"รู้จักโรค และป้องกัน" วีธีดูแลสุนัขตัวโปรด (เทคโนโลยีชาวบ้าน)
คอลัมน์ เทคโนฯ สัตว์เลี้ยง
โดย อุราณี ทับทอง
ยังคงเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหาเกี่ยวกับ "สุนัข" บ้างกัดคนตาย บ้างถูกจับขายเพื่อเป็นอาหาร และส่วนใหญ่ก็คือ การนำไปปล่อยในที่สาธารณะ สัตว์เลี้ยงยอดฮิตจึงถูกนำเสนอในแง่ของปัญหาสุนัขจรจัด ที่สร้างภาระหนักให้กับมูลนิธิสงเคราะห์สัตว์ต่าง ๆ มากมาย
แต่ละข่าว พานทำให้หัวใจคนนำเสนอข้อมูลให้ผู้อ่านรักสัตว์ เลี้ยงสัตว์ ห่อเหี่ยวตามไปด้วย และยิ่งน่าห่วงไปอีก เมื่อสอบถามไปยังผู้รับเลี้ยงแล้วทราบว่า สาเหตุแห่งการพรากจากเจ้าของไม่ใช่แค่รูปร่างที่ผิดเพี้ยนไป ไม่น่ารักสดใสเหมือนตอนยังเป็นสุนัขวัยเด็ก หรือกลายเป็นสุนัขพิการจากอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ปัญหาการดูแลสุขภาพของสุนัขที่เกิดจากการละเลยของผู้เลี้ยง กลายเป็นจุดเล็ก ๆ ที่สร้างปัญหาสังคมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้เรื่องการดูแลสุนัขที่เหมาะสม
สำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่ เมื่อตัดสินใจเลือกหาสัตว์มาเลี้ยงแล้ว สิ่งที่วนเวียนอยู่ในความคิดอาจมีเพียง ต้องให้อาหารอย่างไรดี หรือถ้าเป็นยุคนี้หลายคนคิดเลยไปถึงการหาเสื้อผ้ากิ๊บเก๋ให้สุนัขน่ารัก น่าอุ้มที่สุด แต่สุขภาพที่ดีภายนอกไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ก็ย่อมเกิดจากภายใน ดังนั้น นอกจากการให้อาหารที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับวัยของสัตว์แล้ว การป้องกันโรคเบื้องต้น ยังนับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เลี้ยงควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง โดยโรคที่เกิดขึ้นมากและจำเป็นต้องให้สุนัขได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวสัตว์ ได้แก่
โรคพิษสุนัขบ้า
โรคนี้คงไม่ต้องให้สาธยายถึงความร้ายกาจ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า มีอันตรายถึงชีวิตทั้งคนและสัตว์ ติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ป่วย เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า "เรบีส์ ไวรัส" ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่เป็นผลจากการอักเสบของเนื้อเยื่อประสาทและสมอง แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาสัตว์ที่ติดเชื้อแล้วให้หายได้ แต่การป้องกันมิให้สุนัขเป็นบ้า สามารถทำได้โดยง่ายด้วยการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี เข็มแรกให้ฉีดเมื่อสุนัขมีอายุ 12 สัปดาห์ แมวก็เช่นเดียวกัน จากนั้นควรฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่ออายุ 16 สัปดาห์ และฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี
โรคลำไส้อักเสบในสุนัข
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในสุนัขจากเชื้อที่มีชื่อว่า "พาร์โวไวรัส" มักเกิดขึ้นมากในลูกสุนัข ทั้งในสุนัขพันธุ์เล็กจนถึงพันธุ์ใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นง่ายในภาวะแวดล้อมที่มีการรวมกลุ่มของสุนัขจำนวนมาก เบื้องต้นสุนัขติดเชื้อจะมีอาการท้องเสียหลังติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจกลายเป็นหมาซึม เบื่ออาหาร อาเจียน หากถึงขั้นรุนแรงก็อาจมีเลือดปนและเสียชีวิต เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
ชื่อโรคอาจดูไม่รุนแรง แต่ผลของมันอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบ เข็มแรกฉีดตอนสุนัขอายุ 6 สัปดาห์ อีก 2 สัปดาห์ ฉีดกระตุ้นอีกครั้ง มีสัตวแพทย์แนะนำอีกว่าเมื่อถึงวัย 10 สัปดาห์ และ 16 สัปดาห์ ก็ควรฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพราะเป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญ
โรคไข้หัดสุนัข
เป็นโรคที่เกิดจากสุนัขติดเชื้อไวรัส "ดิสเทมเปอร์ ไวรัส" แสดงอาการมีไข้ น้ำมูก น้ำตาซึม เบื่ออาหาร ท้องเสีย กล้ามเนื้อกระตุก เดินเซ อาจถึงขั้นเป็นอัมพาต และมักเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ถึงขั้นรุนแรง แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขมีหลายสายพันธุ์ มีทั้งไม่แสดงอาการ และทำให้เกิดโรคอย่างฉับพลัน และบางสายพันธุ์ทำให้สุนัขผอมแห้ง ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ หากสุนัขมีอาการผิดปกติ จึงควรนำส่งสัตวแพทย์เพื่อตรวจรักษา รวมถึงจัดการสถานที่เลี้ยงให้สะอาด แยกสุนัขป่วยออกจากสุนัขปกติ เพราะติดเชื้อได้ทั้งทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ
โรคนี้พบมากในลูกสุนัขช่วงอายุระหว่าง 3-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ลดลง ควรให้วัคซีนป้องกันโรคเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสุนัขอายุ 6 สัปดาห์ ฉีดอีกครั้งเมื่อถึงวัย 8 สัปดาห์ หรือตามสัตวแพทย์กำหนด และควรฉีดซ้ำเป็นประจำทุกปี
โรคหวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ
ถ้าเปรียบเทียบกับคน โรคนี้ก็อาจไม่น้อยหน้าโรคหวัด 2009 เพราะเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายมาก แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพียงสัมผัส หรือหายใจเอาละอองเชื้อโรคที่สัตว์ป่วยไอออกมา อาการแรกเริ่มเหมือนสุนัขเป็นหวัด มีน้ำมูกใส ขี้ตาแฉะ แต่ต่อมาน้ำมูกจะเริ่มข้นขึ้นมีสีเหลืองปนเขียว และมีอาการไอเสียงแหบเป็นพักๆ และจะไอถี่ขึ้น สุนัขบางตัวอาจจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร โดยมากสุนัขที่ติดเชื้อแล้วไม่ตาย เพราะติดเชื้อนี้จะตายเพราะเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง เช่น โรคปอดบวม เป็นต้น
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อทั้งจากไวรัสและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด หากติดเชื้อต้องรีบรักษา แต่วิธีที่ดีก็คือการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนให้สุนัข ตั้งแต่อายุ 4 สัปดาห์ ฉีดซ้ำอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ ถัดมา
โรคตับอักเสบติดต่อในสุนัข
เกิดจากไวรัสชนิดที่เกิดเฉพาะในสุนัข จึงไม่ติดต่อถึงคนและสัตว์อื่น (นอกจากหมี) หากสุนัขติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง กระหายน้ำมาก ตาเหลือง เหงือกซีด แสดงอาการเจ็บเมื่อสัมผัสท้อง อาเจียน ท้องเสีย บางครั้งอาจจะมีเลือดปน เพราะถูกไวรัสไปโจมตีโดยตรงที่ตับและผิวด้านในของหลอดเลือด ทำให้ตับอักเสบจนกระทั่งถึงตับวายได้ในที่สุด โรคนี้เกิดกับสุนัขได้ทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิด ในสุนัขโตส่วนมากจะมีอาการไม่รุนแรง มีไข้ต่ำ เบื่ออาหาร อาเจียน ตาไม่สู้แสงก็อาจเกิดผลรุนแรงได้เช่นกัน
โรคตับอักเสบนี้สุนัขสามารถติดได้โดยตรงจากสุนัขที่ติดเชื้อ หรือจากสารคัดหลั่งของสุนัขตัวที่ติดเชื้อ มีผู้เลี้ยงมือใหม่หลายรายต้องเสียลูกสุนัขที่เพิ่งซื้อจากแหล่งแออัด เพราะติดโรคไวรัสตับอักเสบ ดังนั้น ลูกสุนัขจึงควรมีชีวิตอยู่ในสถานที่ที่สะอาดปลอดโปร่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และควรมีภูมิคุ้มกันโดยได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ และกระตุ้นอีกครั้ง เมื่ออายุ 10 สัปดาห์
โรคเลปโตสไปโรซีส
โรคนี้คุ้นหูกันมากในชื่อของ "โรคฉี่หนู" แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคนี้สามารถแพร่เชื้อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้
โดยติดเชื้อจากการปนเปื้อนกับปัสสาวะของสัตว์ป่วยผ่านพาหะนำโรคอย่างหนู หากสุนัขติดเชื้อจะแสดงอาการมีไข้สูง อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด กระหายน้ำมาก ดีซ่าน เจ็บปวดในช่องท้อง บางรายอาการหนักอาจถึงชีวิต ซึ่งดูไม่แตกต่างกับอาการของคนที่ติดโรคฉี่หนู แต่สุนัขไม่สามารถบอกผู้เลี้ยงได้เอง ต้องอาศัยความใส่ใจและการสังเกตจากผู้เลี้ยงเป็นหลัก
ปัจจุบัน มีรายงานพบว่า โรคนี้ติดต่อมาสู่คนได้โดยมีสุนัขเป็นพาหะนำโรคเสียเอง ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงไม่ควรละเลยโรคนี้ สุนัขทุกตัวภายในความดูแลควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค โดยฉีดเข็มแรกให้กับสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 10 สัปดาห์ หรือตามสัตวแพทย์กำหนด
โรคพยาธิ
พยาธิสารพัดชนิดอาจอยู่ในตัวสุนัขแสนรักชนิดที่ไม่สามารถคาดเดาที่มาและปริมาณที่มันกระดึ๊บๆ อยู่ในตัวสุนัขได้ อันตรายจากพยาธิโดยมากคือ "พยาธิภายใน" ส่งผลตรงต่อระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย รวมถึงพยาธิตัวตืด มักจะทำให้สุนัขท้องเสีย ส่งผลต่อถึงสุขภาพที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง ลูกสุนัขที่ติดพยาธิมักพบว่าท้องป่อง กรณีที่ติดพยาธิมากๆ ก็มักพบพยาธิดังกล่าวออกมากับอุจจาระ และเสี่ยงมากที่จะแพร่กระจายพยาธิไปสู่สิ่งแวดล้อมและติดต่อมายังคนได้ หรือสัตว์ตัวอื่น ดังนั้น สุนัขจึงควรได้รับการถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หรืออย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน
แต่พยาธิอีก 2 ชนิด ที่ผู้เลี้ยงต้องพึงระวังย่างยิ่งก็คือ "พยาธิหนอนหัวใจ" และ "พยาธิเม็ดเลือด" ที่มี "ยุง" และ "เห็บ" เป็นพาหะนำโรค ซึ่งสุนัขในเมืองไทยนับว่าเป็นสัตว์ที่สุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้เป็นอย่างมาก เพราะมีพาหะนำโรคกระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง ดังนั้น สุนัขจึงควรได้รับยาป้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีเวชภัณฑ์ที่ผู้เลี้ยงสามารถเลือกใช้ได้ มีทั้งยาฉีด ยากิน หรือยาหยดผ่านผิวหนัง แต่ควรได้รับคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นการดีที่สุด
ทุกโรคที่กล่าวมา สามารถป้องกันได้ตามที่กล่าวทั้งสิ้น แต่ผู้เลี้ยงจำนวนมากมองโรคและการป้องกันโรคเหล่านี้ว่าเป็น "ภาระ" เนื่องจากวัคซีนแต่ละเข็มมีค่าใช้จ่าย แต่อาจลืมคิดไปว่าเมื่อถึงคราวสุนัขป่วย ค่ารักษาพยาบาลกลับทวีค่ามากกว่าราคาวัคซีนหลายเท่าตัว ทางออกที่หลายคนปฏิบัติก็คือ ปล่อยให้สุนัขอ่อนแอ พิการ และทนทรมานกับโรคต่อไป หากวันใดที่ตนเองทนดูไม่ไหวก็ปล่อยให้สุนัขเป็นภาระผู้อื่นไป หรือไม่ก็ปล่อยให้มัน "ตายคาตา"...
โปรแกรมวัคซีนสุนัข มาตรฐานกลางจาก สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย
อายุสุนัข /4 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ (หากสัตวแพทย์พิจารณาว่าสัตว์มีความเสี่ยงต่อโรค)
อายุสุนัข/6 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัขและวัคซีนลำไส้อักเสบติดต่อ
อายุสุนัข / 8 สัปดาห์
วัคซีนรวมป้องกันโรคลำไส้อักเสบ ไข้หัดสุนัข ตับอักเสบ เลปโตสไปโรซีส ครั้งที่ 1
อายุสุนัข / 10 สัปดาห์
วัคซีนรวมป้องกันโรคลำไส้อักเสบ ไข้หัดสุนัข ตับอักเสบ เลปโตสไปโรซีส ครั้งที่ 2
อายุสุนัข / 12 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 1 (หากสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูง อาจทำก่อนเวลาและทำซ้ำเมื่ออายุครบ12 สัปดาห์)
อายุสุนัข / 16 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 2
อายุสุนัข / 24 สัปดาห์
ฉีดวัคซีนกระตุ้นป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
อายุสุนัข / ทุก 1 ปี
ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกโรค ปีละ 1 ครั้ง (วัคซีนรวม 1 เข็ม)
ในการพาสุนัขไปฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง ผู้เลี้ยงควรสังเกตอาการต่างๆ ทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีน เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีหากสุนัขมีการอาการแพ้ โดยส่วนมากสุนัขที่เพิ่งได้รับวัคซีนอาจมีไข้อ่อนๆ ผู้เลี้ยงจึงควรงดการอาบน้ำ 7 วัน และดูแลไม่ให้สุนัขไปเล่นน้ำหรือตากฝน หลีกเลี่ยงการนำสุนัขไปยังพื้นที่เสี่ยง และควรนำลูกสุนัขไปรับวัคซีนกระตุ้นให้ครบและตรงตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพที่ดีของสัตว์แสนรักของผู้เลี้ยงเอง
รวมเรื่องสัตว์เลี้ยง ทั้ง สุนัข แมว ปลา ฯลฯ พร้อมวิธีดูแลสัตว์เลี้ยง คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ