x close

แมวเหมียว กับการถ่ายพยาธิ





เจ้าเหมียวกับการถ่ายพยาธิ (ข่าวสารโลกสัตว์เลี้ยง)

          สัตว์ตัวเล็ก ๆ แต่เรื่องพิษภัยแล้วไม่เล็กเหมือนกับตัว ใช่แล้วเรากำลังจะพูดกันถึงเรื่องของพยาธิ สัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากประสบพบเจอ เพราะเมื่อเจอกันทีไรก็เป็นเรื่องทุกที ไม่ว่าจะเป็นคนหรือแม้แต่ในแมว ก็มีปัญหาทั้งนั้น แมวที่มีพยาธิอยู่ในตัวนั้น เจ้าของอาจจะสังเกตไม่เห็นเลยก็ได้ เพราะโดยทั่วไป แมวจะมีอาการตั้งแต่เบื่ออาหารไปจนถึงกินอาหารมากขึ้น อาจจะมีทั้งผอมลง หรือท้องบวมขึ้น และอาการที่พบบ่อย ๆ คือ แมวจุไถก้นไปกับพื้น ... มาดูกันว่า พยาธิที่พบได้บ่อยในแมวนั้นมี พยาธิ อะไรกันบ้าง

พยาธิตัวตืด

          พบได้บ่อยในแมว โดยจะมีตัวหมัดหรือหนูเป็นตัวนำโรค เจ้าของอาจจะพบปล้องที่ออกมาพร้อมกับอุจจาระแมวเป็นเม็ดสีขาวคล้ายเม็ดแตงกวา บางครั้งอาจจะเคลื่อนไหว พอแห้งแล้วอาจจะดูคล้ายเม็ดข้าว การจะกำจัดพยาธิตัวตืดได้ จะต้องถ่ายพยาธิให้ออกมาหมดทั้งส่วนหัวที่เกาะติดอยู่กับผนังลำไส้ด้วย รวมทั้งต้องกำจัดหมัดด้วย

          พยาธิชนิดนี้ ติดต่อจากการกินหมัด หรือเหาที่มีเชื้อเข้าไป และพยาธิจะออกมาเจริญเป็นตัวอยู่ในลำไส้ของแมว แม้ไม่ได้ให้อาหารดิบ ๆ กับแมว แต่แมวก็ติดพยาธิได้ ปกติพยาธิตัวตืด จะไม่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย แต่ถ้ามีมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการอุดตันทางเดินอาหารได้ หรือทำให้ร่างกายแมวทรุดโทรม

พยาธิตัวกลม

          ลูกแมวแรกเกิดมักจะมีพยาธินี้ติดออกมาเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับลูกสุนัข เพราะพยาธิตัวกลมจะติดต่อจากแม่แมวมาที่ลูกได้โดยผ่านทางรก ดังนั้นจึงสมควรถ่ายพยาธิให้ลูกแมวที่อายุ 1 เดือน เพื่อถ่ายพยาธิออกมา

พยาธิปากขอ

          พยาธิชนิดนี้ พบมากในเขตร้อนชื้น เช่น ในประเทศไทย พยาธิชนิดนี้กินเลือดแมวเป็นอาหาร ดังนั้น แมวที่มีพยาธิชนิดนี้มาก ๆ จะมีอาการโลหิตจาง อาจจะมีอาการท้องเสีย และน้ำหนักลด ร่วมด้วย ตัวอ่อนของพยาธิปากขอติดต่อได้โดยการกินหรือไชเข้าทางผิวหนัง ลูกแมว สามารถติดพยาธิปากขอจากแม่ตอนที่อยู่ในท้องได้

พยาธิท็อกโสพลาสม่า

          เป็นพยาธิที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของเจ้าของแมวด้วย เนื่องจาก พยาธิท็อกโสพลาสม่า สามารถติดมาสู่คนได้ พยาธิชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มีเซลล์เดียว หรือเรียกว่า เป็นพวกโปรโตซัว สามารถทำให้แมวเกิดอาการท้องเสียได้ ไข่ของพยาธิชนิดนี้ออกมากับอุจจาระของแมว แต่ต้องใช้เวลา 2-3 วัน ถึงจะอยู่ในระยะติดต่อ ทั้งนี้ เคยมีรายงานพบว่า พยาธิชนิดนี้ทำให้สตรีที่ตั้งครรภ์อยู่แท้งได้ ดังนั้นการป้องกันสำหรับเจ้าของเอง คือการทำความสะอาดกระบะถ่ายแมวทุกวัน และไม่ควรนำทรายที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอีก

ข้อควรรู้ในการถ่ายพยาธิแมว

          การถ่ายพยาธิในแมว ควรทำทันทีเมื่อนำแมวมาเลี้ยงใหม่ และควรทำการถ่ายพยาธิทั้งภายในและภายนอก พยาธิภายในจะอยู่ในส่วนลำไส้ของแมว ซึ่งอาจลามเข้าถึงกระเพาะได้ พยาธิจะแย่งอาหารจากแมว ทำให้แมวโตช้า มีลักษณะแคระแกร็น อาจมีอาการชักและตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว

          นอกจากนี้พยาธิเหล่านี้ยังสามารถถ่ายทอดผ่านรกแม่มาสู่ลูกในท้องได้อีก ซึ่งไม่น่าแปลกเลยที่จะพบว่าลูกแมวบางตัวเกิดมาก็มีลักษณะผอมโซ มีอาการโลหิตจางพุงโต เนื่องจากในลำไส้มีพยาธิอาศัยอยู่เต็มไปหมด ถ้าปริมาณเพิ่มมากขึ้น อาจอุดตันลำไส้จนถึงตายได้ ดั้งนั้นเราจึงควรทำการถ่ายพยาธิให้แมวทุกครั้งก่อนที่จะถึงระยะผสมพันธุ์และช่วงปลายของการตั้งท้อง

          อย่างไรก็ดี สำหรับลูกแมวที่ติดพยาธิมาจากแม่แมวนั้นก่อนอื่นเราต้องสังเกตเสียก่อนว่าพยาธิที่เจอนั้นเป็นพยาธิชนิดไหน แล้วจึงนำยาถ่ายพยาธิชนิดนั้น ๆ มาให้แมวกิน ควรเริ่มให้ถ่ายพยาธิได้ตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ และถ่ายพยาธิทุก 2 สัปดาห์ไปจนกว่า ลูกแมว จะมีอายุ 3 เดือน เพื่อตัดวงจรชีวิตของพยาธิ

          อีกสิ่งหนึ่งที่ควรระวัง ก็คือ พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิตัวแบน หรือพยาธิตัวตืด สามารถแพร่มายังแมวได้โดยอาศัยตัวหมัดเป็นพาหะ เพราะฉะนั้น นอกจากการถ่ายพยาธิแล้ว ควรจะต้องควบคุมเรื่องหมัดให้ดีเช่นกัน มิฉะนั้นแมวก็สามารถจะติดพยาธิได้อีก





ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แมวเหมียว กับการถ่ายพยาธิ อัปเดตล่าสุด 14 พฤษภาคม 2557 เวลา 10:02:10 40,101 อ่าน
TOP