การป้องกันโรคเหงาในสุนัข





โรคเหงาในสุนัข  (โลกสัตว์เลี้ยง)

          ความเหงานั้นเป็นอารมณ์ที่เกิดมาในห้วงระยะเวลาหนึ่ง ทุกคนอาจมีความรู้สึกได้ในอารมณ์นี้ อย่าว่าแต่คนเลย เชื่อไหมว่าขนาดสุนัขยังเป็นโรคเหงาได้เลย วันนี้เลยนำเสนอเรื่อง การป้องกันโรคเหงาในสุนัขมาฝากกัน

อย่างไรที่เรียกว่าโรคเหงา

          คุณคงไม่สามารถที่จะอยู่กับสุนัขได้ตลอดเวลา สุนัขของคุณชอบเห่า ปัสสาวะเรี่ยราด หรือชอบทำลายข้าวของบ้างหรือเปล่า ถ้าเป็นอาจจะแสดงว่าสุนัขของคุณเป็นโรคเหงา สุนัขเป็นสัตว์สังคม สุนัขป่าก็ยังอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง สุนัขบ้านจะถือว่าสมาชิกในครอบครัวคือฝูงของมันเช่นเดียวกัน สุนัขที่สนิทกับเจ้าของหรือสมาชิกในครอบครัวมาก ๆ จะเกิดอาการเครียดและเหงาเมื่อถูกปล่อยให้อยู่เพียงลำพัง โดยแสดงออกด้วยการเห่า ขุด กัดแทะ และพยายามทำลายข้าวของในบ้าน

          คุณต้องเข้าใจว่าสุนัขของคุณไม่ได้มีเจตนาแกล้ง เพียงแต่มันรู้สึกไม่สบายใจเวลาที่ต้องอยู่เพียงลำพัง และพยายามที่จะหาทางไปหาเจ้าของให้ได้ เช่น การขุด กัดแทะประตู หรือทำไปเพื่อผ่อนคลายอารมณ์เครียด เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ หรือรื้อข้าวของในบ้านมากัดเล่น

แล้วสุนัขของคุณเป็นโรคเหงาหรือเปล่า

          คุณจะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขของคุณเป็นโรคเหงา การที่สุนัขเห่า กัดทำลายของ หรือ ขุดคุ้นทำลายสวนสวยของคุณ ไม่ได้เป็นอาการของโรคเหงาเพียงอย่างเดียว อาจจะมีอย่างอื่น เช่น คันฟัน ปวดฟัน ฯลฯ ซึ่งต้องให้สัตวแพทย์ตรวจดูว่าไม่ได้มีสาเหตุจากโรคเหล่านี้ก่อน

          สุนัขที่เป็นโรคเหงามักจะแสดงอาการเมื่อเจ้าของไม่อยู่ด้วย หรือเห็นเจ้าของแต่เจ้าของไม่มาหาสัตว์ก็จะแสดงอาการกระวนกระวาย เช่น เวลาถูกล่ามโซ่ ลองอ่านต่ออีกสักนิดสัตว์เลี้ยงของคุณอาจจะหายจากโรคเหงาได้

          การแก้อาการเหงาเป็นเรื่องที่คุณต้องทำงานมากทีเดียว แต่คุณก็จะประหลาดใจที่สุนัขสามารถตอบสนองต่อขั้นตอนที่คุณวางไว้ได้อย่างดีทีเดียว

มาช่วยสุนัขของคุณให้หายจากโรคเหงากันดีกว่า

          มีขั้นตอนหลายขั้นทีเดียวในการรักษาอาการอยู่ตัวเดียวไม่ได้ ซึ่งต้องทำไปพร้อม ๆ กันหลาย ๆ ขั้นพร้อม ๆ กันไป เป้าหมายของแต่ละขั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ

          - ลดความต้องการอยู่ใกล้ชิดเจ้าของของสุนัข
          - เพิ่มความมั่นใจให้กับสุนัข

          สุนัขที่มีความมั่นใจในตัวเองจะไม่กังวลกับการที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน หรือถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง และจะไม่ทำลายข้าวของของคุณ เช่น เฟอร์นิเจอร์ราคาแพง แต่ไม่ได้หมายความว่าสุนัขจะเฉยหรือเย็นชาเมื่อเห็นคุณ เพียงแต่สุนัขเกิดความมั่นใจว่าคุณจะไม่ได้ทิ้งเขาไปเฉย ๆ โดยไม่กลับมา ดังนั้นคุณต้องให้สุนัขมั่นใจว่าทุกครั้งที่คุณออกจากบ้านไปคุณจะกลับมาหาเขาทุกครั้ง

          ขั้นแรก ลดอาการดีใจหรือเสียใจสุดเหวี่ยง เมื่อเวลาที่คุณเข้าหรือออกจากบ้าน

          เมื่อเจ้าของกลับมาบ้านหรือออกจากบ้านทุกครั้ง ทั้งสองอย่างก่อให้เกิดความเครียดในตัวสุนัขอย่างมาก พฤติกรรมทำลายข้าวของจะเกิดทันทีที่เจ้าของก้าวเท้าออกจากบ้าน หรือก้าวเท้าเข้ามาในบ้าน (โดยเฉพาะผู้ที่กลับบ้านตรงเวลา) การลดความเครียดของสุนัขในเรื่องนี้ทำโดยอย่าทำให้สุนัขตื่นเต้นเมื่อเวลาเจ้าของเข้าหรือออกจากบ้าน โดยทำทีไม่สนใจตัวสุนัขสัก 5 นาที ขณะที่คุณเตรียมเก็บเอกสารหรือข้าวของ เช่น กุญแจ เสื้อคลุม ฯลฯ ทำอย่างปกติเรียบ ๆ ก่อนออกอาจจะกล่าวคำว่าสวัสดีหรือบ๊ายบาย ด้วยน้ำเสียงปกติแล้วเดินออกจากบ้านไปอย่างปกติธรรมดา อย่ากล่าวคำสั่งเสียกับสุนัข เช่น ดูแลบ้านให้ดีนะ อย่ากัดทำลายของ ฯลฯ เพราะจะไปกระตุ้นให้สุนัขเกิดความตื่นตัวก่อนที่เราจะออกจากบ้าน เพราะจะทำให้สุนัขรู้สึกว่าถูกทิ้งตามลำพังซึ่งสุนัขจะรู้สึกว่าแย่ การที่ทำทีไม่สนใจสุนัขเขาจะเข้าใจว่าคุณอยู่บ้านในที่ใดสักแห่งที่เขาไม่เห็น

          เวลากลับเข้าบ้านก็เช่นเดียวกัน ทำเป็นไม่เห็นสุนัขของคุณสัก 5 นาที ขณะเดียวกันคุณก็วางข้าวของของคุณตามปกติ อย่าพูดกับสุนัขยกเว้นดุให้เขาสงบลง สำหรับสุนัขที่ควบคุมยากให้ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง อย่าทักทายสุนัขจนกว่าสุนัขจะสงบลง จึงกล่าวคำทักทาย เช่น ตบเบา ๆ ที่ไหล่แล้วกล่าวคำว่าสวัสดี แต่อย่าทำให้สุนัขตื่นเต้นดีใจอีก

          ข้อควรระวังคือ ห้ามลงโทษสุนัขเมื่อกลับเข้ามาในบ้าน ไม่ว่าสุนัขของคุณจะทำลายข้าวของเสียหายขนาดไหนก็ตาม เพราะสุนัขอาจจะคิดว่าคุณทำโทษเขาเพราะเขาอยู่เพียงลำพัง ซึ่งจะยิ่งทำให้แย่ลงไปอีก ถ้าสุนัขเคยฝึกให้อยู่ในที่เฉพาะก็จะยิ่งง่าย แต่สุนัขบางตัวก็อาจยิ่งมีอาการตื่นกลัวเมื่อถูกจำกัดบริเวณหรืออยู่ในที่แคบ โดยเฉพาะในกรงของสุนัข กรณีนี้ไม่ควรให้สุนัขอยู่ในกรง

          ขั้นที่ 2 จำกัดบริเวณสุนัข

          วัตถุประสงค์เพื่อลดการทำลายข้าวของในบ้านให้น้อยลง ถ้าเจ้าของทำได้ควรจำกัดบริเวณที่สุนัขอยู่ให้แคบลง เพื่อลดการทำลายข้าวของ

          ขั้นที่ 3 หาอะไรให้สุนัขทำ

          อย่างเช่นหาของเล่นพวกของแทะหรือกระดูกเทียมหรือสิ่งที่สุนัขชอบ ของเล่นที่มีโพรงข้างในอาจใส่ขนมล่อใจที่สัตว์ชอบสุนัขเพื่อให้สุนัขพยายามแคะออกมากิน หรือห่อขนมไว้ในกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วใส่ไว้ในกล่องอีกทีแล้วปิดเทปกาวทับ สุนัขก็จะพะวงกับการเอาขนมออกจากกล่อง สุนัขก็จะไม่มีเวลาไปทำลายข้าวของในบ้าน แต่สุนัขบางตัวก็ไม่ยอมรื้อขนมออกจากกล่องที่ท่านทำไว้ ท่านเจ้าของต้องพยายามล่อใจให้สุนัขสาละวนกับของที่ให้ไว้ก่อนออกจากบ้าน

          ขั้นที่ 4 ภาวะที่สุนัขจะยอมรับเมื่อเจ้าของออกจากบ้าน

          ขั้นนี้เป็นขั้นที่สำคัญที่สุด และต้องใช้ระยะเวลานานที่สุดท่านต้องใจเย็นมากๆ สุนัขที่เฝ้าดูเจ้าของเก็บกุญแจบ้าน, กุญแจรถ, กระเป๋าถือฯลฯ เวลาที่เจ้าของออกจากบ้าน สุนัขที่เป็นโรคเหงาจะเริ่มแสดงอการเมื่อเจ้าของก้าวไปที่ประตูบ้าน เจ้าของต้องรอจนกว่าสุนัขจะคลายความตื่นเต้นหรือกังวลลงเพื่อให้สุนัขตายใจว่าท่านไม่ได้กำลังออกจากบ้าน และเจ้าของต้องไม่เปิดประตูหรือทำท่าว่าจะออกไปจากบ้าน เมื่อสุนัขผ่อนคลายความกังวลลงให้ขนมหรือของที่สุนัขชอบ เจ้าของอาจต้องทำท่าอย่างที่กล่าวซ้ำหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้สุนัขไม่แสดงอาการกังวล ขั้นต่อไปคือทำท่าทางเก็บข้าวของออกจากบ้านเดินตรงไปที่ประตูแล้วเปิดประตูแต่อย่าก้าวเดินออกไปเป็นอันขาด แค่เดินไปเปิดแล้วปิด ทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้งจนสุนัขรู้สึกชินและเฉยจึงให้รางวัลล่อใจ ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ทำซ้ำควรเว้นระยะห่างประมาณ 5-10 นาที ขั้นต่อไปคือทำท่าเก็บข้าวของออกจากบ้านเดินไปที่ประตู เปิดประตูแล้วเดินออกไปแต่อย่าปิดประตู ทำซ้ำเช่นเดิมจนสุนัขชินจึงให้รางวัล

          ขั้นต่อมาคือทำท่าเหมือนจะออกจากบ้านแล้วเดินไปที่ประตูเปิดแล้วเดินออกจากประตูพร้อมกับปิดประตู

          แต่ท่านเจ้าของต้องรีบเข้ามาถ้าสุนัขเริ่มมีความระแวง ถ้าสุนัขเฉยท่านรอสัก 30 วินาทีค่อยเดินเข้าประตูมา เจ้าของสุนัขต้องทำเช่นที่กล่าวซ้ำ ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาที่อยู่นอกประตูให้นานขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าสุนัขจะชิน เช่นเพิ่มเวลาจาก 30 วินาทีเป็น 1 นาที, 2 นาที, 5 นาที, 10 นาที, 20 นาที, เพิ่มไปเรื่อย ๆ จนเป็นชั่วโมง สุนัขแต่ละตัวอาจต้องการเวลาในการฝึกแตกต่างกัน เมื่อเพิ่มเวลาอยู่นอกบ้านของเจ้าของได้เป็นชั่วโมงก็ง่ายที่จะเพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ จนถึง 7-8 ชั่วโมง

          สุนัขจะกังวลมากเมื่อถูกทิ้งไว้ตัวเดียว โดยแสดงอาการต่าง ๆ เช่น ครางหงิง ๆ, เห่า, ขุด, แทะ, หอน, ปัสสาวะเรี่ยราด, วิ่งวนไปรอบ ๆ, พยายามหลบหนีออกนอกกรงหรือบ้าน สุนัขที่ขี้เหงามักจะอ้อนเจ้าของค่อนข้างมาก และต้องการเวลาทักทายกับเจ้าของเวลาพบเจ้าของหลังเวลาเลิกงานนานกว่าสุนัขปกติ สุนัขพวกนี้มักเดินตามเจ้าของไปรอบบ้าน กระโดดหรือเข้ามาคลอเคลีย เห่า ครางหงิงหรือเลียมือและหน้าเจ้าของเป็นเวลานานๆ

ถ้าสุนัขไม่ดีขึ้นจะทำอย่างไร

          โรคเหงาเป็นอาการที่รักษาได้ยากและสุนัขบางตัวก็ไม่คลายกังวลเมื่อเวลาอยู่ตัวเดียว ถ้าเป็นเช่นนี้ท่านลองส่งสุนัขไปฝึกกับครูฝึกสุนัข อาจจะช่วยได้ หรือบางรายอาจต้องให้ยาคลายเครียดซึ่งได้ผลดีปรึกษาสัตวแพทย์ดูได้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การป้องกันโรคเหงาในสุนัข อัปเดตล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2561 เวลา 18:42:31 93,081 อ่าน
TOP
x close