x close

มารู้จัก...เห็บ-หมัด อันตรายใกล้ตัว สัตว์เลี้ยง




มารู้จัก...เห็บหมัดอันตรายใกล้ตัวสัตว์เลี้ยงกันดีกว่า (โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ)

 เห็บ

          รูปลักษณะของเห็บตัวเมียนั้นจะอ้วนกลมคล้ายเม็ดมะละกอ  ส่วนตัวผู้จะสีออกน้ำตาลแดงมองเห็นขาชัดเจนกว่า  ส่วนตัวที่เห็นเล็ก ๆ นั้นก็คือเห็บเช่นกันแต่เป็นช่วงที่ยังไม่โตเต็มวัย  เห็บมันจะเกาะอยู่ที่บนผิวหนังสุนัข  มักไม่กระโดดและมักไม่เคลื่อนที่

 วงจรชีวิตของเห็บ

          เพื่อให้เราสามารถจัดการกับปัญหาเรื่องเห็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อาจจำเป็นจะต้องรู้จักวงจรชีวิตของเห็บ  เห็บสุนัขเป็นแบบ  3  Host  tick  คือใน 1 วงจรชีวิตของเห็บนั้นจะทิ้งตัวออกจากตัวสุนัข 3 ครั้ง  โดยเริ่มจาก
...
          1.  เห็บเพศผู้เพศเมียขึ้นไปดูดกินเลือดและผสมพันธุ์บนตัวสุนัข
          2.  เห็บเพศเมียที่มีไข่เต็มท้อง  ดูดเลือดจนตัวอ้วนเป่ง  แล้วทิ้งตัวลงจากตัวสุนัข  เพื่อไปวางไข่ตามพื้นแล้วตายไป
          3.  ไข่ฟักเป็นตัวอ่อน (มี 6 ขา)  สีซีด (มองเห็นด้วยตาเปล่าลำบาก  มีขนาดเท่าจุดเล็กๆ)  คอยหาสุนัขแล้วขึ้นเกาะเพื่อดูดเลือด
          4.  ตัวอ่อนเมื่อดูดเลือดสุนัขจนอิ่ม  จะลงจากสุนัข  (ครั้งที่ 2)  และลอกคราบเติบโตเป็นตัวกลางวัย  (มี 8 ขา)
          5.  ตัวกลางวัยคอยหาสุนัขขึ้นเกาะเพื่อดูดเลือดสุนัข
          6.  เมื่อดูดเลือดจนตัวโตเต็มที่จะทิ้งตัวลงจากสุนัข  (ครั้งที่ 3)  และลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย  (มี 8 ขา)
          7.  ตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียคอยหาสุนัขขึ้นเกาะเพื่อดูดเลือด

 อันตรายที่ได้รับจากเห็บ

          1.  เห็บสามารถนำโรคพยาธิในเม็ดเลือด  (Ehrlichiosis,  Babesiosis, Hepatozoonosis)  มาสู่สุนัขได้  ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย  ซึ่งจะก่อปัญหาต่าง ๆ  ตามมาได้  เช่น  โรคเลือดจาง,  โรคตับ,  โรคไต  เป็นต้น  อาการที่มักเริ่มสังเกตุได้คือ  ซึมลง,  เบื่ออาหาร,  มีไข้ตัวร้อน,  เหงือกหรือลิ้นซีดลง  เป็นต้น

          2.  เกิดบาดแผลบริเวณที่โดนเห็บกัด  และอาจทำให้เกิดปัญหาภูมิแพ้ผิวหนังตามมาได้  หรือสุนัขอาจมีอาการคันและเกาจนทำให้เกิดแผลอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นตามมาได้

          3.  ถ้ามีเห็บมาก ๆ  จะดูดกินเลือดจนอาจทำให้สุนัขเลือดจางได้

 การควบคุมและจัดการเห็บ

          ควรกำจัดให้รวดเร็วเพื่อลดเวลาที่จะได้รับเชื้อโรคที่จะติดมาจากเห็บ

          1.  การควบคุมเห็บบนตัวสุนัข  ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ให้ผลได้ดี  เช่น

          แบบสเปรย์  วิธีนี้จะให้ผลในการกำจัดเห็บได้ดีและรวดเร็ว  โดยต้องทำการพ่นไปให้ทั่วตัวสุนัข  ตามขนาดน้ำหนักตัว  แต่ค่อนข้างยุ่งยากในการพ่นและมีกลิ่นฉุน  แต่หากสุนัขมีเห็บเยอะ วิธีนี้เหมาะสมที่สุดและช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า  ตัวอย่างเช่นสเปรย์ของยี่ห้อ  Frontline

          แบบหยดหลัง  วิธีนี้ใช้ง่ายและสะดวก  เพียงหยดตัวยาในหลอดลงกลางหลังคอของสุนัข  โดยแหวกขนเพื่อให้ตัวยาสัมผัสกับผิวหนังให้มากที่สุด  เหมาะสำหรับกรณีใช้ป้องกันหรือในกรณีที่มีเห็บน้อยๆ  ตัวอย่างเช่นยาหยดหลังของยี่ห้อ  Frontline,  Revolution,  Advantix,  Proticall  เป็นต้น

          แบบอื่น ๆ  เช่น ยาแบบผสมน้ำราดตัว  (ซึ่งมีขอบเขตความปลอดภัยต่ำกว่า)  ส่วนแบบแป้งหรือแชมพู  อาจมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่า

          ถ้ามีเห็บมากจริง ๆ  และถ้าการใช้เพียงวิธีเดียวไม่ได้ผล  อาจใช้หลายวิธีร่วมกันได้  เช่นแบบสเปรย์หรือหยดหลัง  ร่วมกับแบบผสมน้ำราด  ร่วมกับอาบน้ำด้วยแชมพูกำจัดเห็บ  เป็นต้น

          ในปัจจุบัน  มีผลิตภัณฑ์ออกมาหลายยี่ห้อหลายรูปแบบ  ซึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้แบบที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย  โดยอาจต้องศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้องและปลอดภัย  หรืออาจต้องปรึกษาจากสัตวแพทย์

          2.  การควบคุมเห็บที่อยู่ตามสิ่งแวดล้อม  อย่างที่ได้อธิบายมาแล้วในหัวข้อวงจรชีวิตของเห็บ  ที่จะเคลื่อนลงมาที่พื้น 3 ครั้งใน 1 วงจรชีวิต  ดังนั้นตามสิ่งแวดล้อมรอบๆ ที่สุนัขอยู่อาจมีเห็บอยู่ได้  จึงจำเป็นที่จะต้องกำจัดที่สิ่งแวดล้อมด้วย  มีผลิตภัณฑ์ในหลายๆ  แบบ  โดยอาจต้องศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้องและปลอดภัย  หรืออาจต้องปรึกษาจากสัตวแพทย์เช่นกัน

          3.  จำเป็นต้องควบคุมและกำจัดเห็บกับสุนัขทุกตัวที่เลี้ยงไว้บริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียง  เพื่อตัดวงจรเห็บให้หมดไป  และป้องกันการติดซ้ำจากตัวที่ยังคงมีเห็บอยู่

          4.  ควรหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่มีเห็บ  เช่น  ถ้าเป็นไปได้ งดการออกวิ่งนอกบ้านหรือตามพื้นดินพื้นหญ้านอกบ้านหรือแม้แต่ในสนามหญ้าในบ้านเอง  เพราะบางครั้งอาจมีสุนัขบริเวณหน้าบ้านที่มีเห็บผ่านมาและปล่อยเห็บลงมาตามพื้น  ซึ่งจะติดมาที่สุนัขของเราได้  (ถ้าเป็นได้  ให้จำกัดสุนัขอยู่แต่ในบ้านหรือในห้องน่าจะดีที่สุด)

          5.  ควรทำการควบคุมและกำจัดเห็บอย่างต่อเนื่อง

 ข้อควรรู้อื่น ๆ

          1.  ถ้าใช้ยากำจัดเห็บแล้วยังพบเห็บอยู่อาจเป็นเพราะวิธีการใช้และปริมาณการใช้ไม่ถูกต้อง  หรือเห็บที่พบอาจพึ่งขึ้นมาบนตัวสุนัขจึงยังไม่ได้รับยา  หรือบริเวณที่เลี้ยงมีการระบาดของเห็บเป็นปริมาณมาก จึงอาจกำจัดได้ไม่หมดภายในครั้งแรกครั้งเดียว

          2.  ถ้าสุนัขมีความจำเป็นต้องวิ่งออกนอกบ้านประจำ  ควรใช้ยาเป็นประจำทุกๆ เดือน เพื่อป้องกันและกำจัดการติดขึ้นมาใหม่

          3.  ยาฆ่าเห็บแบบฉีดและกินที่มีใช้นั้นเป็นแบบ  extra – label  use  (การใช้ยาที่นอกเหนือจากที่กำหนด)

          4.  คนก็สามารถโดนเห็บเกาะได้เช่นกัน  บางคนอาจแพ้ได้  แต่ถึงอย่างไรก็ตามคนก็ไม่ใช่ที่อาศัยเฉพาะของเห็บ  และก็เคยมีรายงานเพียงเล็กน้อยว่าคนสามารถติดโรคพยาธิในเม็ดเลือดจากเห็บได้

 หมัด

          หมัดจะเป็นตัวที่วิ่งเร็วๆ  กระโดดได้  อยู่บนตัวสุนัข  หรือแมว  จะจับออกได้ลำบากเพราะจะวิ่งหนีได้รวดเร็ว  ต่างจากเห็บซึ่งมักไม่ขยับไปไหน

 อันตรายที่ได้รับจากหมัด

          1.  หมัดสามารถทำให้เป็นโรคพยาธิตัวตืดเม็ดแตงกวาได้

          2.  หมัดทำให้เกิดโรคพยาธิในเม็ดเลือดได้  โดยเฉพาะในแมว

          3.  หมัดทำให้เกิดปัญหาภูมิแพ้ผิวหนังได้

          4.  ถ้ามีหมัดมาก ๆ  อาจทำให้เลือดจางได้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มารู้จัก...เห็บ-หมัด อันตรายใกล้ตัว สัตว์เลี้ยง อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2552 เวลา 21:54:59 8,476 อ่าน
TOP