1. อาหารลูกสุนัขวัยแรกเกิด
2. อาหารลูกสุนัขอายุ 2-4 เดือน
คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มเลี้ยงสุนัขหลังจากหย่านมแล้ว คือ ช่วงอายุประมาณ 2-4 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่ไม่ควรเปลี่ยนอาหารมากเท่าไรนัก เพราะอาจจะทำให้ปวดท้องได้ ฉะนั้นคนขายมักจะแนะนำและบอกข้อมูลของอาหารชนิดเดิมมาให้เสมอ เพื่อให้ผู้เลี้ยงนำมาผสมกับอาหารใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ควรผสมอาหารใหม่ในปริมาณเล็กน้อย จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งลูกสุนัขรู้สึกคุ้นเคยกับอาหาร
ซึ่งอาหารที่เหมาะสำหรับลูกสุนัขวัย 2-4 เดือน คือ อาหารเม็ดที่มีคุณภาพสูงและเป็นสูตรสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ เนื่องจากลูกสุนัขจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลาย เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต โดยสารอาหารที่ลูกสุนัขหลังหย่านมต้องการ ได้แก่ โปรตีน ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อแข็งแรง คาร์โบไฮเดรต ที่ช่วยให้พลังงาน แคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน รวมถึงวิตามินซี วิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วย
ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงสามารถให้เนื้อสัตว์และผักหรือข้าวที่ปรุงสุกกับลูกสุนัขได้ตามต้องการ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและสมดุลกับอาหารเม็ด ทว่าทางที่ดีควรให้อาหารเม็ดเป็นหลัก นอกจากนี้ต้องหลีกเลี่ยงอาหารดิบอย่างเด็ดขาด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของสุนัขยังไม่ดีนัก จึงไม่สามารถรับมือกับแบคทีเรียได้
ส่วนปริมาณและความถี่ในการให้อาหารลูกสุนัขวัย 2-4 เดือน ควรแบ่งออกเป็นมื้อเล็ก ๆ แล้วให้อย่างสม่ำเสมอแทน เนื่องจากลูกสุนัขวัยนี้ต้องการสารอาหารและพลังงานสูงและบ่อยนั่นเอง
3. อาหารลูกสุนัขอายุ 4 เดือนขึ้นไป
ลูกสุนัขอายุตั้งแต่ 4 เดือน - 1 ปี อยู่ในวัยกำลังโต จึงต้องการอาหารที่ให้พลังงานที่สูงกว่าสุนัขโตเต็มวัย ฉะนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขวัยกำลังโตโดยเฉพาะ โดยสัตวแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าควรให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขวัยกำลังโตไปจนกว่าสุนัขจะมีขนาดประมาณ 90% ของสุนัขโตเต็มวัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่อายุประมาณ 12 เดือน สำหรับสุนัขขนาดกลาง และอายุประมาณ 18 เดือน สำหรับสุนัขขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม สำหรับสุนัขขนาดใหญ่ เช่น เกรตเดน, ร็อตไวเลอร์, ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขวัยกำลังโตที่เหมาะกับสุนัขขนาดใหญ่โดยเฉพาะ เพราะสุนัขเหล่านี้โตค่อนข้างเร็ว จึงมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกเจริญผิดปกติได้ถ้าหากได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในอาหารที่เหมาะกับสุนัขขนาดใหญ่จะมีการควบคุมปริมาณแคลอรีและสารอาหารที่สุนัขควรจะได้รับในแต่ละวันมาอย่างละเอียดแล้วนั่นเอง
นอกเหนือจากนี้ ลูกสุนัขอายุ 4 เดือน เป็นวัยที่ฟันแท้กำลังขึ้น จึงต้องการอาหารที่ช่วยกระตุ้นฟัน เช่น กระดูกติดเนื้อดิบ โดยทางที่ดีควรเลือกให้มีเนื้อติดสักหน่อย และกระดูก 1 ชิ้น สามารถให้ลูกสุนัขแทะได้นานถึง 1 สัปดาห์
ส่วนเรื่องการเปลี่ยนอาหาร ให้สังเกตพฤติกรรมของสุนัขทุกครั้งที่เปลี่ยน เพราะสุนัขอาจจะเกิดอาการแพ้อาหารได้ สำหรับความถี่ในการให้อาหารลูกสุนัขวัย 4 เดือนขึ้นไป สามารถลดลงมาเหลือวันละประมาณ 2 ครั้งได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดปริมาณให้พอดี อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา
4. อาหารสุนัขโตเต็มวัย
สุนัขโตเต็มวัยอยู่ในช่วงอายุ 1-5 ปี สำหรับสุนัขพันธุ์เล็ก และ 1 ปีครึ่ง - 7 ปี สำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่ ซึ่งมีอาหารให้เลือกมากมาย และต้องการบริโภควันละประมาณ 1-2 ครั้ง โดยผู้เลี้ยงควรเลือกเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูง พร้อมตรวจสอบสารอาหารให้เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัว ถ้าเป็นไปได้ควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์จะดีที่สุด เนื่องจากสุนัขโตเต็มวัยแต่ละตัวมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องการอาหารที่แตกต่างกัน เช่น สุนัขที่ทำหมันแล้วและระบบเผาผลาญทำงานช้าลง จะต้องการอาหารสูตรพิเศษ สุนัขที่น้ำหนักเกิน จะต้องการอาหารที่ช่วยควบคุมไขมัน สุนัขที่น้ำหนักน้อย จะต้องการอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย และสุนัขที่เป็นโรคต่าง ๆ จะต้องการอาหารที่ผลิตมาโดยเฉพาะ
นอกเหนือจากนี้ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารสุนัขโตเต็มวัยได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ผัก ปลา กระดูกติดเนื้อดิบ รวมถึงเนื้อสัตว์ทั้งสุกและดิบ ซึ่งสิ่งสำคัญก็เหมือนเดิมคือ การกะปริมาณให้เหมาะสมและสมดุลกับอาหารเม็ด
5. อาหารสุนัขแก่
เมื่อสุนัขมีอายุเพิ่มมากขึ้น อาหารการกินก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยสุนัขแก่จะอยู่ในช่วงอายุ 6-8 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนมาให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขแก่โดยเฉพาะ และควรแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่ให้บ่อย ๆ แทน
โดยวิธีเลือกสูตรอาหารให้เหมาะสมกับสุนัขแก่แต่ละตัวจะแตกต่างกันไปตามพฤติกรรม สุขภาพ และสภาพร่างกาย สามารถปรึกษาสัตวแพทย์หรือสังเกตด้วยตัวเองก็ได้ ตัวอย่างเช่น สุนัขที่ทำกิจกรรมน้อยลง ให้เปลี่ยนมาใช้อาหารสูตรไดเอตที่มีปริมาณแคลอรีและไขมันน้อยกว่าปกติเพื่อป้องกันปัญหาน้ำหนักเกิน พร้อมทั้งเพิ่มไฟเบอร์ช่วยเสริมการย่อยสลาย และโปรตีนช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงไปในตัว หรือสุนัขที่เป็นโรคไขข้ออักเสบ ให้เปลี่ยนมาใช้อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และกรดไขมันเพื่อช่วยลดอาการอักเสบ พร้อมทั้งเพิ่มกลูโคซามีนและคอนดรอยทินเพื่อช่วยเสริมข้อต่อให้แข็งแรง
นอกเหนือจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง เพราะจะทำให้สุนัขแก่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและโรคไตได้ง่าย โดยควรหันมาบริโภคสาหร่ายทะเลบ่อย ๆ เพราะอุดมไปด้วยไอโอดีนที่ช่วยเสริมการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือจะเป็นเมล็ดจากต้นลินินหรือเมล็ดแฟลกซ์ก็ดีงามไม่แพ้กัน เพราะช่วยบำรุงสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น ช่วยดูแลอวัยวะในร่างกายและบำรุงผิวพรรณให้ดูดี
จะเห็นได้ว่าสุนัขแต่ละวัยต้องการอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นในเมื่อเลี้ยงเขาแล้ว ก็ต้องใส่ใจและดูแลให้เหมาะสม จะได้ทำให้สุนัขอยู่เป็นเพื่อนซี้สี่ขาของเราไปได้นาน ๆ นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก pedigree, telegraph, petmd และ rspcapetinsurance