x close

โรคข้อสะโพกห่างในสัตว์เลี้ยง



โรคข้อสะโพกห่างในสัตว์เลี้ยง (Dogazine Healthy)
เรื่องโดย : น.สพ.พัฒนา รัตนชินทร์

            โรคข้อสะโพกห่าง เป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเนื่องจากการเลี้ยงดูที่ให้สารอาหารไม่ถูกสัดส่วนกับการเจริญเติบโตของสุนัข โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ผู้เลี้ยงยังมีความเข้าใจว่าต้องให้แคลเซียมมาก ๆ เพื่อเสริมสร้างกระดูก แต่แคลเซียมที่ให้มักจะเกินความพอดี ทำให้เกิดปัญหาโรคข้อสะโพกห่างตามมา

            โรคนี้เป็นอาการเสื่อหรือผิดรูปของข้อสะโพก หรือเนื่องจากการเคลื่อนของข้อสะโพก ซึ่งจะมีทั้งข้อสะโพกเคลื่อนมากหรือเคลื่อนน้อย ในรายที่เป็นมานาน เมื่อฉายภาพรังสีจะพบว่ามีแคลเซียมมาเกาะที่บริเวณข้อสะโพกมาก ทำให้ข้อสะโพกและบริเวณรอบๆ ข้อสะโพกเสื่อม โรคนี้จะพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่มากกว่าพันธุ์เล็ก เช่น เยอรมัน เซพเพิร์ต, โกลเดน รีทรีฟเวอร์ เป็นต้น โดยอาการจะแสดงออกตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขอยู่

            สัตว์ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเจ็บปวดเวลาเดิน ลุกขึ้นหรือนั่งลง มักไม่ค่อยยอมเดินหรือวิ่งเนื่องจากเจ็บ เมื่อถ่ายภาพรังสีในสุนัขที่เป็นระยะแรกจะพบว่ามีการเคลื่อนหรือผิดรูปของข้อสะโพก เช่น หัวกระดูกขาที่ต่อกับสะโพกไม่กลมเหมือนสุนัขปกติ อาจจะแบน ป้าน หรือหัวกระดูกเป็นเหลี่ยม บางรายกระดูกไม่อยู่ในเบ้า เบ้ากระดูกตื้น เป็นต้น อาการเจ็บเกิดจากกระดูกที่ผิดไปจากปกติ ทำให้เกิดการเสียดสีเวลาเดินมากกว่าปกติ จึงมีอาการอักเสบและเจ็บตามมา สุนัขบางรายจะลดอาการเจ็บโดยการกระโดดแทนการเดินหรือวิ่ง ถ้าเดินหรือวิ่งมากเกินไป สัตว์จะเจ็บปวดมากและจะไม่ยอมลุกหรือเดินในวันต่อมาในรายที่เป็นมานาน กระดูกอ่อนและข้อจะเกิดอาการเสื่อมอย่างรุนแรงและมีแคลเซียมมาเกาะที่บริเวณกระดูกและข้อ

            การรักษามักให้ยาควบคุมอาการเจ็บปวดเพื่อลดอาการเสื่อมของกระดูกและข้อ เมื่อยาแก้ปวดไม่ได้ผลต้องทำการผ่าตัด ซึ่งมีวิธีการทำได้หลายวิธี ที่นิยมในเมืองไทยคือการตัดหัวกระดูก และการผ่าตัดกล้ามเนื้อ เราจะกล่าวถึงการตัดกล้ามเนื้อในที่นี้กระดูกขาและกระดูกเชิงกรานจะมีกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ยืดให้เบ้ากระดูกแนบกับหัวกระดูก เมื่อกระดูกเคลื่อนหรือผิดรูปไปจะทำให้กล้ามเนื้อตึงมากกว่าปกติ กระดูกจึงเสียดสีกันมากขึ้นการตัดกล้ามเนื้อชิ้นนี้เพื่อให้หัวกระดูกกับเบ้าห่างกันมากขึ้น จึงช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะร่วมกับการรักษาทางยาจะเห็นผลได้ชัดเจนว่าสุนัขมีอาการเจ็บปวดลดลงอย่างมาก สามารถลุกเดิน วิ่ง หรือเล่นได้มากกว่าที่เคย แผลผ่าตัดจะอยู่ด้านในของต้นขา มีขนาดยาวไม่เกิน 2-3 นิ้ว สุนัขมักจะไม่ค่อยแสดงอาการเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัด มักเดินหรือวิ่งได้ภายหลังการผ่าตัดแล้ว 1-2 วัน อีกทั้งการดูแลแผลผ่าตัดก็ไม่ยุ่งยาก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคข้อสะโพกห่างในสัตว์เลี้ยง อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2555 เวลา 17:40:51 2,502 อ่าน
TOP