x close

สืบเสาะชาติกำเนิด แมวเบงกอล


แมวเบงกอล
แมวเบงกอล

แมวเบงกอล
แมวเบงกอล


สืบเสาะชาติกำเนิด แมวเบงกอล (Cat Magazine)
โดย ส้มซ่าน้อยตัวใหญ่


         เบงกอล เป็นแมวที่สืบเชื้อสายมาจากแมวดาวเอเชีย (Asian Leopard Cat) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Felis prionailurus bengalensis ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเสือดาวขนาดย่อส่วน มีขนเป็นลายจุดประดับทั่วลำตัว ทั้งยังมีความสามารถในการว่ายน้ำและเป็นนักจับปลาตัวฉกาจ

         เมื่อปี 1963 ผู้เพาะพันธุ์แมวชาแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา Jean Mill ได้แมวป่าเพศผู้สายพันธุ์นี้มาไว้ในครอบครัวหนึ่งตัว เธอพยายามผสมข้ามสปีชีส์ ด้วยความหวังว่าจะได้แมวบ้านที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกับแมวป่า โดยนำแมวสายพันธุ์อเมริกัน ช็อตแฮร์ มาใช้เป็นแม่พันธุ์ จนได้ลูกแมวที่มีขนตามตัวเป็นลายจุดแสนสวย แต่ในขั้นต้นยังไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นได้แมวสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตลูกแมวที่โครงสร้างทางพันธุกรรมมีความนิ่งเพียงพอได้

         ในปี 1973 สิบปีถัดจากนั้น Jean Mill ได้ติดต่อกับ Dr.Willard Centerwall จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกำลังวิจัยเรื่องภูมิต้านทานไวรัสลิวคีเมียในแมว โดย Dr.Centerwall ค้นพบว่า แมวดาวเอเชีย มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส จึงได้นำแมวดาวเอเชียมาผสมข้ามสปีชีส์กับแมวบ้าน แล้วเก็บตัวอย่างเลือดจากแมวลูกผสมระหว่างแมวดาวกับแมวบ้านรุ่นที่ 1 อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในครั้งนั้นยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ และโครงการวิจัยดังกล่าวได้ถูกระงับในที่สุด

         Dr.Centerwall เล็งเห็นว่า แมวพันธุ์ผสมที่นำมาใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัยเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีที่พักอาศัย จึงได้มอบแมว จำนวน 8 ตัว ให้แก่ Jean Mill ซึ่งเธอได้นำไปเข้ากระบวนการคัดเลือกพันธุ์เป็นเวลา 10 ปี จนในปี 1983 แมวต้นแบบของสายพันธุ์เบงกอลที่เธอตั้งชื่อให้ว่า "Millwood Finally Found" ก็ได้รับการจดทะเบียนกับ The International Cat Association (T.I.C.A.) หลังจากที่มุ่งมั่นพัฒนาสายพันธุ์แมวมาเป็นเวลายี่สิบปี ผลของพยายามของเธอก็ได้รับการยอมรับในที่สุด

วิวัฒนาการ เจ้าแมวเบงกอล

         ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เบงกอล เป็นแมวที่สืบเชื้อสายมาจากแมวดาวเอเชีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของที่มาชื่อสายพันธุ์แมวเบงกอลนั่นเอง โดยต้นกำเนิดของแมวเบงกอลเริ่มต้นจากการนำแมวดาวเอเชียมาผสมข้ามเผ่าพันธุ์กับแมวบ้าน เมื่อได้ลูกแมวจากการผสมก็จะเรียกลูกแมวนั้น ๆ โดยใช้รหัสว่า F1 ซึ่งมาจาก Filial 1 มีความหมายตรงตามตัวคือ ผลผลิตจากการผสมข้ามเผ่าพันธุ์รุ่นที่ 1

         ลำดับต่อมาคือลูกแมวที่แม่พันธุ์ F1 ได้ให้กำเนิดจากการผสมข้ามเผ่าพันธุ์อีกครั้ง จะเรียกว่า F2 ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ลูกแมวเพศผู้ที่เป็นเลือดผสมในช่วงแรกนั้นจะเป็นหมันทั้งหมด เพราะเป็นการผสมข้ามสปีชีส์ ขั้นตอนการพัฒนาสายพันธุ์แมวดาวให้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน จึงใช้แมวบ้านเป็นพ่อพันธุ์ และใช้แมวพันธุ์ผสมตระกูล F เป็นแม่พันธุ์เสมอ จนกระทั่งการผสมกับรุ่นที่ 3 ออกมาเป็นรุ่นที่ 4 จึงจะพบว่ามีลูกแมวตัวผู้ที่ไม่เป็นหมันให้นำมาใช้เป็นพ่อพันธุ์ได้ในที่สุด

         หลังจากการพัฒนาสายพันธุ์ตามลำดับขั้นตอนเรื่อยมา จนได้แมวรหัส F4 หรือรุ่นที่ 4 ซึ่งได้รับการยอมรับจาก Governing Council of thd Cat Fancy (GCCF) แห่งประเทศอังกฤษเข้าร่วมการประกวดได้ แต่ทั้งนี้ ทั้งสมาคมและผู้เพาะพันธุ์แมวก็ยังไม่แนะนำให้เลือกแมวในกลุ่มนี้มาเป็นสัตว์เลี้ยง ด้วยเหตุที่เจ้าแมวกลุ่มนี้ยังคงหลบหน้าผู้คนเช่นเดียวกับสัตว์ป่า ทั้งยังหลงเหลือสัญชาตญาณในการใช้ชีวิตกลางคืน และเป็นการยากที่จะปรับให้เป็นสัตว์เลี้ยงที่ดีของมนุษย์ได้

         จากเหตุผลดังกล่าว กลุ่มผู้เพาะพันธุ์จึงได้มีการเพาะพันธุ์อีกครั้งจนได้แมว F5 หรือรุ่นที่ 5 ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับครอบครัวมนุษย์ได้ดีกว่า จึงจะนับว่าเป็นแมวเบงกอลโดยสมบูรณ์


แมวเบงกอล
แมวเบงกอล


ลักษณะนิสัย และการเป็นสมาชิกในครอบครัว

         เจ้าเสือจิ๋วเบงกอล เป็นแมวที่มีอุปนิสัยร่าเริง กระตือรือร้น กระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไว เป็นตัวจี๊ดเจ้าลงกรด ผู้ชื่นชอบการวิ่งเล่น กระโดด และปีนป่าย เป็นแมวที่รักการเข้าสังคม สามารถอาศัยอยู่ในครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นได้ด้วยความยินดี

         เจ้าเหมียวเบงกอล อาจไม่ใช่แมวสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับทุกครอบครัวเสมอไป และคู่ควรกับครอบครัวที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงแมวมากกว่าจะเป็นครอบครัวของพ่อแม่แมวมือใหม่ ผู้เลี้ยงแมวเบงกอลอาจต้องมอบเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันเพื่อการปฏิสัมพันธ์กับเจ้าเหมียว เพราะเขาต้องการให้สมาชิกในครอบครัวมอบความสำคัญให้เขาเป็นลำดับแรกเสมอ ต้องการอยู่ร่วมกันกับเจ้าของตลอดเวลา

         นอกจากนี้ แมวเบงกอล ยังจัดเป็นแมวช่างจำนรรจา รักการเล่นสนุก สามารถฝึกให้เล่นคาบของได้ไม่ต่างจากสุนัข แถมยังเล่นได้ไม่รู้เบื่อ ทั้งยังคงไว้ซึ่งลักษณะเด่นของตระกูลแมวป่าอันเป็นเอกลัษณ์ประจำสายพันธุ์ นั่นคือความชื่นชอบเล่นน้ำเป็นที่สุด

         ด้วยเสน่ห์ของเจ้าเหมียวเบงกอล ที่เพียบพร้อมทั้งรูปลักษณ์ภายนอก จากมาดอันสุดเท่ราวกับเอาเสือดาวมาย่อส่วน พร้อมทั้งอุปนิสัยอันแสนวิเศษที่เป็นผลจากการพัฒนาสายพันธุ์มาเป็นอย่างดี ก็เพียงพอให้เป็นแมวอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่คนรักแมวต่างหมายปองเป็นเจ้าของแล้วล่ะ







ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สืบเสาะชาติกำเนิด แมวเบงกอล อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2559 เวลา 13:36:26 21,545 อ่าน
TOP