ปลาแรด ยักษ์ใหญ่ในตู้กระจก (เทคโนโลยีชาวบ้าน)
โดย พิชิต ไทยยืนวงษ์
คอลัมน์ ปลาสวยงาม
สำหรับนักเลงปลาใหญ่ที่ชอบสะสมเฉพาะบิ๊กไซซ์เท่านั้นคงต้องรู้จัก ปลาแรด เป็นอย่างดี ปลาแรดเป็นปลาน้ำจืดที่จัดได้ว่าล่ำสันใหญ่โต ในธรรมชาติมันอาจมีความยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร ส่วนในตู้กระจก (ที่ไม่เล็กจนเกินไปนัก) ก็ยังสามารถโตได้ถึง 50 เซนติเมตร น้ำหนักตัวนั้นว่ากันเกือบ 10 กิโลกรัม ทีเดียวครับ
ปลาแรด อยู่ในวงศ์เดียวกับปลากระดี่ เรียกได้ว่าเป็นปลากระดี่ชนิดที่ใหญ่ที่สุด ลักษณะเด่นของปลาวงศ์นี้คือมี 2 ประการ คือ
1. มีอวัยวะช่วยหายใจ (labyrinth organ) ซึ่งทำให้มันสามารถขึ้นมาฮุบอากาศเหนือผิวน้ำเอาออกซิเจนเข้าไปได้โดยตรง
2. มีครีบท้อง (pelvic fin) ที่พัฒนาเป็นเส้นยาวคล้ายหนวดกุ้งเพื่อใช้ในการคลำหาอาหารบริเวณพื้นน้ำ
ในวัยเด็ก ปลาแรดจะมีรูปร่างบางคล้ายใบไม้ มีลายขวางจางๆ บนพื้นลำตัวสีน้ำตาลเทา ส่วนหัวเรียวเล็กมีจะงอยปากแหลม ตาโต โคนหางมีจุดสีดำเห็นชัดเจน พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะงอยปากจะสั้นลง ริมฝีปากเริ่มหนาขึ้นเช่นเดียวกับลำตัวที่แผ่กว้าง เมื่อปลาโตเต็มวัยจะมีริมฝีปากหนามาก ขากรรไกรล่างยื่นออกมากกว่าขากรรไกรบน มีโหนกหรือสันปูดขึ้นมาบริเวณหน้าผากคล้ายกับมะม่วงพันธุ์แรด จึงเป็นที่มาของชื่อปลาแรดนั่นเอง ส่วนจุดดำบริเวณโคนหางจะหายไป ปลาตัวผู้มีสันบนหัวใหญ่มากกว่าตัวเมีย ปลายครีบยาวกว่า สีสดเข้มกว่าและลำตัวเพรียวกว่า
ปลาแรดมีรสชาติอร่อย เดิมทีจะมีการเพาะเลี้ยงไว้เพื่อนำมาเป็นอาหาร แต่ต่อมาเนื่องจากมันเป็นปลานิสัยเชื่องคน เลี้ยงง่าย และกินได้ทุกอย่าง ทั้งราคาก็ถูกมาก จึงเริ่มนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และในเวลาต่อมาเราก็ได้รู้เพิ่มเติมอีกว่า ปลาแรด ไม่ได้มีอยู่เพียงสายพันธุ์เดียว มันยังมีความหลากหลายทั้งรูปร่างและสีสัน มีทั้งปลาแรดเผือกที่สีเนื้อเป็นสีขาวอมชมพู มีทั้งปลาแรดแดงจากอินโดนีเซียที่มีครีบแดงสดเร่าร้อน และมีกระทั่งปลาแรดที่มีเขี้ยวเต็มปาก อาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขง วงการปลาสวยงามจึงต้องเริ่มเอาปลาแรดมาประเมินคุณค่ากันใหม่ เพราะบางสายพันธุ์นั้นราคาสูงมากทีเดียว เช่น ปลาแรดแดงอินโด
การเลี้ยงปลาแรดในตู้กระจก
เนื่องจากปลาแรดมีความอดทนสูง จึงจัดเป็นปลาที่เลี้ยงยังไงก็ตายยาก ยกเว้นปลาวัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงเปราะบาง หากเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ ที่ก้าวร้าวกว่าก็อาจทนแรงเสียดทานไม่ไหว ค่อยๆ ป่วยตายไปก็มี การเลี้ยงปลาแรดให้ง่ายที่สุดคือ เลี้ยงตามลำพังตัวเดียว ในตู้ขนาดเหมาะสม คือถ้าปลายังเล็กก็สามารถเลี้ยงในตู้ ขนาด 20-24 นิ้ว ได้ แต่ถ้าปลาใหญ่กว่า 6 นิ้ว ก็จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ในตู้ที่กว้างขวางกว่า ปลาแรดโตเร็วมากหากได้รับการดูแลดี ตู้ที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาแรดโตเต็มวัยคือ ตู้ขนาด 60x24x24 นิ้ว ขึ้นไป
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาแรดรวมกันหลายตัวก็จำเป็นต้องหาตู้ใหญ่ๆ เลยตั้งแต่แรก และจะต้องเลี้ยงมันอย่างน้อย 6-7 ตัว ขึ้นไป เนื่องจากปลาแรดเองก็มีความก้าวร้าวดุร้ายอยู่ในตัวไม่น้อย การเลี้ยงรวมในที่แคบ ปลาแรดตัวที่ใหญ่กว่าแข็งแรงกว่าจะจู่โจมปลาที่เล็กกว่า อย่างเอาเป็นเอาตาย แค่เวลาไม่กี่ชั่วโมงปลาตัวที่โดนกัดจะหมดสภาพและตายในเวลาต่อมา ส่วนการเลี้ยงรวมกับปลาอื่นอาจทำได้ง่ายกว่า เพราะปลาแรดนั้นหากไม่ใช่หน้าตาแบบเดียวกับมันก็ดูเหมือนจะให้ความสนใจน้อย ลง แต่จำเป็นต้องเลือกปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และมีความว่องไวแข็งแรงให้มากเข้าไว้ เช่น ปลาหมอสี จากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ปลาในวงศ์ปลาตะเพียน ปลาในวงศ์คาราซินิเดขนาดกลาง เป็นต้น
เป็นที่น่าแปลกว่า ปลาแรดที่โตเต็มที่จะลดความก้าวร้าวดุร้ายลงไปอย่างเห็นได้ชัด บางตู้สามารถเลี้ยงปลาแรดเพียงสองตัวได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ปลาตัวหนึ่งใหญ่บึกบึนกว่ากันมาก
ตู้ที่เลี้ยงปลาแรดต้องจัดให้มีพื้นที่ว่างโล่งมากๆ ให้ปลาว่ายน้ำ สามารถตกแต่งด้วยหินหรือขอนไม้ได้ แต่อย่าให้รกเกินไปนัก หินต้องไม่มีสันหรือชะง่อนคม เช่นเดียวกับขอนไม้ที่ต้องไม่เป็นกิ่งก้านเกะกะ ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการเลี้ยงพืชน้ำในตู้ เพราะปลาแรดกินได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะพืชผัก อาจใช้เป็นต้นไม้ปลอมแทนหากต้องการสีสัน
ระบบกรองน้ำต้องดี เนื่องจากปลาแรดกินจุ กินทุกอย่างที่ขวางหน้า ถ้ากินไม่อิ่มมักออกอาการโกรธ พุ่งชนตู้แยกเขี้ยวขู่เราไปเรื่อยจนกว่าจะยอมให้อาหารมันเพิ่ม ฉะนั้น น้ำจึงลดคุณภาพลงอย่างรวดเร็วหากใช้แค่กรองพื้นฐานอย่างกรองใต้กรวดหรือ กรองกระป๋อง ตู้ขนาดใหญ่มีระบบกรองชีวภาพข้างตู้ก็สามารถรับมือได้สบายๆ แต่ตู้ขนาดเล็กก็อาศัยเปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้น โดย 1 สัปดาห์ ควรถ่ายออกราว 25-30 เปอร์เซ็นต์
ปลาแรดกินได้ทุกอย่าง ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ ในปลาวัยเด็กออกจะชอบไปในทางเนื้อสัตว์ ประเภทไส้เดือน หนอนแดง ไรทะเล หรือกุ้งฝอย พอเริ่มโตขึ้นมาก็จะหันมากินอาหารประเภทพืชหนักขึ้น เราสามารถใช้อาหารเม็ดที่มีส่วนผสมของผักต่างๆ หรือสาหร่ายสไปรูไลน่าให้เป็นอาหารหลักได้โดยเสริมอาหารสดอย่างกุ้งฝอยหรือ เนื้อสัตว์อื่นบ้าง เช่นเดียวกับผักที่มีเส้นใย เช่น ผักกะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผลไม้บางอย่างปลาแรดก็ชอบกินเช่นกัน เช่น แอปเปิล หรือมะเขือเทศ ผู้เพาะเลี้ยงบางคนตักแหนตามลำคลองมาล้างให้สะอาด ให้ปลาแรดกินเป็นอาหารเสริม ซึ่งดูเหมือนมันก็ชอบไม่น้อย
สายพันธุ์ปลาแรด
ในปัจจุบันมีปลาแรดสายพันธุ์ต่างๆ ให้เลือกซื้อไปเลี้ยง ทุกพันธุ์มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันหมด แต่ผิดแผกแตกต่างกันไปตามรายละเอียดอื่นๆ เช่น สีสัน และอวัยวะพิเศษบางอย่าง ดังนี้ครับ
1. ปลาแรดธรรมดา หรือแรดดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus goramy
ก็คือ ปลาแรดธรรมดา หรือที่เรียกกันว่า "แรดดำ" นั่นเอง จัดเป็นแรดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง มีสีไม่สวยนัก แต่ก็เด่นที่ราคาถูก (และเนื้ออร่อย)
2. ปลาแรดเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus goramy Albino, Silvery
จัดออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือแรดเผือกตาดำ และแรดเผือกตาแดง ปลาแรดเผือกตาดำนั้นมีสีขาวนวลอมชมพู ไม่มีลายบนลำตัว ลักษณะค่อนข้างเพรียวยาวกว่าแรดเผือกตาแดง ซึ่งเป็นการผ่าเหล่ามาจากปลาแรดดำ โดยยังจะมีลายบนลำตัวให้เห็นจางๆ และมีลำตัวกว้างป้อมกว่า สีสันออกขาวสว่างกว่าอย่างเห็นได้ชัด
3. ปลาแรดเขี้ยว ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus exodon
เป็นปลาแรดที่มีถิ่นอาศัยในแม่น้ำโขง ลักษณะภายนอกคล้ายกับปลาแรดดำทั่วไป แต่มีฟันรูปเขี้ยวที่ริมฝีปากนอก ในขณะที่ปลาแรดชนิดอื่นก็มีฟันในแบบเดียวกัน แต่อาจเล็กกว่าและอยู่เข้าไปด้านในของริมฝีปาก ทำให้มองเห็นไม่ชัดเท่า ปลาแรดเขี้ยวจัดเป็นปลาแรดหายาก ฉะนั้น จึงมีราคาสูงกว่าปลาแรดดำหรือปลาแรดเผือกทั้งที่ตัวมันเองก็ไม่ได้สวยมากไปกว่า
4. ปลาแรดแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus laticlavius
ปลาแรดแดง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นปลาแรดที่มีสีสันสวยงามมาก โดยเฉพาะในปลาตัวผู้ที่โตเต็มวัย สีพื้นลำตัวด้านบนจะเข้มดำ ในขณะที่ทางด้านล่างจะสีอ่อนกว่า ครีบทุกครีบมีสีส้มแดง เช่นเดียวกับข้างแก้มและส่วนหัว บางตัวออกสีแดงจัด ขึ้นอยู่กับสภาพและวิธีการเลี้ยง ปลาแรดแดงเป็นปลาแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาปลาแรดด้วยกัน โตเต็มที่เพียง 50 เซนติเมตร เท่านั้น จัดเป็นปลาแรดที่มีราคาแพงที่สุด
รวมเรื่องสัตว์เลี้ยง ทั้ง สุนัข แมว ปลา ฯลฯ พร้อมวิธีดูแลสัตว์เลี้ยง คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Wikipedia.org, Animal-world.com, Siamfishing.com