โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง... ในน้องหมาก็มีนะ (Dogazine)
โดย สพ.ญ.ปิยกาญ โรหิตาคนี
เมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงมีโอกาสได้ยินข่าวคราวผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เรื่องที่ดาราสาวสวยชื่อดัง โอ๋ ภัคจีรา ป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ชัด จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเหตุการณ์นั้นก็ทำให้ผู้คนในสังคมได้รู้จักโรคที่มีชื่อว่า MG นี้ ซึ่งใช่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในคนเท่านั้น แต่ในน้องหมาก็สามารถพบได้เช่นกัน เรามาดูกันดีกว่าว่า หากน้องหมาของเราต้องป่วยเป็นโรคที่ว่านี้ เขาจะมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง ?!?
โรค MG เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบประสาทสั่งการของน้องหมา มีผลทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายเป็นอัมพาต สามารถเกิดขึ้นได้ในน้องหมาทุกอายุ และเกิดได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย แต่จากการศึกษา พบว่า มีสุนัขบางสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ นั่นคือ สุนัขพันธุ์ อาคิตะ สกอตทิช เทอร์เรียร์ และชิวาว่า
คราวนี้ เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อในน้องหมากันนะคะ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อน้องหมาต้องการเคลื่อนไหว ในน้องหมาปกติ จะมีการหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Acetylcholine ออกมา เพื่อขนส่งกระแสประสาทไปยังตัวรับ (Acetylcholine Receptor) และกระตุ้นให้สมองสั่งการ ทำให้สามารถสั่งกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไหวไปอย่างที่ต้องการได้ แต่ในน้องหมาที่ป่วยเป็นโรค MG จะมีการผลิตแอนตี้บอดี้ จากร่างกายขึ้นมา ซึ่งเจ้าแอนตี้บอดี้นี้ จะไปขัดขวางการรับสารสื่อประสาทของตัวรับ ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการและกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไม่ได้ตามต้องการ จึงมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในที่สุด ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้คือ อาเจียน กลืนอาหารลำบาก และการเห่าผิดปกติไป เป็นต้น
สำหรับการวินิจฉัยโรค MG ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากอาการอ่อนแรงเป็นอาการที่สามารถพบได้ในหลายโรค จึงจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยแยกโรค โดยค่อย ๆ ตัดไปทีละโรค อาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบภาวะการติดเชื้อและค่าตับ ค่าไต หรืออาจต้องทำการเอ็กซเรย์ เพื่อดูว่ามีภาวะหลอดอาหารขยายใหญ่หรือไม่ (80% ของน้องหมาที่ป่วยโรค MG จะมีหลอดอาหารที่ขยายใหญ่กว่าปกติ) รวมถึงการทำ Anti-Acetycholine Receptor Antibody Test เมื่อไม่พบโรคอื่น ๆ แล้วจึงค่อยพิจารณารักษาในแนวทางของโรค MG โดยการให้สุนัขลองทานยา แล้วสังเกตอาการว่า ดีขึ้นหรือไม่
การรักษาโรค MG สามารถทำได้โดยการให้ยาไปกดภูมิคุ้มกันเอาไว้ ไม่ให้ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้ออกมา ซึ่งไปขัดขวางการรับส่งกระแสประสาท รวมทั้งอาจให้ยาที่มีในการช่วยทำลายแอนตี้บอดี้ หรือสุดท้ายก็คือ การรักษาโดยการผ่าตัด "ต่อมไธมัส" ซึ่งทำหน้าที่ผลิตแอนตี้บอดี้ออกมา แต่ในน้องหมาพบว่า การผ่าตัดต่อมไธมัส มักให้ผลทางการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี โรค MG พบได้น้อยในน้องหมา แต่ถ้าเป็นแล้ว ก็ยากที่จะรักษาให้หายขาด เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดผู้เลี้ยงก็ควรจะได้มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ติดตัวไว้บ้าง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หากน้องหมาของเราต้องโชคร้าย เจอแจ็กพ็อต ป่วยเป็นโรคนี้ในภายภาคหน้า ^__^
ขอขอบคุณข้อมูลจาก