x close

ภัยยาแก้ปวดแก้ไข้ ในหมาแมว




ภัยยาแก้ปวดแก้ไข้ในหมาแมว (คมชัดลึก) 
คอลัมน์ พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย ปานเทพ รัตนากร

          บวดหาย! บวดไม่หาย! บวดถึงตาย! ??

          คนรุ่นใหม่อาจคิดว่าสะกดผิด แต่หาเป็นเช่นนั้น ไม่ "บวด" ที่ว่ามาจากคำว่า "ปวด" ซึ่งเดิมทีใช้เป็นชื่อยา "ปวดหาย" แต่ต่อมารัฐมีกติกาว่า ชื่อยาจะเป็นการโฆษณาโจ่งแจ้ง เกินเลยไม่ได้ ทว่าชื่อนี้ก็ติดปากคนไทยไปแล้วจึงปรับให้เพี้ยนสักหน่อย ยังคงไว้ซึ่งความเข้าใจว่าเป็นยาตัวเดิม "บวดหาย" จึงเป็นชื่อใหม่ของยาตัวนั้น เช่นเดียวกับยาแก้ปวดลดไข้อีกหลาย ๆ ขนานที่ต้องแผลงชื่อด้วยเหตุเดียวกัน

          สำหรับหมาแมวแล้วเราให้ยาแก้ปวดที่ใช้กับคนบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน ก็หยิบใช้เองบ้าง ให้สัตว์เลี้ยงบ้าง โดยหารู้ไม่ว่ามีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตซ่อนอยู่ มียาแก้ปวดแก้ไข้สำหรับคน 3 ชนิดที่มีพิษภัยถึงหมาแมวได้ คือ แอสไพริน ไอบูโปรเพน และอเซตตามิโนเฟน

           แอสไพริน เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่มีมานานอย่างกว้างขวาง เพราะราคาถูก หาซื้อง่าย แต่ยาตัวนี้จะเป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาลดอักเสบจำพวกสเตียรอยด์และไม่ใช่สเตียรอยด์ เมื่อนำไปใช้กับสัตว์เลี้ยงมันจะไปขัดขวางการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดเลือดออกไม่หยุด จ้ำห้อเลือด (อาจพบเห็นที่เหงือก) เลือดออกในกระเพาะอาหารเนื่องจากระคายเคือง หายใจลำบาก มีอาการทางระบบประสาท และไตวาย ปัญหาระบบทางเดินอาหารพบบ่อยในหมา

           อเซตตามิโนเฟน ที่รู้จักกันดีว่า "พารา" อันนี้มีพิษด้วยตัวมันเอง (ยกเว้นรุ่นที่ลวดฝังใน ตามข่าว ถ้ากินเข้าไปอันตรายแน่ๆ) "พารา" เป็นยาต้องห้ามในแมว เพราะแมวไวต่อการเป็นพิษของยาชนิดนี้จนถึงตาย พบบ่อยครั้งมาก ที่เจ้าของแมวรักษาแมวป่วยไข้ด้วยยาพาราประจำบ้าน ด้วยขนาดเพียงเม็ด 250 มิลลิกรัม ก็ทำให้แมวหน้าบวม น้ำตาไหล หายใจลำบาก ทุรนทุราย ชักกระตุกและถึงตาย

           ไอบูโปรเฟน เป็นยาแก้ปวดลดไข้แบบใหม่ที่ไม่รู้จักกันมากนัก แต่นิยมใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในคน เพราะให้ผลชงัดสำหรับการลดอักเสบ ลดปวด ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่กดภูมิต้านทาน หากนำไปใช้ในหมาไทยนั้นเสี่ยงต่อความเป็นพิษสูงมาก เพราะขนาดความปลอดภัยจะต้องรู้อย่างถูกต้อง หากใช้ผิดขนาด ผลที่ตามมาคือแผลเลือดออกในกระเพาะ แต่ถ้าเผลอใช้ขนาดที่สูงมากขึ้นจะทำให้อันตราย ตายไวอย่างแน่นอน อาการเป็นพิษเมื่อให้ เช่น เบื่ออาหาร อาเจียน อึสีดำ (มีเลือดปน) อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง อ่อนเพลียรุนแรง และตาย!

           ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การใช้ยาแก้ปวด ลดไข้ ลดอักเสบทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมาในหมา แมวนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สัตว์ต้องได้รับยาตามปริมาณที่ถูกต้อง มิฉะนั้นโอกาสการเกิดพิษจากยาเพราะได้รับยาเกินขนาดเป็นไปได้สูง รวมถึงการแพ้ยาโดยตรงกับสัตว์บางชนิด (แมว)

          ทางที่ดีปรึกษาหารือสัตวแพทย์ทุกครั้งก่อนการให้ยาแก้ปวดชนิดใด ๆ ก็ตามแก่หมาแมวของท่านเสมอครับ!




ขอขอบคุณข้อมูลจาก




 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภัยยาแก้ปวดแก้ไข้ ในหมาแมว อัปเดตล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17:17:49 2,616 อ่าน
TOP