ทำความรู้จัก ปลานิล ปลาพระราชทานจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9


ปลานิล

          ทำความรู้จัก ปลานิล ปลาพระราชทานจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อความอยู่ดีกินดีของปวงชนชาวไทย และวิธีการเลี้ยงปลานิลแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งการนำไปทำประโยชน์ต่าง ๆ

          คนไทยก็คุ้นเคย "ปลานิล" มานาน แต่รู้หรือไม่ว่าปลานิลนั้นไม่ใช่ปลาของไทย แต่มีถิ่นกำเนิดจากต่างแดน ก่อนจะถูกนำมาเพาะพันธุ์ในไทย เนื่องด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาเพาะเลี้ยงและทรงพระราชทานชื่อภาษาไทยว่า ปลานิล ส่วนปลาชนิดนี้จะมีที่มา ถิ่นกำเนิด วิธีการเลี้ยงและให้อาหารอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมก็นำคำตอบมาฝากกันแล้วค่ะ
ปลานิล

ถิ่นกำเนิด

          ปลานิล มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Nile tilapia มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus เป็นปลาน้ำจืดที่จัดอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี ซึ่งชนิดปลาที่อยู่ในกลุ่มปลานิล (Tilapia) มีอยู่ 70 ชนิด มีแหล่งกำเนิดในแถบบริเวณตอนกลางค่อนไปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา อาทิ ประเทศซูดานและยูกันดา ไปจนถึงเอเชียตะวันออกกลาง อาทิ อิสราเอล จอร์แดน และซีเรีย พบได้ทั่วไปตามหนอง คลอง บึง และทะเลสาบ 

ลักษณะและนิสัย

          ปลานิล มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ แต่แตกต่างกันตรงที่ปลานิลมีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ลำตัวมีสีเขียวในน้ำตาล ตรงกลางมีเกล็ดสีเข้ม มีลายดำพาดขวางตามลำตัว 9-10 แถบ นอกจากนี้ยังมีลายสีดำและจุดสีขาวที่ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหาง ขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร ทั้งรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมียนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่จะสามารถสังเกตเพศได้ชัดเจนในปลานิลที่มีขนาดตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ขึ้นไป

          นิสัยปลานิลจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นพันธุ์ปลาที่มีความอดทน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในเขตร้อนได้ดี เลี้ยงง่าย โตไว และสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยใช้เวลา 2-3 เดือนต่อครั้ง รวมผสมพันธุ์ได้ 5-6 ครั้งต่อปี ซึ่งในแต่ละครั้งปลานิลตัวเมียจะวางไข่ได้ประมาณ 10-12 ฟอง

การเลี้ยงปลานิลในไทย

          การเลี้ยงปลานิลในไทย เริ่มจากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (Tilapia) จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จากนั้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำปลานิลไปพักเลี้ยงไว้ในบ่อปลา ณ พระราชวังสวนจิตรลดา พร้อมกับพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า "ปลานิล" ตามชื่อต้นในภาษาอังกฤษและคำว่า "นิล" ยังมีความหมายถึงสีดำที่เป็นลายปรากฏอยู่บนลำตัวของปลา นอกจากนี้ยังเป็นคำสั้น ๆ ที่ประชาชนนั้นสามารถเรียกและจดจำได้ง่าย

          กระทั่งในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลานิลให้แก่กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยง แล้วแจกจ่ายให้กับพสกนิกรเพื่อนำไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อีกทั้งปลานิลยังเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง หาซื้อง่าย และมีราคาถูกอีกด้วย 

ปลานิล

วิธีเลี้ยงปลานิล

          การเลี้ยงปลานิลแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ การเพาะพันธุ์, การอนุบาลลูกปลา และการเลี้ยง ปลานิลที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรค มีขนาดใกล้เคียงกัน ความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร น้ำหนักอยู่ที่ระหว่าง 150-200 กรัม สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชัง ดังนี้

          - วิธีเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน

          บ่อดินควรเป็นบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ 50-1,600 ตารางเมตร เก็บน้ำได้สูง 1 เมตร มีชานบ่อกว้าง 1-2 เมตร และมีเชิงลาดเพื่อป้องกันดินพังทลาย สำหรับบ่อเก่าควรปรับสภาพดินและตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วันก่อนปล่อยน้ำเข้าบ่อผ่านผ้ากรองหรือตะแกรงตาถี่ ข้อดีของการเลี้ยงปลานิลในดินคือ มีประสิทธิภาพกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีอื่นเพราะบ่อถูกสร้างให้ใกล้เคียงกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้ผลผลิตสูงในช่วงเพาะลูกปลา  

          - วิธีเลี้ยงปลานิลในบ่อปูนหรือบ่อซีเมนต์

          รูปร่างของบ่อซีเมนต์เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือวงกลมก็ได้ แต่ควรเก็บน้ำได้ลึก 1 เมตร มีพื้นที่ผิวน้ำตั้งแต่ 10 ตารางเมตรขึ้นไป การเลี้ยงด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีขึ้นหากมีการใช้เครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และหากต้องการเพิ่มจำนวนลูกปลาก็ต้องขยายบ่อให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย

          - วิธีเลี้ยงปลานิลในกระชัง

          ขนาดกระชังประมาณ 5x8x2 เมตร โดยวางกระชังในบ่อดิน หนอง บึง หรืออ่างเก็บน้ำ พื้นที่กระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ 1 เมตร ผูกยึดมุมกระชังไว้กับไม้หลัก 4 มุม โดยยึดปากและพื้นกระชังให้แน่น ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ ข้อดีของการเลี้ยงปลานิลในกระชังคือ ให้ผลผลิตสูง ปลามีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ทำให้ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงน้อยลง ต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลผลิตและค่าตอบแทนต่อพื้นที่สูง ข้อเสียคือมีปัญหาโรคพยาธิที่มากับน้ำซึ่งไม่สามารถควบคุมได้

          - อาหารปลานิล

          อาหารตามธรรมชาติของปลานิล ได้แก่ ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในบ่อ อาทิ กุ้งฝอย รวมไปถึงพืชผักต่าง ๆ เช่น สาหร่ายและแหน หากต้องการเร่งให้ปลาโตเร็วอาจบำรุงด้วย รำ ปลายข้าว กากถั่วเหลืองหรือถั่วลิสง กากมะพร้าว แหนเป็ด และปลาป่น เป็นต้น ส่วนการให้อาหารแต่ละครั้งควรให้ในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของปลาเท่านั้น

ปลานิล

ประโยชน์

          นอกจากนี้ปลานิลยังมีประโยชน์หลากหลาย เพราะเป็นปลาที่มีเนื้อมากและมีรสดี จึงนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ทั้งทอด แกง ต้ม (7 สูตรเมนูปลานิล อาหารไทยอิ่มเบา ๆ ย่อยง่ายไม่อ้วน) นอกจากนี้ในเนื้อปลายังมีเอนไซม์ทรานกลูทามิเนส (TGASE) นำมาผลิตเป็นเจลใสใช้สำหรับสลบสัตว์น้ำ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย

          ปลานิล แม้จะไม่ได้มีต้นกำเนิดในประเทศไทย แต่ก็เป็นปลาที่คนไทยคุ้นเคยมานาน หากใครสนใจอยากจะนำพันธุ์ปลานิลไปเลี้ยง ก็ลองศึกษารายละเอียดวิธีการเลี้ยงดูนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา, กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ, สำนักชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ฝ่ายเผยแพร่กองส่งเสริมการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ, สำนักชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี และภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จัก ปลานิล ปลาพระราชทานจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2561 เวลา 16:05:00 51,518 อ่าน
TOP