x close

วิธีสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแมวกับเด็ก สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่


วิธีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับเด็ก


เรียบเรียบข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก catster.com


          หลายคนคงตื่นเต้นไม่น้อยหลังจากได้รู้ว่าตนเองกำลังจะกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ แต่อาจติดปัญหานิดหน่อยตรงที่ว่า ในบ้านมีแมวอาศัยอยู่ด้วยจึงไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรดี เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจึงนำวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแมวกับเด็กทารกมาฝากกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง อีกทั้ง ยังช่วยให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอีกด้วย


          1. ทำตารางเวลาสำหรับสิ่งที่ต้องทำ หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่นำเด็กทารกเข้ามาในบ้านคงมีเรื่องราวให้คิดและทำมากมายหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งก็อาจหลงลืมไปว่า ต้องดูแลแมวของตัวเองด้วย ดังนั้นทางที่ดีควรทำตารางเวลาพร้อมกับจดสิ่งที่ต้องทำเอาไว้ก่อน อย่างเช่น การให้อาหาร ทำความสะอาดกระบะทราย เป็นต้น วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้จัดการชีวิตได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังสามารถดูแลแมวไปพร้อมกันด้วย


          2. แนะนำให้แมวรู้จักกับสมาชิกใหม่ ช่วงที่เด็กทารกยังอยู่ในโรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่ก็ควรนำสิ่งของที่มีกลิ่นของเด็กทารก ได้แก่ ผ้าอ้อม ตะกร้า หรือ เสื้อผ้า มาวางเอาไว้ในบ้านก่อน หรือในระหว่างที่เล่นกับแมวอาจเปิดเสียงเด็กเล็กคลอไปด้วย เพื่อให้แมวเกิดความคุ้นเคยและเป็นการทำความรู้จักไปในตัว ก่อนที่จะพาทารกเข้ามาอยู่จริง ๆ เพราะถ้าหากนำเด็กทารกเข้ามาอยู่เลยก็อาจทำให้แมวรู้สึกกลัวได้


          3. ให้ความสำคัญทั้ง 2 ฝ่ายเท่า ๆ กัน เรื่องหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะทำพลาดกันเป็นประจำคือ การให้ความสำคัญกับเด็กทารกมากกว่าแมว ทั้งที่ก่อนหน้านี้เอาใจใส่กันเป็นอย่างดีตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงเรื่องนอนจนเคยตัว ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าหากเห็นแมวเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ บ่อยกว่าเดิม โดยเฉพาะในระหว่างที่กำลังดูแลเด็กทารก เนื่องจากแมวต้องการจะเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของนั่นเอง ทั้งนี้ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลเอาใจใส่แมวเหมือนก่อน ก็ควรหาของเล่นสำหรับแมวมาเตรียมเอาไว้ด้วย เพื่อทำให้แมวรู้สึกว่ายังได้รับการเอาใจใส่และมีความสำคัญกับเจ้าของอยู่


          4. ให้แมวเข้าไปสำรวจห้องของเด็ก ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่แยกห้องนอนให้กับเด็กทารกก็ควรเปิดโอกาสให้แมวได้เข้าไปสำรวจภายในก่อนสักครั้งสองครั้ง เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับกลิ่นและบรรยากาศ อีกทั้งช่วยลดอาการตื่นกลัวของแมวไปพร้อมกันด้วย แต่หลังจากที่พาเด็กทารกกลับมาที่บ้าน ควรพยายามให้แมวอยู่ห่างตัวเด็กเอาไว้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แมวเข้าใกล้หรือฉี่รดบนอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็ก


          5. ปรับเปลี่ยนอุปนิสัยของแมว ในกรณีที่แมวถ่ายไม่เป็นที่ ควรรีบเปลี่ยนนิสัยตั้งแต่ช่วงที่ยังตั้งครรภ์ เพราะนอกจากจะสร้างกลิ่นเหม็นและทำให้บรรยากาศภายในบ้านไม่น่าอยู่แล้ว อุจจาระของแมวยังเป็นที่มาของเชื้อโรคต่าง ๆ
ด้วย นอกจากนี้นิสัยด้านลบของแมวก็อาจจะแสดงออกมามากขึ้นหลังจากพาเด็กทารกกลับมาบ้าน เนื่องจากต้องการเรียกร้องความสนใจนั่นเอง


          6. จัดที่นอนแมวไว้บนตำแหน่งสูง ๆ แมวไม่ได้เป็นมิตรกับเด็กทารกเสมอไปและด้วยอุปนิสัยส่วนบางอย่างจึงอาจทำให้แมวต้องการหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเด็กทารก ดังนั้นหากเป็นไปได้ คุณพ่อคุณแม่ควรนำคอนโดแมวหรือเบาะรองนอนมาวางเอาไว้ในตำแหน่งสูง ๆ บ้าง เพื่อใช้เป็นที่แอบซ่อนและเก็บตัวจากความวุ่นวายที่พ้นมือเด็ก


          ทั้งนี้ เชื่อแน่ว่าคุณพ่อคุณแม่คงออกอาการปลาบปลื้มและตื่นเต้นไม่น้อยหลังจากที่ได้ข่าวเรื่องสมาชิกใหม่ของบ้าน แต่อย่าลืมว่าแมวก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากคน อีกทั้งยังถือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของบ้านไปแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าลืมเอาใจใส่และดูแลเจ้าเหมียวกันด้วยนะคะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแมวกับเด็ก สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2556 เวลา 10:40:04 1,063 อ่าน
TOP