อาซากิ ปลาคาร์พสายพันธุ์บริสุทธิ์







อาซากิ ปลาคาร์พสายพันธุ์บริสุทธิ์ (ข่าวโลกสัตว์เลี้่ยง)

          เผลอแป๊บเดียวย่างเข้าสู่เดือนที่สามของปี พ.ศ. 2553 กันแล้ว วันเวลานี่ได้ไม่รอคอยกันจริง ๆ ใครที่ตั้งเป้าหมายชีวิตเอาไว้เมื่อช่วงปีใหม่ อย่าชะล่าใจรีบเร่งลงมือปฏิบัติก่อนที่เวลาจะหมุนหมดปีไปเสียก่อน

          แนะนำประเภทปลาคาร์พในฉบับนี้ มีปลาคาร์พประเภทที่น่าสนใจมานำเสนอเช่นเคย คราวนี้เป็นปลาคาร์พประเภทที่มีความพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างจากปลาคาร์พประเภทอื่น ๆ ความพิเศษที่ว่าก็คือ ที่มาของปลาตัว นี้มีความแตกต่างจากปลาคาร์พประเภทอื่นๆ ปลาคาร์พประเภทที่จะกล่าวถึงนี้ก็คือ อาซากิ (Asagi)

          สิ่งที่แตกต่างไม่เหมือนใครของปลาคาร์พ อาซากิ อยู่ที่ประวัติความเป็นมาของสายพันธุ์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ปลาคาร์พอาซากิถูกกล่าวขานเล่าสู่กันมาว่าเป็นปลาคาร์พสายเลือดบริสุทธิ์ กล่าวขยายความให้เข้าใจง่ายๆ ปลาคาร์พที่เราเห็นสวยงาม หลากหลายสีสันจัดจ้านทุกวันนี้นั้นเกือบทุกประเภทเกิดจากการจงใจของมนุษย์ คือมีการนำปลาคาร์พต่างชนิดมาผสมไขว้ไปมาเป็นร้อยๆ รุ่น เพื่อให้ได้ตัวปลาที่มีสีสันสวยงาม ตัวอย่างเช่น โคฮากุ สุดยอดราชันปลาคาร์พ กว่าที่จะกลายมาเป็นปลาคาร์พสีขาวแดงยอดนิยมอย่างทุกวันนี้ ถูกการไขว้สายเลือดปลามามากมายหลายสาย จากปลาคาร์พสีดำกระด่างไม่เห็นแววความงาม ถูกนำมาไขว้เข้ากับปลาสีแดง, สีขาว, สีดำ, สีดำแก้มแดง, สีแดงจุดดำ ฯลฯ จนได้ โคฮากุ อย่างที่ชื่นชมกันปัจจุบัน

          แต่สำหรับ อาซากิ นั้น เป็นปลาสายเลือดบริสุทธิ์ สืบเชื้อสายมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่าต้นตระกูลของ อาซากิ คือปลามากอย ปลาคาร์พยุคแรกที่ผ่าเหล่ามาจากปลาไนสีดำ รูปลักษณ์ของอาซากิ ที่ผ่าเหล่ามาจากมากอยในยุคแรก กับอาซากิยุคปัจจุบันไม่แตกต่างกันมากนัก ยังคงรักษารูปแบบเดิมไว้เกือบครบถ้วน ที่จะแตกต่างไปก็คือความสวยงามของสีสันซึ่งถูกพัฒนาให้มีความโดดเด่นขึ้นเท่านั้นเอง

          อาซากิ ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงสีฟ้าอ่อน มีเทือกเถาเหล่ากอรวมกัน 4 ประเภท ได้แก่ อาซากิ, ซูซุย, โกโรโมะ และโงชิกิ ปลาทั้ง 4 ตัวนี้ล้วนสืบเชื้อสายมาจากปลาอาซากิ ซึ่งจะขอกล่าวถึงในโอกาสต่อๆ ไป แต่วันนี้ขอเน้นแต่ อาซากิ พระเอกสุดของปลากลุ่มนี้

ประวัติ ปลาคาร์พ อาซากิ

          ตามบันทึกประวัติอาซากิกล่าวไว้ว่า ได้มีการพบเห็นอาซากิมานานกว่า 160 ปี ถึงปัจจุบันนี้มีอายุมากกว่าสองร้อยปีแล้ว จากระยะเวลาดังกล่าวน่าจะอยู่ในช่วงที่มีการผ่าเหล่า (Mutant) ของปลาคาร์พสีดำที่ให้กำเนิดโคฮากุในขั้นเริ่มต้น อย่างที่กล่าวไว้ว่าอาซากิเกิดจากการผ่าเหล่าของมากอย ว่ากันว่ารูปแบบของการผ่าเหล่าในชั้น ต้นนั้น ได้ถือกำเนิดมากอยสีเทาดำที่มีหัวเป็นสีขาว (หัวไม่มีสี) ขึ้นมา และต่อเนื่องมาอีกก็ได้กำเนิดกลายเป็นปลาหัวขาวที่มีโทนสีอ่อนจางลง มองดูเป็นโทนสีฟ้าอมเทา และต่อเนื่องมาจนถึงที่สุด ที่มีความใกล้เคียงความเป็นอาซากิยุคปัจจุบันเข้าไปอีกคือ ลักษณะสีของเกล็ดจะมีสีเข้มที่กลางเกล็ด รอบนอกเกล็ดจะมีสีอ่อนกว่า ด้วยลักษณะของเกล็ดอย่างนี้ทำให้มองดูคล้ายเหมือนมีตาข่ายร่างแหมาห่อคลุมตัวปลาไว้

          รูปแบบอาซากิที่พบเห็นทุกวันนี้  จะว่าไปก็ไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์ดั่งเดิมมากนักจะมีก็ในส่วนของสีแดงจากเริ่มแรกสีแดงจะพบเห็นได้มากตรงบริเวณแก้ม แต่ปัจจุบันอาซากิจะมีสีแดงตั้งแต่แก้ม ครีบอก บริเวณใต้ท้องด้านข้างลำตัวยาวตลอดไปจนถึงโคนหาง และบางตัวยังมีสีแดงที่ครีบหลังด้วย ช่วยทำให้อาซากิมีความสวยงามน่ามองเป็นอย่างมาก ทำให้สีแดงกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอาซากิ

          ลักษณะเด่นของอาซากิในยุคปัจจุบันอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ  นั่นก็คือ ฟูกูริน ในความหมายของปลาคาร์พ ฟูกูรินคือเนื้อเยื่อที่คลุมระหว่างเกล็ด ถ้าแปลกันตรงๆ ฟูกูรินก็คือเกล็ดตาข่ายหรือเกล็ดร่างแห นักเลี้ยงบ้านเราเรียกว่า “ตาข่าย” แต่บางท่านก็เรียกทับศัพท์ไปเลยว่าฟูกูริน สาเหตุที่เรียกว่าเกล็ดตาข่าย ก็ด้วยว่ารูปลักษณ์ของเนื้อเยื่อที่ขึ้นครอบเกล็ดแต่ละเกล็ดอย่างต่อเนื่องกัน และมีสีที่อ่อนกว่าสีของเกล็ด เลยมองเหมือนมีตาข่ายมาห่อหุ้มตัวปลา ฟูกูรินเป็นลักษณะที่สืบทอดมาจากปลาคาร์พมากอยดั้งเดิม

          อาซากิที่พบเห็นในยุคก่อนฟูกูรินจะยังไม่โดดเด่นมองเห็นชัดเจน เท่ากับอาซากิยุคปัจจุบันนี้  หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีเลยก็ได้  เกล็ดจะดูเหมือนกับเกล็ดปลาคาร์พทั่วไป  ที่พอจะมองดูเป็นเหมือนร่างแหนั้นเกิดจากความต่างของขอบเกล็ดที่สีอ่อนกว่าสีภายในเกล็ด  ฟูกูรินถือเป็นจุดขายของอาซากิ ฟาร์มที่ทำการผลิตอาซากิต่างก็พยายามพัฒนาเรื่องฟูกูรินให้ดีที่สุด ถ้าเพาะออกมาแล้วไม่มีฟูกูริน ถือเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะจากปลาที่ควรจะมีราคากลับกลายเป็นปลาเกรดธรรมดาๆ ไปเลย

ชนิดย่อยของ ปลาคาร์พ อาซากิ

          แรกเริ่มเดิมทีไม่มีการแบ่งแยกชนิดของอาซากิ อาซากิจะเป็นชื่อเรียกปลาที่มีโทนสีฟ้าอมเทา ดำหรือน้ำเงินตามมุมมองของแต่ละคน มีเกล็ดเนื้อเยื่อฟูกูริน มีสีแดงที่ข้างแก้มข้างลำตัวตลอดไปจนถึงหาง ที่ครีบอก สีแดงที่ครีบอก มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น โมโตอะกา, โมโตฮิ,ซูซุยเบเระ, ซูซุยฮิเระ อาซากิบางตัวก็มีสีแดงที่ครีบหลังด้วย

          แต่ในยุคที่มีการพัฒนาสายพันธุ์อาซากิอย่างปัจจุบัน ทำให้อาซากิมีความแตกต่างไปจากอาซากิในยุคอดีตในบางจุด เช่น บางตัวมีสีอ่อน สีเข้ม บางตัวมีฟูกูรินเล็ก บางตัวฟูกูรินใหญ่ หรือบางตัวมีฟูกูริน บางตัวไม่มี สาเหตุอาจมาจากต้นสายของปลาเป็นปลามากอยต่างชนิดกัน เพราะมากอยยุคแรกที่ผ่าเหล่ามาจากปลาในสีดำเอง ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของสีสันและรูปแบบ มากอยที่รู้จักกันในยุคแรกนั้นแบ่งหลักๆ ออกเป็นสามชนิด คือ เทสึมากอย, โดโระมากอย, อาซากิมากอย อาซากิที่สืบสายพันธุ์ต่อเนื่องมาจากมากอยต่างชนิด จึงมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ชนิดย่อยของอาซากิที่มีการกล่าวถึงกันมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่




          คอนโจอาซากิ หรือคอนโจ้

          เป็นชื่อเรียกอาซากิที่มีฟูกูรินขนาดเล็ก (เส้นตาข่ายรอบเกล็ดจะเส้นเล็ก) หรือจะพูดอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ คอนโจอาซากิเป็นปลาที่มีสีดำภายในเกล็ดใหญ่เกือบเต็มเกล็ด ทำให้ฟูกูรินดูมีขนาดเล็ก ด้วยลักษณะสีดำเกือบเต็มเกล็ด ฟูกูรินขนาดเล็กจึงทำให้อาซากิชนิดนี้มีสีเข้มจัดกว่าอาซากิชนิดอื่นๆ บางท่านให้คำนิยามคอนโจอาซากิว่า เป็นอาซากิที่มีสีน้ำเงินเข้ม เรื่องของสีสันนี่ต้องแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนจะเอามาตรฐานเป็นเรื่องยาก บางตำรากล่าวว่า ต้นกำเนิดของคอนโจว่า เป็นอาซากิที่สืบสายมาทาง เทสึมากอย ความจริงจะเป็นอย่างนี้หรือไม่คงพิสูจน์ได้ยาก เพราะเป็นเรื่องในอดีตกาลนานโพ้น




          นารูมิอาซากิ 

          มาจากคำว่า นารูมิ ชิโบริ เป็นผ้าชนิดหนึ่งผลิตกันมากในเมืองนารูมิ จังหวัดไอชิ เป็นการเปรียบเทียบปลาอาซากิชนิดนี้ว่า มีสีสันและลายตาขายสวยงามดั่งผ้าชนิดนี้  ข้อแตกต่างระหว่างนารูมิกับคอนโจเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกัน คอนโจฟูกูรินเล็กนารูมิฟูกูรินจะใหญ่กว่า  คอนโจสีเข้มส่วนนารูมิสีจะอ่อนกว่า  สาเหตุที่นารูมิมีสีอ่อนก็เพราะว่าสีดำที่เกล็ดมีขนาดเล็กนั่นเอง ทำให้ดูรวมๆ แล้วสีจะดูอ่อน และขณะเดียวกันก็จะทำให้ฟูกูรินดูใหญ่ตามไปด้วย




          มิโซอาซากิ 

          บางท่านเรียก มิซู, มิสุ ความหมายเดียวกันแต่ต่างกันที่สำเนียง นอกจากจะเรียกว่ามิโซแล้ว ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า อาเกบิ นักเลี้ยงบ้านเราเรียกติดปากว่าอากาบิ เจ้าอากาบิหรือมิโซ หมายถึงอาซากิที่มีโทนสีอ่อนมาก อ่อนกว่าคอนโจและนารูมิอีก มิโซอาซากิจะมีทั้งแบบที่มีฟูกูรินใหญ่เหมือนนารูมิและแบบฟูกูรินเล็กแบบคอนโจ แต่ที่พบเห็นได้บ่อยมากจะเป็นแบบที่มีฟูกูรินใหญ่สไตล์นารูมิ ถ้าพูดย้อนกลับไป ก็ต้องบอกว่าเพราะว่าฟูกูรินใหญ่ จึงทำให้ปลามีโทนสีจางอ่อน แต่จะว่าไปแล้วถึงแม้ว่าจะเป็นมิโซที่มีฟูกูรินเล็กสไตล์คอนโจ แต่ถ้าสีดำหรือสีฟ้าในเกล็ดมีน้อยหรือสีอ่อนมาก ก็ทำให้กลายเป็นปลาที่มีสีอ่อนจางก็เรียกมิโซอาซากิเหมือนกันสรุปรวบยอดแล้วมิโซอาซากิดูจากโทนสีโดยรวม ไม่ใช่ดูจากฟูกูริน

          นักเลี้ยงปลาคาร์พบ้านเรามักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมิโซอาซากิ โดยมักคิดว่ามิโซอาซากิ คืออาซากิที่มีสีขาวล้วน  ไม่มีสีแดงปรากฏให้เห็น ซึ่งอาซากิที่ไม่มีสีแดงเลยไม่ว่าจะที่แก้ม ที่ครีบที่ใต้ท้องข้างลำตัว ที่ครีบหลังถือว่าเป็นการผิดลักษณะของอาซากิที่ดี อาซากิขาวล้วนๆ อย่างที่ว่าถือเป็นปลาด้อย การเพาะอาซากิแต่ละครั้งในครอกๆ หนึ่งจะมีปลาอย่างนี้จำนวนไม่น้อย ซึ่งจะเป็นปลาที่ถูกคัดทิ้งเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นอาซากิที่ไม่มีแพทเทินส์สีแดงถือว่าผิดกฎกติกาของอาซากิที่ดี




          ทาคิอาซากิ 

          หมายถึงอาซากิที่มีแถบสีขาวคั่นกลางระหว่างสันหลังกับใต้ท้อง พูดให้เห็นภาพชัดๆ คือคั่นกลางระหว่างตาข่ายฟูกูรินกับสีแดง ซึ่งแถบสีขาวที่จริงแล้วก็คือส่วนที่มีฟูกูรินและสีเทาฟ้าน้อยกว่าตรงสันหลังเท่านั้นเอง

          รูปแบบของทาคิอาซากิก็คือ  อาซากิที่มีเกล็ดตาข่ายฟูกูรินตั้งแต่ส่วนบนสันหลังชัดเจน  จนมาถึงกลางลำตัวจึงจะจางลงไป เช่นเดียวกับโทนสีฟ้าเทาส่วนบนสันหลังจะเข้มและจะอ่อนลงที่กลางตัวก่อนที่จะถึงแถบสีแดง จึงทำให้เหมือนมีสีขาวมาคั่น ย้อนยุคกลับไปอาซากิในยุคแรกที่พบเห็นที่เกิดจากการผ่าเหล่าโดยธรรมชาติ จะมีเกล็ดสม่ำเสมอตั้งแต่สันหลังจนถึงใต้ท้อง ฟูกูรินไม่ได้ชัดเจนอย่างกับอาซากิในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาซากิที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดูสวยงามมากกว่าแต่ก่อน

          เรื่องราวของปลาคาร์พลายตาข่าย "อาซากิ" ก็จบลงเพียงเท่านี้ ซึ่งแม้ว่าอาซากิจะเป็นปลาปลาคาร์พประเภทสายพันธุ์บริสุทธิ์ตามตำรากล่าวมาต่อๆ กัน แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาด้านสายพันธุ์จนได้อาซากิที่มีความแตกต่างไปจากอดีตค่อนข้างมากในประเทศญี่ปุ่นฟาร์มที่ทำการเพาะอาซากิ ก็ไม่ได้คำนึงถึงว่าการเพาะพันธุ์อาซากิ้องให้ความสำคัญกับเรื่องสายพันธุ์เป็นหลัก แต่จะเน้นความสำคัญไปที่จะทำอย่างไรให้ตาข่ายฟูกูรินโดดเด่นคมชัด ตัดกับสีฟ้าเทาให้มากที่สุด และก็ให้สีแดงมีในส่วนที่ควรมีไม่ขึ้นเลอะเปรอะเปื้อนไปหมด ถือเป็นแนวทางการผลิตอาซากิในยุคปัจจุบัน






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก koifanclub.net, wisikoi.nl, westerleighkoi.co.uk



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาซากิ ปลาคาร์พสายพันธุ์บริสุทธิ์ อัปเดตล่าสุด 17 มีนาคม 2553 เวลา 17:19:58 12,323 อ่าน
TOP
x close