แนะนำวิธีกำจัดเห็บหมา ภัยเงียบที่เกาะตามติดตัวสุนัข ใครเลี้ยงหมาแล้วกำลังปวดหัวกับปัญหาเห็บอยู่ ลองทำตามนี้ได้เลย
ปัญหาเห็บหมานั้นถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่กวนใจคนเลี้ยงสุนัขไม่น้อยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่มักจะเจอเห็บเกาะบนตัวน้องหมามากกว่าปกติ ซึ่งเจ้าของก็จำเป็นต้องหาวิธีป้องกันและกำจัดเห็บไม่ให้มาเกาะและดูดเลือดน้องหมาแสนรักของเรา รวมถึงโรคร้ายต่าง ๆ ที่เห็บจะแพร่มาสู่น้องหมาและอาจรุนแรงถึงขั้นตายได้เลยทีเดียว โดยในวันนี้เราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับเห็บหมาและวิธีการกำจัดพวกมันกัน
ลักษณะของเห็บ ต่างจากหมัดยังไง
เห็บ (Ticks) จะมี 8 ขา ลักษณะคล้ายกับแมงมุม ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยเมื่อมันเกาะอยู่ที่ตัวน้องหมาจะดูดเลือดกินเป็นอาหาร และยังเป็นพาหะโรคอันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคลายม์ โรคเออร์ลิชิโอสิส และโรคอะนาพลาสโมซิส ทำให้น้องหมามีอาการเจ็บป่วยได้
ส่วนหมัด (Fleas) จะมี 6 ขา ขนาดเล็กและมีขายาวกว่าเห็บ ลำตัวมีสีดำ-น้ำตาล สามารถกระโดดได้สูงและค่อนข้างเร็ว เป็นพาหะที่ทำให้เกิดพยาธิตัวตืดได้
จุดที่พบเห็บหมาได้บ่อย
เห็บมักจะเกาะอยู่ที่จุดเดิม ๆ ซึ่งต่างจากหมัดที่มักจะกระโดดเกาะไปทั่วร่างกายของน้องหมา โดยมักจะพบเห็บได้บ่อยบริเวณหลังหู ใต้คอ ข้อศอก ใต้ขาหน้า โคนหาง ซอกนิ้วเท้าและอุ้งเท้า เจ้าของจึงควรตรวจหาเห็บในบริเวณเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ
สัญญาณที่บ่งบอกว่าหมามีเห็บ
เมื่อน้องหมามีเห็บ เจ้าของจะสามารถรู้ได้จากการสังเกตอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
-
มีอาการคัน ชอบเกาบริเวณหัวและใบหูบ่อย ๆ
-
จุดแดงบนผิวหนังที่อาจมาจากการถูกเห็บหรือหมัดกัด
-
พบเห็นเห็บภายในบ้านตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป
-
ตุ่มหรือผื่นบนผิวหนังที่อาจเกิดจากการแพ้หลังถูกเห็บกัด
วิธีกำจัดเห็บหมา
หากพบว่าน้องหมามีเห็บ อย่ารอช้า ควรรีบกำจัดเห็บด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ใช้ยากำจัดเห็บ
ใช้ยาที่ถูกผลิตมาสำหรับใช้ในการกำจัดเห็บโดยเฉพาะเท่านั้น ตอนนี้มีทั้งในรูปแบบของยาทา ยากิน ยาหยดหลัง ยาผสมน้ำอาบตัว และสเปรย์ โดยสามารถซื้อได้ตามร้านขายสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ หรือสั่งซื้อออนไลน์ แต่เจ้าของจะต้องอ่านฉลากและวิธีใช้ยาให้ดีก่อนซื้อยาไปใช้กับน้องหมาด้วย หรือถ้าหากไม่มั่นใจก็แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนใช้จะดีกว่า เพื่อป้องกันอันตรายหรืออาการแพ้
2. ปลอกคอกันเห็บ
การให้น้องหมาสวมใส่ปลอกคอที่ถูกผลิตมาสำหรับใช้ป้องกันเห็บ จะสามารถช่วยกำจัดและป้องกันเห็บบริเวณคอและหัวได้ดี โดยใส่ปลอกคอแบบเหลือช่องให้สามารถสอดนิ้วได้สองนิ้ว เพื่อไม่ให้ปลอกคอรัดแน่นเกินไป ตัดปลอกคอส่วนที่ยาวเกินไปทิ้งเพื่อไม่ให้น้องหมากัดแทะเล่น นอกจากนี้ให้คอยสังเกตหลังใส่ปลอกคอด้วยว่าน้องมีอาการแพ้หรือไม่ เช่น เกาบริเวณคอบ่อยผิดปกติ
3. แป้งกำจัดเห็บ
เลือกใช้แป้งที่มีคุณสมบัติในการกำจัดเห็บและสำหรับใช้กับสุนัขโดยเฉพาะ โดยควรอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนด้วยว่าสามารถใช้กับน้องหมาวัยไหนได้บ้าง รวมทั้งวิธีใช้แป้งต่าง ๆ เช่น ปริมาณและความถี่ในการใช้แป้ง ซึ่งทั่วไปแล้วมักจะเหมาะสำหรับใช้ทาบาง ๆ บนตัวน้องหมา ยกเว้นบริเวณใบหน้า หรืออาจโรยแป้งไว้ในบริเวณที่นอนของน้องหมาและจุดต่าง ๆ ของบ้านก็ได้
4. แชมพูกำจัดเก็บ
แชมพูที่ใช้อาบน้ำให้กับน้องหมานั้นก็มีสูตรที่สามารถช่วยกำจัดเห็บให้เลือกใช้ได้เช่นกัน แต่เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของยา ก่อนซื้อมาใช้จึงควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อน โดยแนะนำให้อาบแบบย้อนขนขึ้น เน้นบริเวณที่มักมีเห็บเกาะอยู่ โดยเฉพาะตามซอกต่าง ๆ เช่น โคนขา โคนหาง และอุ้งเท้า
5. ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย
หมั่นทำความสะอาดบ้านและสวนรอบ ๆ บ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่น้องหมาชอบอยู่เป็นประจำ รวมทั้งบริเวณซอกหลืบ มุมต่าง ๆ ของบ้าน และที่อับชื้น ซึ่งการใช้เครื่องดูดฝุ่นก็สามารถช่วยดูดกำจัดเห็บและไข่ของมันได้ดี อาจใช้การพ่นยากำจัดเห็บรอบ ๆ ตัวบ้าน แต่ก็ต้องระวังผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงภายในบ้านด้วย
6. ตรวจหาเห็บที่ตัวสุนัข
เจ้าของควรหมั่นตรวจหาเห็บตามบริเวณต่าง ๆ บนตัวของน้องหมา ถ้าหากพบเห็บเกาะอยู่แม้แต่ตัวเดียวให้รีบกำจัดออกทันที รวมทั้งหาวิธีต่าง ๆ เพื่อใช้ในการป้องกันเห็บไม่ให้มาเกาะกินดูดเลือดน้องหมาอีก
นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจะกำจัดเห็บได้แล้ว ก็ควรพยายามป้องกันไม่ให้เห็บกลับมาทำร้ายน้องหมาได้อีก ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่ปล่อยให้น้องหมาเที่ยวเล่นนอกบ้านตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในสถานที่หรือฤดูที่มีเห็บชุกชุม โดยเฉพาะในที่ที่เป็นป่ารกร้าง
เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีกำจัดเห็บหมา :
ขอบคุณข้อมูลจาก : vet.ku.ac.th, headsupfortails.com, ccspca.com, wetpawsdoggrooming.com และ go-forth.com