นกเค้าอินทรียูเรเซีย นักล่ามีปีกที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก The Owl Pages
นกเค้าอินทรียูเรเซีย นกฮูกสายพันธุ์แกร่ง ที่ติด 10 อันดับนักล่าที่น่าเกรงขามที่สุด วันนี้เราจะพาไปรู้จัก นกเค้าอินทรียูเรเซีย กันค่ะ
แม้นกฮูกหลาย ๆ ชนิดจะมีขนาดลำตัวและหางที่ทั้งยาวและใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามคงไม่มีสายพันธุ์ใดเอาชนะความอหังการของ นกเค้าอินทรียูเรเซีย (Eurasian Eagle Owl) ที่ถูกยกให้เป็นสายพันธุ์นกฮูกขนาดใหญ่ที่สุดและแข็งแรงที่สุดในบรรดานกฮูกทั้งหมด อีกทั้งยังอยู่ในกลุ่มของ 10 อันดับนักล่าที่น่าเกรงขามที่สุดด้วย เราลองไปทำความรู้จักกับ นกเค้าอินทรียูเรเซีย กันเลยจ้า
ลักษณะสายพันธุ์
นกเค้าอินทรียูเรเชีย มีลักษณะคล้ายคลึงกับนกฮูกทั่วไป แต่นกเค้าอินทรียูเรเชียมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนจุดที่มีความคล้ายคลึงกันก็คือ มีแนวขนบริเวณศีรษะที่ดูเหมือนกับหู และเป็นขนที่เอาไว้ใช้ในการสื่อสารกับจดจำมากกว่าอำพรางตัว
ในขณะที่ลำตัวทั้งหมดปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาล มีริ้วสีดำแทรกช่วงหน้าอก เช่นเดียวกับปีกทั้ง 2 ข้าง ที่มีความกว้างถึง 1.5-2 เมตร เมื่อถูกกางออกเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีสีสันที่ไม่แตกต่างกันทั้งเพศผู้และเพศเมีย แต่สามารถแยกออกจากกันได้โดยอาศัยการสังเกตขนาดของลำตัว เพราะตัวเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีความยาวของลำตัวอยู่ที่ 61-91 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2.2-3.6 กิโลกรัม
ส่วนสายพันธุ์ของนกเค้าอินทรียูเรเชีย ก็ถูกแยกย่อยออกไปอีก 12 สายพันธุ์ ได้แก่
B. b. bubo - พบได้ในประเทศแถบสแกดิเนเวีย สเปน ทางตะวันตกของยุโรป ไปจนถึงทางตะวันตกของรัสเซีย
B. b. hispanus - พบได้ในคาบสมุทรไอบีเรีย หรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป
B. b. ruthenus - พบได้ในตอนกลางของทวีปยุโรป รัสเซียในแถบเทือกเขายูรัลและแม่น้ำวอลก้า
B. b. interpositus - พบได้ในประเทศตุรกี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอิหร่าน ไปจนถึงภาคใต้ของประเทศยูเครน โรมาเนีย และบัลแกเรีย
B. b. sibiricus - พบได้ในทางตะวันตกของเทือกเขายูรัลไปจนถึงแม่น้ำอ็อบ และทางตะวันตกของเทือกเขาอัลไต
B. b. yenisseensis - พบได้ในทางตอนกลางของไซบีเรีย ไปจนถึงทางตอนเหนือของมองโกเลีย
B. b. jakutensis - พบได้ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย จากแม่น้ำเลน่าถึงทะเลโอคอตสค์
B. b. ussuriensis - พบได้ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของไซบีเรีย ไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เกาะซาฮาลิน ทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด และเกาะคูริล
B. b. turcomanus or B. b. omissus - พบได้ที่แม่น้ำวอลก้า ยูรัล ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศจีน และตะวันตกของมองโกเลีย
B. b. nikolskii - พบได้ในทางตะวันออกของประเทศอิรัก อิหร่าน แอฟริกา และทางตะวันตกของประเทศปากีสถาน
B. b. hemachalana - พบได้ที่ภูเขาพามีร์ และทางใต้ของภูเขาเทียนชาน ไปจนถึงทางตะวันตกของภูเขาหิมาลายันและทางตะวันตกของทิเบต
B. b. kiautschensis - พบได้ในแถบตะวันตกและตอนกลางของประเทศจีน (จากทางใต้ของยูนนานไปจนถึงเสฉวน) และแถบทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนไปจนถึงเกาหลี
ถิ่นที่อยู่อาศัย
นกเค้าอินทรียูเรเซีย สามารถพบได้ทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย รวมไปถึงทางตอนเหนือของแอฟริกา และภูมิประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าสน ทุ่งหญ้า หรือแม้กระทั่งในเขตกึ่งทะเลทราย
การขยายพันธุ์
นกเค้าอินทรียูเรเซีย มักจะสร้างรังตามแนวหน้าผาหรือในถ้ำ ซึ่งหาได้ยากกว่ารังนกชนิดอื่น ๆ โดยตัวเมียจะวางไข่ในช่วงปลายฤดูหนาว หรือประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน และวางไข่เพียงครั้งละ 1-4 ฟอง พร้อมใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 31-36 วัน ในขณะที่ตัวผู้จะเป็นฝ่ายออกไปหาอาหาร
ซึ่งถึงแม้ว่าลูกนกจะสามารถบินออกจากรังได้แล้วตั้งแต่ช่วง 7-8 สัปดาห์แรก แต่อย่างไรก็ตามพ่อ-แม่ของพวกมันก็ยังคงดูแลลูกนกต่อไปอีกเกือบ ๆ 6 เดือนหลังจากนั้น โดยนกในสายพันธุ์นี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 20-60 ปี
อาหาร
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาหารของนกเค้าอินทรียูเรเซีย จะเป็นสัตว์ประเภทที่มีฟันแทะ โดยเฉพาะหนูกับกระต่าย แต่บ่อยครั้งที่สัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก เป็ด รวมไปถึงสัตว์จำพวกหมาป่าและกวาง หรือแม้กระทั่งแมลงต่าง ๆ ก็ตกเป็นเหยื่อของนกเค้าอินทรียูเรเซียด้วยเช่นกัน
ถึงแม้นกเค้าอินทรียูเรเซียจะกระจายตัวอยู่ทั่วโลกและมีหลากหลายสายพันธุ์ตามที่ได้เสนอไป แต่ทว่าจำนวนประชากรของพวกมันกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการล่าของมนุษย์ คงจะดีกว่าหากพวกเราช่วยกันดูแลสัตว์ร่วมโลกหน้าตาน่ารักอย่าง นกเค้าอินทรียูเรเซีย เอาไว้ ถึงแม้มันจะเป็นนักล่าที่น่าเกรงขามก็ตามที