 ตัว

เนื้อที่ที่ดิน

  • เนื้อที่ที่ดินขนาดไม่เกิน 20 ตร.วา : เลี้ยงได้ 2 ตัว
  • เนื้อที่ที่ดินขนาดไม่เกิน 50 ตร.วา : เลี้ยงได้ 3 ตัว
  • เนื้อที่ที่ดินขนาดไม่เกิน 100 ตร.วา : เลี้ยงได้ 4 ตัว
  • เนื้อที่ที่ดินขนาด 100 ตร.วา ขึ้นไป : เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
  • สัตว์เศรษฐกิจ เช่น วัว ม้า เป็ด ไก่ : ต้องมีพื้นที่ตามที่กำหนด

ข้อกำหนดการเลี้ยงสุนัขและแมว

เจ้าของสุนัขและแมวจะต้องนำสัตว์ไปฝังไมโครชิปที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์เอกชนที่รับฝังไมโครชิป จดทะเบียนและออกบัตรประจำตัวภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่สัตว์เกิด หรือภายใน 30 วัน นับตั้งแต่นำสัตว์เข้ามาเลี้ยงในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ จดทะเบียนด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปช่วยจดทะเบียนแทน โดยใช้เอกสารดังนี้

เอกสารจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง

  • บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของสัตว์ 
  • ทะเบียนบ้านที่สัตว์อาศัย
  • ใบรับรอง (คสส.1)
  • หนังสือรับรองการฉีดวัคซีน (ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองการผ่าตัดทำหมันจากสัตวแพทย์ (ถ้ามี)
  • หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
  • หนังสือยินยอมจากผู้เช่า กรณีเป็นผู้เช่า

สถานที่จดทะเบียนสัตว์เลี้ยง

เจ้าของสัตว์นำเอกสารไปยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่ ณ หน่วยงานที่รับจดทะเบียน สํานักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สํานักอนามัย สํานักงานเขต หรือสถานที่ที่กรุงเทพมหานครกําหนด ได้แก่ คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 8 แห่ง ดังนี้

  • กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง โทร. 0 2248 7417
  • คลินิกสัตวแพทย์ กทม.1 สี่พระยา เขตบางรัก โทร. 0 2236 4055 ต่อ 213
  • คลินิกสัตวแพทย์ กทม.2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 0 2914 5822
  • คลินิกสัตวแพทย์ กทม.3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 0 2392 9278
  • คลินิกสัตวแพทย์ กทม.4 บางเขน เขตจตุจักร โทร. 0 2579 1342
  • คลินิกสัตวแพทย์ กทม.5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร. 0 2472 5895 ต่อ 109
  • คลินิกสัตวแพทย์ กทม.6 ช่วงนุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 0 2476 6493 ต่อ 1104
  • คลินิกสัตวแพทย์ กทม.7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร. 0 2411 2432

วิธีปฏิบัติเมื่อนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน

  • ควบคุมสัตว์เลี้ยงของตัวเองไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนกับคนอื่น 
  • เจ้าของต้องเก็บสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ของสัตว์ในที่สาธารณะ
  • หากนำสัตว์ออกนอกสถานที่ต้องใช้สายจูงหรือกรง

สุนัขควบคุมพิเศษ

ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงอยู่ในกลุ่มสุนัขควบคุมพิเศษ คือ พิตบูลเทอร์เรีย, บูลเทอร์เรีย, สแตฟฟอร์ดเชอร์ บูลเทอร์เรีย, ร็อตไวเลอร์ และฟิล่า บราซิเลียโร รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนเป็นสุนัขควบคุมพิเศษด้วย หากฝ่าฝืนจะมีโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535

เมื่อออกนอกสถานที่เลี้ยงต้องใส่อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มั่นคงแข็งแรง และจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตร ตลอดเวลา

ข้อกำหนดอื่น ๆ

  • หากมีการเปลี่ยนเจ้าของสุนัขและแมว ให้เจ้าของคนใหม่นำเอกสารไปยื่นแจ้งลงทะเบียนใหม่ด้วย 
  • หากมีการย้ายที่อยู่ หรือบัตรประจำตัวสุนัขและแมวหาย โดนทำลาย หรือชำรุด รวมถึงสุนัขและแมวตาย ให้เจ้าของไปแจ้งต่อหน่วยงานที่รับจดทะเบียนภายใน 30 วัน 
  • ในกรณีสุนัขหรือแมวหาย ให้เจ้าของไปแจ้งต่อหน่วยงานที่รับจดทะเบียนภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบ หากเจอสัตว์เลี้ยงสูญหายแล้วให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน 
  • หากเลี้ยงสัตว์เกินจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ก่อนวันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือก่อนวันที่ 15 มกราคม 2568 ให้แจ้งต่อสํานักงานเขต หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 14 เมษายน 2568

ทั้งนี้ หากใครมีข้อสงสัยสามารถอ่านประกาศฉบับเต็มได้จาก สรุปสาระสําคัญข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 หรือติดต่อสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ที่เบอร์ 0 2245 3311 หรือศูนย์ข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน เบอร์ 1111

ใครที่เลี้ยงสัตว์ประเภทหมา-แมว อย่าลืมพาเจ้าตัวน้อยไปฝังไมโครชิปและลงทะเบียนให้เรียบร้อยกันนะคะ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 อีกทั้งเพื่อเป็นการลดปัญหาสัตว์จรจัดที่เกิดจากการปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยง ทำให้สิ่งแวดล้อมในบ้านเมืองอยู่ในสภาพดี และมีฐานข้อมูลการเลี้ยงสัตว์สำหรับใช้ในการวางแผนควบคุมป้องกันโรคอีกด้วย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดกฎหมายเลี้ยงสัตว์ใน กทม. พร้อมวิธีขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของควรรู้ อัปเดตล่าสุด 23 เมษายน 2568 เวลา 15:45:19
TOP
x close