เมื่อแมวท้องเสีย...จะเป็นอะไรมากไหมนะ ? (Cat Magazine)
อาการท้องเสียในแมวเป็นเรื่องที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของทางเดินอาหารและสามารถหายเองได้ หรือเกิดจากการติดเชื้อโรคที่รุนแรงและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
อาการที่บ่งบอกว่าแมวมีอาการท้องเสีย ได้แก่ ?
ถ่ายเหลวเป็นน้ำ และถ่ายบ่อย
มีเลือดหรือมูกปนมากับอุจจาระ
มีอุจจาระเลอะเปรอะเปื้อนบริเวณก้อน
มีไข้
เบื่ออาหาร
มีอาการปวดท้อง
น้ำหนักตัวลดลง
ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
มีอการอาเจียน
อะไรที่เป็นสาเหตุให้แมวท้องเสียได้บ้าง
สาเหตุนั้นมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องธรรมดา ๆ เช่น การเปลี่ยนอาหารอย่างกะทันหัน ก็อาจทำให้ทางเดินอาหารของแมวปรับตัวไม่ทัน จึงทำให้ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึมทำได้ไม่ดี หรือการให้แมวกินนมวัว ซึ่งโดยปกติแล้วแมวไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมวัวได้ จึงเป็นเหตุให้ท้องเสีย เป็นต้น
นอกเหนือจากนี้ "ความเครียด" ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมวท้องเสียได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย หรือการมีสมาชิกตัวใหม่เข้ามาในครอบครัว ซึ่งอาการท้องเสียจากสาเหตุเหล่านี้ แมวจะสามารถปรับตัวและหายเองได้ เพียงแต่จะต้องอาศัยเวลาเท่านั้น
แต่สำหรับอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อหรือโรคบางอย่างนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาจากสัตวแพทย์ ได้แก่
การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต ในทางเดินอาหาร
ภาวะลำไส้อักเสบ
เนื้องอกหรือมะเร็งในลำไส้
โรคเกี่ยวกับตับอ่อน
ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือโรคเกี่ยวกับฮอร์โมนอื่น ๆ
Feline leukaemia virus (ลิวคีเมีย)
Feline immunodeficiency virus (เอดส์แมว)
ควรทำอย่างไร เมื่อแมวท้องเสีย ?
อย่างแรกที่ควรทำ เมื่อเหมียวมีอาการท้องเสีย คือการจำกัดบริเวณให้แมวอยู่แต่ภายในบ้านหรือบริเวณจำกัด เพื่อง่ายต่อการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และควรงดการให้อาหารภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อเห็นว่าแมวมีอาการท้องเสีย โดยให้แต่น้ำสะอาดและน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำส่วนที่เสียไปกับอุจจาระ เมื่อครบ 24 ชั่วโมงแล้ว อาจเริ่มให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับแมวท้องเสีย (มีหลายยี่ห้อในท้องตลาด) โดยให้กินทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง ประมาณ 4-6 มื้อต่อวัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ให้สังเกตการขับถ่ายของแมวภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าหากแมวยังคงมีอาการท้องเสียต่อเนื่องหรือมีอาการอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น อาเจียน ถ่ายมีเลือดปน ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษา ซึ่งอาจต้องมีการตรวจเลือด เอกซเรย์ เพิ่มเติมโดยการรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุและอาการ ได้แก่ การให้ยาฆ่าเชื้อ ยาลดอักเสบ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาแก้อาเจียน สารน้ำ และอิเล็คโทรไลต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ เจ้าของควรจะต้องระมัดระวังและทำความสะอาดมือให้ดีหลังจากสัมผัสกับแมวที่มีอาการท้องเสีย หรือทำความสะอาดสิ่งขับถ่ายของแมว เพราะเชื้อโรคบางอย่างสามารถติดต่อสู่คนได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก