x close

โรคที่มากับการผสมพันธุ์ในสุนัข





โรคที่มากับการผสมพันธุ์ในสุนัข

เรื่องโดย : น.สพ.โกศิน ร่มโพธิหยก จากเจริญกรุงเทพเพ็ทคลินิก

            "Happy Valentine" ถือโอกาสในเดือนแห่งความรักส่งความรักความสุขให้กับผู้อ่านทุกคนครับ เชื่อว่าในเดือนนี้หลาย ๆ คนเริ่มมีความคิดอยากหาคู่ให้เจ้า 4 ขาไว้คลายเหงาในบรรยากาศอุ่น ๆ ของประเทศไทย ดังนั้นก่อนคิดจะมีรักทั้งที เรามาทำความรู้จักกับโรคที่มักแถมมากับการผสมพันธุ์ของสุนัขกันก่อนดีกว่าครับ


โรคแท้งติดต่อในสุนัข (Canine Brucellosis)

            โรคแท้งติดต่อในสุนัขนับว่าเป็นโรคที่ต้องระวังกันมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพราะพันธุ์สุนัข สาเหตุเกิดจากเจ้าเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Brucella canis โดยมักพบการแพร่ระบาดในสุนัขที่เลี้ยงรวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ฟาร์ม เพาะพันธุ์สุนัขหรือสถานกักกันสุนัข สำหรับในประเทศไทยได้มีการตรวจพบและยืนยันเชื้อครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ในปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังถือว่ามีการระบาดของโรคนี้อยู่ โดยสุนัขสามารถรับเชื้อได้ผ่านทางการกินหรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของสุนัขที่ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำนม น้ำคร่ำ รก ลูกสุนัขที่แท้ง หรือน้ำจากช่องคลอด เป็นต้น ทั้งยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งสุนัขส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อในช่วงที่เป็นสัดหรือผสมพันธุ์

  อาการของโรค

            โรคนี้มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ในสุนัขเพศเมียทำให้เกิดการแท้งลูกโดยเฉพาะในช่วงท้ายของการตั้งท้อง (45-55 วัน) หากมีลูกสุนัขรอดก็มักไม่แข็งแรง และเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด โดยจะพบของเหลวสีน้ำตาลหรือเขียวไหลออกจากช่องคลอดแม่สุนัขนาน 1-6 สัปดาห์หลังแท้ง สำหรับในสุนัขเพศผู้ทำให้เกิดการอักเสบของอัณฑะ ถุงหุ้มอัณฑะ และต่อมลูกหมากอาจสังเกตพบลูกอัณฑะบวมผิดปกติข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างในระยะแรก และอัณฑะฝ่อลีบลงในระยะต่อมา มีผลทำให้คุณภาพของน้ำอสุจิและความกำหนัดลดลง นอกจากนี้สุนัขอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนแรง ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายขยายใหญ่ แลปวดหลัง เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย

            สุนัขที่มีอาการดังกล่าวควรนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยการวินิจฉัยจากประวัติ การตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การรักษา

            เป็นข่าวร้ายสำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้ เนื่องจากว่าการรักษาโรคแท้งติดต่อของสุนัขในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ได้ผลการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาสุนัขที่ป่วยในระยะแรกๆ ของโรคนั้น อาการของสุนัขมักตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าในรายที่มีอาการป่วยเรื้อรัง

            ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องักนโรคแท้งติดต่อ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหมั่นตรวจยืนยันโรคของสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 4-6 สัปดาห์ก่อนนำมาเลี้ยงรวมและสำหรับสุนัขที่ต้องการนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ควรทำการตรวจอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งและทุกครั้งก่อนนำมาผสมพันธุ์ หากพบสุนัขป่วยเป็นโรคควรทำการแยกเลี้ยงกับสุนัขอื่นๆ และไม่ควรนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์อีกถึงแม้จะได้ทำการรักษาแล้วก็ตามและแนะนำว่าควรทำหมันเพื่อการลดโอกาสการแพร่กระจายของโรคออกไปครับ

            โรคนี้สามารถติดต่อสู้คนได้เมื่อคนกินหรือเมื่อผิวหนังที่มีบาดแผลไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะในคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เด็ก ผู้สูงอาย ผู้ป่วย และคนท้อง โดยอาการที่พบในคนคือปวด เมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นต้น


โรคเนื้องอก VG (Venereal Granuloma)

            VG เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งในสุนัข สามารถติดต่อได้โดยการที่สุนัขไปสัมผัสกับก้อนเนื้อของสุนัขป่วย ไม่ว่าจะผ่านทางการผสมพันธุ์ เลีย หรือดมก็ตาม โดยก้อนเนื้องอกนี้มักพบที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของสุนัข ได้แก่ บริเวณหนังหุ้มอวัยวะเพศหรือบริเวรโคนอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศผู้ และบริเวณช่องคลอดในสุนัขเพศเมีย แต่ก็มีโอกาสที่พบก้อนเนื้องอกนี้อยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่อวัยวะสืบพันธุ์ได้เช่นกัน เช่น รอบดวงตา โพรงจมูก ผิวหนัง เป็นต้น

อาการของโรค

            กรณีเกิดที่อวัยวะเพศ อาการโดยทั่วไปมักพบเลือด บางครั้งมีหนองปนไหลออกมาจากอวัยวะเพศของสุนัข หากสังเกตอาจพบก้อนเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำสีแดงปนเทาที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ โดยมากสุนัขจะเลียบริเวณอวัยวะเพศบ่อยๆ ในบางรายหากก้อนเนื้อไปขวางทางท่อปัสสาวะอาจมีปัญหาปัสสาวะลำบากร่วมด้วย สำหรับในกรณีที่เกิดก้อนเนื้อนอกอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น โพรงจมูกหรือใบหน้า จะพบว่าสุนัขมีอาการจาม น้ำมูกเป็นเลือดปนหนอง หายใจติดขัด ใบหน้าบวม ต่อมน้ำเหลือง บวมเจ็บ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย

            ทำได้โดยการนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ร่วมกับการตรวจลักษณะและเซลล์เนื้องอก เนื่องจากการตรวจแต่ภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันว่าเป็นเนื้องอกชนิดใดได้

การรักษา

            ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเนื้องอก แต่พบว่าเนื้องอกชนิดนี้สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้โดยวิธีการรักษาทางเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ร่วมกับการรักษาตามอาการ


มดลูกอักเสบ

            โรคมดลูกอักเสบเป็นความผิดปกติของมดลูกในสุนัขเพศเมียที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงมาก โดยในบางรายที่ตรวจพบโรคช้า สุนัขอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สาเหตุของโรคเนื่องจากมดลูกของสุนัขในช่วงวงรอบการเป็นสัดจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชนิดหนึ่งที่จะทำให้เกิดสารคัดหลั่งปริมารมากในมดลูก ร่วมกับการมีเชื้อแบคทีเรียจากภายนอกเข้าไปเจริญเติบโตในมดลูกทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองขึ้นโดยพบว่าสุนัขที่อายุมาก (7 ปีขึ้นไป) หรือสุนัขที่ได้รับการฉีดยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดมดลูกอักเสบได้มากกว่าสุนัขที่อายุน้อยหรือสุนัขที่ไม่เคยได้รับยาคุมกำเนิด

อาการของโรค

            สุนัขที่ป่วยจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ไม่มีแรง อาเจียนร่วมกับการกินน้ำมาก ปัสสาวะมาก ปวดเกร็งบริเวณช่องท้องอาจพบหนองไหลให้เห็นจากอวัยวะเพศภายนอกในกรณีที่เป็นมดลูกอักเสบลักษณะปากมดลูกเปิด ส่วนในกรณีที่เป็นลักษณะปากมดลูกปิดจะพบท้องกางขยายใหญ่และปวดเกร็ง เนื่องจากมีหนองขังอยู่ภายในมดลูกจำนวนมาก

การวินิจฉัย

            การวินิจฉัยทำได้โดยซักประวัติวงรอบการเป็นสัดของสุนัข ประวัติการผสมพันธุ์ การตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ร่วมกับการเอ็กซเรย์และอัลตร้าซาวนด์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

การรักษา

            เมื่อสุนัขมีอาการดังกล่าวไม่ควรชะล่าใจปล่อยไว้นานควรรีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยยืนยันให้เร็วที่สุด เพราะหากสามารถตรวจพบโรคได้เร็วและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มีโอกาสที่สุนัขจะหายเป็นปกติสูง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้ทำการรักษา สุนัขป่วยมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวาย ช็อก และเสียชีวิตได้ โดยการรักษาที่ได้ผลที่สุด คือ การผ่าตัดเพื่อนำส่วนของมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด (เช่นเดียวกับการทำหมัน) ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ สำหรับการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด (รักษาทางยา) พบว่าให้ผลการรักษาไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร

            การป้องกันมดลูกอักเสบ พบว่าการทำหมันสุนัขเป็นทางเลือกที่ดีในกรณีที่เจ้าของไม่ต้องการให้สุนัขผสมพันธุ์และมีลูกอีก แต่หากยังต้องการให้สุนัขมีลูกอยู่ควรดูแลความสะอาดในบริเวณที่อยู่อาศัยของสุนัขเมื่อสุนัขอยู่ในระยะเป็นสัด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากภายนอกเข้าสู่มดลูก และหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด แต่ให้ปรึกษาสัตวแพทย์ถึงวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัยแทน


ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis)

            ช่องคลอดอักเสบเป็นลักษณะของการอักเสบในส่วนของเยื่อบุช่องคลอด โดยสาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บของช่องคลอดจากการผสมพันธุ์ การคลอดยาก หรือการเกิดก้อนเนื้อในช่องคลอดก็ได้ เมื่อสภาพในช่องคลอดอ่อนแอจึงทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่าย

อาการของโรค

            จะพบของเหลวไหลจากช่องคลอดของสุนัขป่วยนานหลายสัปดาห์ อาจเป็นลักษณะของเหลวใส แดง หรือเหลืองก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะและสาเหตุของโรค สุนัขมักเลียและสนใจบริเวณอวัยวะเพศบ่อยๆ

การวินิจฉัย

            หากสงสัยว่าสุนัขจะเป็นช่องคลอดอักเสบ สัตวแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยได้จากประวัติ อาการ ร่วมกับการคลำตรวจบริเวณอวัยวะเพศและการตรวจลักษณะของเซลล์เยื่อบุช่องคลอด

การรักษา

            การรักช่องคลอดอักเสบสามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ เช่น การล้างบริเวณอวัยวะเพศภายนอก การดูแลความสะอาดาของที่อยู่อาศัย ซึ่งมักให้ผลตอบสนองกับการรักษาดีโดยสุนัขที่ป่วยเป็นช่องคลอดอักเสบนั้นไม่ควรได้รับการผสมพันธุ์เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหามดลูกอักเสบตามมาได้





โรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในสุนัข (Canine herpes virus)

            โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง (herpes virus) ซึ่งสามารพบเชื้อนี้ได้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก สุนัขจะติดโรคนี้ผ่านการผสมพันธุ์ เย หรือสูดดมสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำอสุจิ หรือน้ำจากช่องคลอดของสุนัขที่มีเชื้อ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกได้อีกด้วย

อาการของโรค

            สำหรับในสุนัขโตอาจไม่แสดงอาการในสภาวะปกติทำให้ยากที่จะสังเกตพบอาการได้ แต่จะทำให้แม่สุนัขเกิดการแท้งความสมบูรณ์พันธุ์ลดลง และทำให้ลูกสุนัขที่คลอดออกมาตายในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก โดยลูกสุนัขที่ป่วยจะมีอาการซึม อ่อนแรงไม่ดูดนม ถ่ายเหลวสีเหลืองหรือเขียว และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้อาจพบจุดซ้ำหรือเลือดออกตามเยื่อเมือกและลำตัวลูกสุนัขที่ป่วยร่วมด้วย

การวินิจฉัย

            สามารถทำได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย  ร่วมกับการนำลูกสุนัขที่เสียชีวิตไปมอบให้สัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจชันสูตรและวินิจฉัยหาสาเหตุการเสียชีวิต

การรักษา

            สำหรับสุนัขที่ติดเชื้อไวรัสฮอร์ปีส์นั้น การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ในกรณีที่พบว่าลูกสุนัขที่คลอดมาติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อ การดูแลเรื่องความสะอาดและความอบอุ่นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ และการทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัยของสุนัขด้วยน้ำยาทำความสะอาดร่วมกับการคัดแยกสุนัขที่ป่วยเป็นโรคจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ดี สำหรับในต่างประเทศได้เริ่มมีการใช้วัคซีนสำหรับฉีดให้แม่สุนัข โดยจะทำให้ลูกสุนัขแรกคลอดมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น


คลอดลำบาก
           
            การคลอดลำบากนับอีกหนึ่งปัญหาหนักใจที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับเจ้าของสุนัขเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยสำหรับสุนัขบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น บูลด็อก ปั๊ก เป็นต้น โดยสาเหตุสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน แต่แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ สาเหตุจากตัวแม่สุนัข เช่น เชิงกรานแคบ ไม่มีแรงแบ่งมดลูกล้าไม่บีบตัวเป็นต้น และอีกสาเหตุหนึ่งคือสาเหตุจากตัวลูกสุนัข เช่น ลูกตัวโตกว่าปกติ ลูกผิดท่า เป็นต้น

อาการ

            เมื่อทำการสังเกตจะพบว่าแม่สุนัขมีการอาการเบ่งคลอดติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 30-60 นาที หรือเบ่งอย่างรุนแรงต่อเนื่องนาน 20-30 นาที โดยไม่มีลูกออกมา หรือหลังจากที่มีลูกออกมาแล้ว 4-6 ชั่วโมงยังไม่มีลูกออกมาเพิ่มเติมอีกจนแม่สุนัขเริ่มมีอาการอ่อนแรง ในบางกรณีอาจพบอวัยวะของลูกบางส่วนคาอยู่บริเวณช่องคลอดด้วย

การวินิจฉัย

            นำแม่สุนัขไปพบสัตว์แพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยจากประวัติ อาการ การตรวจร่างกาย และเอ็กซเรย์

การรักษา

            การคลอดไม่ออกสามารถรักษาได้ทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัด โดยการรักษาทางยาสุนัขจะได้รับยาช่วยกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกร่วมกับการให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดและการช่วยคลอด ส่วนการผ่าตัดก็คือการผ่าคลอดนั่นเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการคลอดลำบากว่ามาจากสาเหตุใดร่วมกับสภาพร่างกายของแม่สุนัข โดยการคลอดลำบากนี้สามารถป้องกันได้หากทำการคัดเลือกพ่อและแม่พันธุ์สุนัขไม่ให้ขนาดร่างกายแตกต่างกันเกินไป ร่วมกับการดูแลแม่สุนัขช่วงตั้งท้องให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และหากทราบวันที่ผสมแน่นอนก็จะทำให้ทราบวันสำหรับการเตรียมตัวดูแลแม่สุนัขที่จะคลอดด้วยครับ

            ตัวอย่างโรคที่กล่าวมานี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรคที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขอันมีสาเหตุมากับการผสมพันธุ์ ซึ่งหลายโรคล้วนเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ดังนั้นอย่างมองข้ามความปลอดภัยนะครับ ก่อนคิดจะมีคู่อย่าลืมพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพและขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการผสมพันธุ์รวมถึงหาทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นครับ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคที่มากับการผสมพันธุ์ในสุนัข อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2555 เวลา 15:29:09 22,955 อ่าน
TOP