คิดให้ดีก่อนมีหมาจร




พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง-คิดให้ดีก่อนมีหมาจร (คมชัดลึก)
โดย ปานเทพ รัตนากร

          วิถีทางที่สำคัญประการหนึ่งในการแก้ปัญหาหมาจรจัดอย่างยั่งยืนก็คือ การนำหมาจรจัดมาเลี้ยงเป็นหมาบ้าน มันจะเปลี่ยนสถานะจากหมา Mid road หรือหมากลางถนนมาอยู่ในสถานที่มีรั้วรอบขอบชิด และที่สำคัญมีผู้รับผิดชอบในความรักและเลี้ยงดูมันต่อไปชั่วชีวิต ฝากผีฝากไข้ไว้ได้นั่นเอง

          การอุปการะหมาจากสถานเลี้ยงหรือสงเคราะห์หมาจรจัด จึงเป็นกิจกรรมที่ทุกแห่งต้องมี โดยเฉพาะกับหมาจรจัดซึ่งมิใช่หมาเด็ก เป็นหมาที่อยู่ในวัยรุ่น วัยฉกรรจ์ไปจนถึงบางตัวก็มีอายุพอควร ส่วนหมาเด็กไม่ค่อยต้องห่วงเนื่องจากออกตัวง่าย ใคร ๆ ก็ช่วยอุปการะ ด้วยความเชื่อว่ามันจะเชื่องและเชื่อฟังกว่าหมาโต ดังนั้นหมาโตจึงคั่งค้างอยู่เป็นปัญหาและภาระของสถานสงเคราะห์ต่อไป เมื่อสั่งสมมากเข้าก็ทำให้เกิดปัญหาหมาล้น ซึ่งยากแก่การแก้ไข ผู้ดำเนินการก็ปวดหัวกับเรื่องนี้อยู่ทุกๆแห่ง

          สำหรับผู้ที่มีจิตใจดีอยากช่วยสัตว์ผู้ยาก ด้วยการรับเข้าไปในบ้าน ถ้าไม่มีปัญหาจากหมาก็ดีไป แต่หลายๆ รายกลายเป็นได้รับทุกข์แทน เช่น หมาดื้อไม่เชื่อฟัง หมาเอาแต่หลบหนี หมาไม่ยอมให้จับต้องตัว หมาเห่าหอนไม่หยุดหย่อน หมากัด! ฯลฯ จนถึงกับต้องส่งคืนก็มี ซึ่งน่าเห็นใจครับ สงสารทั้งผู้ใจบุญและหมาผู้ด้วยบุญ สิ่งสำคัญสำหรับผู้อยากช่วยสงเคราะห์อุปถัมภ์หมาจรจัดเหล่านั้นควรจะต้องเข้าใจ ตระหนัก พิจารณา เพื่อเตรียมตัวตัดสินใจก่อนการรับสงเคราะห์หมา โดยใช้เกณฑ์ดังนี้

          1.หากครอบครัวคุณมีเด็กเล็กหรือกำลังจะมี อย่าเพิ่งอุปการะหมา หาบ้านให้ใหม่นะครับ เพราะอาจก่อปัญหากับเด็กเล็กในอนาคตได้

          2.หากบ้านคุณไม่มิดชิด คือปราศจากรั้วรอบขอบชิด ป้องกันหมามิให้เล็ดลอดไปได้ ก็ต้องจัดการให้สมบูรณ์ก่อนครับ

          3.หากที่บ้านมีหมาอยู่เดิม มีนิสัยค่อนข้างดุ ก้าวร้าว ขี้หวง ยังไม่ได้ทำหมันหรือตอน ฯลฯ อย่านำหมาจรจัดเข้าไปเลี้ยงอีก โอกาสไม่เข้ากันเป็นไปได้สูง

          4.หากคุณไม่มีเวลาให้หมาจริงๆ ไม่สามารถปลีกเวลามาเล่น ดูแล และให้ความรักแก่เขาได้ ก็อย่ารับมาเลี้ยงเพราะหมาจรจัดต้องการมาก

          5.หากคุณเป็นคนที่ต้องเดินทางบ่อย ไม่อยู่บ้านเป็นประจำ จำต้องปิดบ้านไว้โดยไม่มีใครอยู่ดูแล ก็ไม่ควรนำหมาเหล่านี้เข้ามาเลี้ยงเพราะหมาจะรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอย่างที่เคยโดนมาก่อน ทรมานเขาอีกครั้ง คล้ายกับหนีเสือปะจระเข้อย่างนั้นแหละครับ

          6.แม้ที่บ้านจะมีหมาเดิมอยู่ และไม่ใช่หมาก้าวร้าว คุณก็ต้องแน่ใจว่ามีเวลาแนะนำ และช่วยปรับตัวให้หมาเข้ากับหมาเดิมได้ ซึ่งต้องใช้เวลาอยู่พอควร

          7.พิจารณาดูตัวเองว่ามีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ หรือจ่าฝูงได้ดีแค่ไหน เมื่อต้องควบคุมหมาที่มีอยู่เดิม และหมาตัวใหม่ที่นำเข้ามา ต้องมั่นใจว่าเข้มแข็งพอจะหย่าศึกได้นะครับ

          8.ถ้าคุณเป็นคนขี้รำคาญต้องรู้ว่าหมาจรจัดนั้นเขาจะติดเจ้าของใหม่มาก และมักติดตามคุณทุกฝีก้าวเนื่องจากกลัวถูกทอดทิ้งซ้ำอีก (เดิมก็ถูกทิ้งให้เป็นหมาจรจัดไปรอบหนึ่งแล้ว) จนดูราวกับพัวพันนัวเนียอยู่รอบๆ ตัวคุณตลอดเวลา ถ้าเข้าใจเสียหน่อยก็ไม่เป็นปัญหาหรอกครับ
         
          9.ควรให้เวลา ใช้เวลาไปศึกษานิสัยใจคอและอารมณ์ของหมาตัวที่คุณหมายตาไว้ก่อนนำเข้าบ้าน ทำความรู้จักมักคุ้นเสียก่อนจนมั่นใจว่าคุณรู้ใจเขา เขารู้ใจคุณ มีความผูกพันกันก่อนจึงนำมาเลี้ยงครับ

          เท่าที่ผมดู คนไทยใจเร็วเห็นปุ๊บรักปั๊บนำกลับบ้านทันที ทั้งที่ยังไม่รู้พื้นเพว่าเป็นอย่างไร แล้วก็เกิดปัญหาภายหลัง หวังว่าใครที่จะรับหมาไปเลี้ยงน่าจะได้ข้อคิดไปใช้ประโยชน์บ้างนะครับ!




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คิดให้ดีก่อนมีหมาจร อัปเดตล่าสุด 1 ธันวาคม 2552 เวลา 19:43:21 6,894 อ่าน
TOP
x close