ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณหมอแมว
ครั้งแรกที่ตัดสินใจว่าจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยง คุณต้องมั่นใจว่าคุณจะ "เลี้ยง" สัตว์ที่คุณเลือกแล้วไปตลอด ไม่ปล่อยหรือทิ้งมันกลางทาง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงยอดนิยมส่วนใหญ่ คือ สุนัขและแมว ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ และบางคนรักมากถึงขนาดอยากเลี้ยงสัตว์ในห้องนอนเลยทีเดียว แต่ก็กลัวว่าจะมีเชื้อโรค หรืออันตรายใด ๆ หรือไม่ ...
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของคนใดสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณหมอแมว แพทย์คนดังจากแวดวงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้นำเสนอความรู้ดี ๆ ที่เชื่อว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายคนอาจจยังไม่ทราบ ทั้งตอบคำถามคนเลี้ยงให้สบายใจ และสัตว์เลี้ยงก็จะมีความสุขเพราะได้อยู่กับเจ้าของมันไปอีกนานแสนนาน
Fast Fact เลี้ยงสัตว์ในบ้านหรือห้องนอนได้หรือไม่ แบบหมอแมว
เวลามีข่าว-ละคร-รายการสยองขวัญ เอาเรื่องเห็บหมาไปอยู่ในตัวคนมาฉาย มักเกิดกระแสความกลัวขึ้นมาตามด้วยการทิ้งสัตว์ เรื่องของเรื่องคือไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย
1. เห็บหมาแมวอาศัยในตัวคนได้หรือไม่
เห็บหมาแมวอาจจะกัดคนได้ ดูดเลือดคนได้ แต่มันไม่ได้อยากอยู่กับคนหรอกครับ
เห็บหมาแมวเวลาวางไข่ก็ต้องออกจากตัวสัตว์ก่อน แล้วกับคนจะมีอะไรพิเศษที่มันจะต้องไปวางไข่ในนั้น
อวัยวะวางไข่ของเห็บแทงทะลุผิวหนังไม่ได้นิ
นอกจากรายการชมรมขนหัวลุกตอนที่ 1 ที่สร้างให้เห็บหมาอาศัยในตัวเด็กได้ในสภาวะไม่มีอากาศ ... ยังไม่มีรายการใดกล้าสร้างแบบนั้นอีกเลย ผิดธรรมชาติเกิน
บางกรณีอาจเจอเห็บหมัดวางไข่บนคนที่นอนนิ่ง ๆ หมดสตินาน ๆ ... แต่ถ้ามีคนดูแลหรือขยับตัวได้ มันก็ไม่อยู่หรอก
ดังนั้น เลี้ยงหมาแมวถ้ามั่นใจว่าไม่มีเห็บก็ไม่ต้องกลัวครับ (แต่ถ้ามีก็ระวังเพราะมันเข้าหูได้ ... เข้าจมูกไม่น่ากลัว น้ำมูกไหลมันก็จมขี้มูกตายแล้ว)
2. ขนหมาแมวเข้าปอดได้ไหม
โดยธรรมชาติคนปกติยากมาก เพราะว่าปอดมนุษย์มีกลไกป้องกันอยู่แล้ว
บุหรี่น่ากลัวกว่าขนหมาขนแมวหลายเท่า เอาคนสูบบุหรี่ออกจากบ้านก่อนอาจจะสมเหตุสมผลกว่า
3. เลี้ยงแมวหมาทำให้เป็นหอบหืดได้ไหม?
งานวิจัยที่ทำในเด็ก เท่าที่อ่านผ่านมาทั้งหลายก็บอกว่าไม่ได้ทำให้เกิดการเป็นหอบหืดมากขึ้น
การเลี้ยงก่อนขวบปีแรก ทำให้เสี่ยงต่อการแพ้ขนแมวมากขึ้น แต่ถ้าหลังจากนั้นไม่ได้มากกว่าคนทั่วไป
ส่วนของหมา ... ผลไม่ชัดเจน
4. เลี้ยงแมวหมาบนเตียงนอนได้ไหม
ไม่ควร
เสี่ยงต่อการติดเชื้อพวกเชื้อราผิวหนัง
ถ้าแพ้ล่ะซวย
ถ้าแมวหมามีเห็บหมัดพยาธิ ... ซวย
แต่ถ้ามั่นใจว่าไร้พยาธิ ไร้เห็บหมัด ไร้เชื่้อรารักษาความสะอาดดี ... ก็อีกเรื่องนึง
ถ้าเลี้ยงบนเตียงนอนมาเป็น 5 ปี 10 ปี ไม่แพ้ นอนเตียงเดียวกันต่อไปเถอะครับ ไม่แพ้หรอกครับ ถ้าแพ้ก็ว่ากันอีกที
5. แพ้ขนแมวขนหมา
การแพ้ อาจจะมีอาการคัน ผื่น น้ำมูก จาม หายใจลำบาก แตกต่างกันไปในแต่ละคน
การแพ้สัตว์เลี้ยง เป็นภูมิแพ้แบบหนึ่ง แต่คนเป็นภูมิแพ้ไม่จำเป็นต้องแพ้สัตว์เลี้ยง (อาจจะแพ้ไรฝุ่น แพ้ละอองเกสร แพ้แมลงสาบก็ได้)
แพ้ก็คือแพ้ ไม่แพ้ก็คือไม่แพ้ คนแพ้เจอนิดเดียวก็แพ้ คนที่ไม่แพ้ ไปนอนคลุกก็ไม่เป็นไรจริง ๆ
ที่เห็นบางคนตอนแรกไม่แพ้ แต่ตอนหลังแพ้ จริง ๆ คือคนนั้นแพ้ แต่แสดงอาการช้า หมอแมวก็เป็นหนึ่งในนั้น
แพ้ขนหมาขนแมวทำอย่างไร
ที่ผ่านมาแนะนำคนไข้ทั้งหลายทั้งปวง คำถามแรกที่คนไข้ถามคือ "ต้องเอาหมาแมวไปทิ้งไหม"
คำตอบคือ "นั่นคือหนทางสุดท้ายที่แนะนำเลยครับ"
ทางแก้เมื่อแพ้สัตว์เลี้ยง
การแพ้สัตว์เลี้ยงไม่ใช่การแพ้ขน แต่มักเป็นการแพ้ผิวหนัง (ขี้ไคลหรือรังแค) และน้ำลายสัตว์ ดังนั้น
ดูให้แน่ว่าแพ้สัตว์เลี้ยง จัดการเรื่องการแพ้ที่เจอบ่อยอย่างอื่น เช่น แพ้ซากแมลงสาบ (ที่ตายกลายเป็นผงละอองมองไม่เห็นด้วยตา) แพ้ไรฝุ่น แพ้ควันบุหรี่ ฯลฯ แก้ไขตรงนี้ก่อน ถ้าหายจะได้ไม่ต้องโทษสัตว์เลี้ยง
อาบน้ำสัตว์บ่อย ๆ การอาบน้ำจะช่วยล้างขี้ไคลตามตัวสัตว์ออกไป ทำให้เราแพ้ยากขึ้น (ป้องกันเชื้อราด้วย)
เอาหนังสือ-พรมออกจากห้อง เพราะมันจะเก็บฝุ่นรังแคไว้
เปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อย ๆ เอาที่นอนไปตากแดด ... ตากแดดไม่ได้ป้องกันแพ้สัตว์เลี้ยงหรอก ฆ่าไรฝุ่นไปด้วย
จัดมุมที่ปลอดสัตว์เลี้ยง ... จัดโซนให้ดี เพราะในบางเวลาที่จำเป็น จะได้มีที่หลบภัย
กินยา ... บางคนติดแมวหมามาก ๆ ต้องนอนกอด ถ้าเช่นนั้นก็กินยาซะครับ
หาที่กรองอากาศมาใช้ และไม่ใช่แบบธรรมดา หาแบบที่เรียกว่า HEPA High-efficiency particulate air เพราะเราไม่ได้จะกรองแค่ขน เราจะกรองขี้ไคลสัตว์
ในกรณีที่แพ้รุนแรงแบบหอบหืด
ไปตรวจกับแพทย์ภูมิแพ้ เพื่อดูว่าแพ้สัตว์เลี้ยงจริง ๆ หรือไม่
ใช้ยาไปเลย
ทำทุกอย่างที่ว่ามาทั้งหมด
ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องยกให้คนอื่นเลี้ยง
ซึ่งในชีวิตที่ผ่านมาของการเป็นแพทย์ รักษาคนที่แพ้สัตว์เลี้ยงหลายคน มีน้อยกว่า 5 รายที่สุดท้ายต้องแยกกับสัตว์เลี้ยงครับ
หมอแมวเป็นหนึ่งในนั้น เพราะผื่นคันทั่วตัวเป็นหมอแดงแทนกินยาก็ไม่หาย หอบขึ้นอีกต่างหาก
แพ้ขนแมวขนหมา ดีกว่าลาจากสัตว์ที่เรารักอย่างไร้เหตุผล
เรื่องสัตว์เลี้ยง ทั้ง สุนัข แมว ปลา ฯลฯ พร้อมวิธีดูแลสัตว์เลี้ยง คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ