เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ปัจจุบันมีสัตว์จากท้องทะเลมากมายถูกนำขึ้นมาชื่นชมความสวยงามในตู้กระจกใส และหนึ่งในบัญชีสัตว์ทะเลยอดฮิตนั้นก็มีเจ้าปลารูปร่างแปลกประหลาดอย่าง ม้าน้ำ ติดอยู่ในลิสต์กับเขาด้วย ทำให้เกิดการค้าขายม้าน้ำ(มีชีวิต) ไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนตัว/ปี เลยทีเดียว
นอกจากความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องของรูปร่างแล้ว พฤติกรรมของ ม้าน้ำ ยังมีความโดดเด่นจนนำอันตรายมาสู่ชีวิตของพวกมัน เนื่องจากการใช้ชีวิตของ ม้าน้ำ ที่จะครองคู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียว จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตายจากกันไป มันจึงมักถูกพรากจากทะเลมาแปรสภาพเป็น ม้าน้ำตากแห้ง เพื่อสังเวยความเชื่อที่ว่า การมอบม้าน้ำคู่ผัวเมียให้แก่คู่บ่าวสาวเป็นของขวัญในวันแต่งงาน เปรียบเหมือนการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความรักที่ซื่อสัตย์ต่อกัน
ขณะเดียวกัน ม้าน้ำ ยังถูกนำมาทำยาและของที่ระลึกมากมาย ทำให้ในแต่ละปีมีม้าน้ำทั่วโลก ถูกจับมาใช้ประโยชน์ทางการค้าประมาณ 24.5 ล้านตัว ต่อปี และประเทศไทย ก็ติด 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกหลักซะด้วย ทำให้นักอนุรักษ์เป็นห่วงประชากร ม้าน้ำ จนนำไสู่การศึกษาเพื่อเพาะพันธุ์ม้าน้ำขึ้นมา
สำหรับ ม้าน้ำ หรือ Sea horse จัดเป็นสัตว์จำพวกปลาหายใจทางเหงือก แต่กลับมีกระดูกหรือก้างมาห่อหุ้มเป็นเกราะอยู่ภายนอกตัว มีหางยาวกระเดียดไปทางจิ้งจก ตุ๊กแก ทั้งนี้ ก็เพื่อเกี่ยวยึดตัวเองตามต้นสาหร่ายในน้ำ และมีครีบบางใสตรงเอวช่วยในเคลื่อนไหวได้อย่างช้า ๆ
นอกจากนี้ นิสัยอันเชื่องช้า ทำให้มันไม่ค่อยจะเหมาะเลี้ยงรวมกับปลาทะเลอื่น ๆ เพราะไม่สามารถช่วงชิงอาหารได้ทันนั่นเอง แต่หากคิดจะหาเพื่อนให้ ม้าน้ำ แนะนำเป็นปลาที่หาอาหารในระดับพื้นทราย จำพวกปลากินตระไคร่ หรือปูเสฉวน ขนาดไม่ใหญ่พอที่จะจับม้าน้ำในตู้เป็นอาหาร แต่อย่าได้ไว้ใจเลี้ยงกุ้งสวยงามชนิดต่าง ๆ ร่วมด้วย เพราะเจ้าม้าน้ำอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารอันโอชะเอาได้
และประการสำคัญที่สุด คือ การควบคุมคุณภาพน้ำทะเลภายในตู้ให้เหมาะสม โดยตู้เลี้ยงม้าน้ำควรเป็นตู้ทรงสูง เพื่อให้เจ้าม้าน้ำได้ว่ายน้ำตามแนวดิ่งได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ อาจสร้างกระแสน้ำเอื่อยคล้ายโลกใต้ทะเล และจัดหาปะการังที่ปลอดภัยให้ม้าน้ำสามารถยึดเกี่ยวด้วยหางด้วยก็จะดีมาก แต่ที่ควรระวังคือ ระบบกรองและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจใช้ได้กับปลาทะเลทั่วไป อาจกลายเป็นกับดักปลิดชีพม้าน้ำได้ เพราะหากภายในตู้มีฟองอากาศมาก ก็เสี่ยงที่ม้าน้ำดูดเอาฟองอากาศเหล่านั้นไปสะสมอยู่ในตัวจนทำให้มันเสียศูนย์ เกิดอาการลอยเคว้ง และตายไปในที่สุด
สรุปได้ว่าไม่ง่ายเลยที่จะมีเจ้าปลาน้อยจากใต้ทะเลตัวนี้มาเป็นสัตว์เลี้ยงในกระจกใส แต่หากใครคิดจะเลี้ยงมันจริง ๆ คงต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างรู้แจ้งเห็นจริงเสียก่อน
อ่านรายละเอียดทั้งหมดจาก