x close

ปลาหมอลายเมฆ





ปลาหมอลายเมฆ และผองเพื่อน (เทคโนโลยีชาวบ้าน)

คอลัมน์ : ปลาสวยงาม
โดย : พิชิต ไทยยืนวงษ์

          ในบรรดาปลาหมอสีที่มีเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทยนั้น คงไม่มีใครไม่รู้จัก ปลาหมอวีนัส หรือ ปลาหมอลายเมฆ ปลาหมอตัวนี้ปรากฏโฉมหน้าในเมืองไทยมานานหลายสิบปีแล้ว

          เอกลักษณ์ของปลาตัวนี้คือ ลวดลายที่ดูแปลกๆ เป็นจ้ำๆ สีน้ำตาลอยู่บนพื้นสีเหลือง หลายคนดูเป็นลายกากบาทหรือตัวอักษร X และบางคนก็เรียกว่า "ปลาหมอลายทหาร" สีบริเวณส่วนหัวเป็นสีน้ำเงิน เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในทะเลสาบมาลาวี มีขนาดใหญ่ประมาณ 25-30 เซนติเมตร ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันคือ Nimbochromis venustus ซึ่งก็หมายถึงปลาหมอในสกุลนิมโบโครมิสที่มีความสวยงามดังเทพวีนัส

          ส่วนคำว่า Nimbochromis นั้นเป็นภาษาละติน แยกเป็น 2 คำ คือ nimbus และ chromis นิมบัสเป็นภาษาละติน แปลว่า "เมฆในฤดูฝน" ส่วนโครมิสนั้นหมายถึงปลาหมอ รวมความแปลว่า "ปลาหมอที่มีลวดลายดังเมฆในฤดูฝน" (เพราะเมฆในฤดูอื่นจะต้องเป็นสีขาว) นับเป็นปลาหมอสีที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งที่เราจะต้องมาคุยกัน แต่ที่เอ่ยมานี้ใช่ว่าจะมานำเสนอปลาหมอวีนัสอันเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วทั่วทุกหัวระแหง วันนี้ผมอยากจะแนะนำให้ท่านรู้จักกับญาติของปลาหมอวีนัสสัก 4 ชนิดพันธุ์ คือ

1. ปลาหมอลินอาย (Nimbochromis linni)

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Nimbochromis linni (Burgess&Axelrod, 1975)



          ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนผู้คิดค้นระบบการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อใช้จัดลำดับและจำนวนของสิ่งมีชีวิตในโลกคือ คาร์ล ลินน์ หรือคาโรลัส ลินนิอุส

          ปลาหมอลินอายเป็นปลาที่มีลักษณะแปลกตรงที่มีส่วนของปากยื่นยาวออกมาค่อนข้างมากจนดูคล้ายๆ งวงช้างฝรั่งเรียกปลาตัวนี้ว่า Elephant Nose ลวดลายตามตัวคล้ายปลาเก๋า(แบบเดียวกับปลาหมอฟัสโคทีเนียตัสและปลาหมอโพลีสติกมาที่คนเรียกว่าปลาหมอเก๋า) เป็นลายทางตามแนวนอนไม่คมชัด สีน้ำตาล 3 แถบและมีจุดสีน้ำตาลกระจายทั่วทั้งตัว โดยเฉพาะส่วนหัวและใบหน้าปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มที่ สีพื้นลำตัวและโดยเฉพาะส่วนหัวจะเป็นสีน้ำเงินในขณะที่ตัวเมียจะยังเป็นสีน้ำตาลขาวเช่นเดิม

          ปลาหมอลินอายมีขนาดใหญ่ถึง 35 เซนติเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียก็นับว่าใหญ่โตไม่ใช่เล่นเลยทีเดียวเชียวครับในทะเลสาบมาลาวีเราสามารถพบเห็นปลาหมอลินอายได้ทั่วทุกภาคชอบอาศัยตามกลุ่มกองหินและด้วยความสามารถที่ธรรมชาติให้มาคือลวดลายที่ละม้ายคล้ายตุ๊กแกกับจะงอยปากที่ยาวทำให้ปลาหมอลินอายประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการดักจับเอาลูกปลาหมอหรือปลาอื่นๆ ขนาดเล็ก เช่น ปลาหมอกลุ่มเอ็มบูน่ากินเป็นอาหารหลักได้อย่างสบายๆกลวิธีง่ายๆ ของลินอายที่จะจับเหยื่อคือ การพรางตัวและเฝ้ารอเหยื่อของมันส่วนใหญ่เป็นลูกปลาซึ่งมักหลบซ่อนตัวอยู่ตามรอยแยกแตกของก้อนหินเมื่อใดที่เหยื่อน้อยบางตัวเผลอว่ายออกมาใกล้พอปลาหมองวงช้างของเราก็จะใช้ความไวของปากฮุบเอาไปกินโดยที่ไม่ต้องขยับตัวมากแต่ประการใด

          การเลี้ยงปลาหมอลินอาย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ตู้ขนาดไม่น้อยกว่า 60นิ้วถึงแม้เป็นปลาขนาดใหญ่แต่ก็สามารถเลี้ยงรวมกับปลาหมออื่นที่มีขนาดปานกลางได้ดี ภายในตู้ควรตกแต่งด้วยก้อนหินและมีพื้นที่โล่งให้มากสามารถปลูกเลี้ยงต้นไม้น้ำได้แต่ต้องเลือกชนิดที่มีใบและลำต้นแข็งแรงไม่หลุดลุ่ยง่ายและไม่ควรปลูกเยอะเกินไปปลาหมอลินอายกินอาหารได้ทุกอย่างทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปเป็นปลาที่ตะกละ กินเก่ง

2. ปลาหมอโพลีสติกมา (Nimbochromis polystigma)

          ชื่อวิทยาศาสตร์ Nimbochromis polystigms (Regan, 1922)



          ปลาตัวนี้มีชื่อเรียกแปลกออกไปอีก 2 ชื่อ คือ Nimbochromis pardolis และHaplochromis maculimanusแต่โดยส่วนใหญ่ไม่ว่าไทยหรือเทศก็มักจะเรียกเจ้าตัวนี้ว่าโพลีสติกมาเป็นปลาที่พบเห็นได้ทั่วไปในทะเลสาบมาลาวีซึ่งแต่ละภาคที่พบเห็นก็มักจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปนิดๆ หน่อยๆ เช่นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของทะเลสาบจะมีเส้นพาดระหว่างตาถึงมุมล่างของปาก มองเห็นได้ชัดเจนกว่าปลาที่อยู่ทางตอนใต้ส่วนปลาชาวใต้นั้นจะมีลวดลายสีสันที่ชัดเจนกว่าและนอกจากลักษณะทางกายภาพแล้วยังมีพฤติกรรมในการล่าเหยื่อผิดแผกออกไปจากปลาทางเหนืออีกด้วย

          ปลาหมอโพลีสติกมามีลวดลายและสีสันคล้ายกับปลาหมอลินอาย ชื่อ polystigmaได้มาจากคำ 2 คำ คือ poly แปลว่ามากมายเหลือหลาย กับคำว่า stigma แปลว่า"ปาน" รวมความหมายถึงปลาหมอสีสกุลนิมโบโครมิสที่มีลวดลายบนตัวคล้ายปานกระจัดกระจายทั่วทั้งตัวถ้ามองผิวเผินจะดูคล้ายปลาหมอลินอายแต่จะต่างกันตรงที่โพลีสติกมามีความคมชัดของลายมากกว่าไม่กระจัดกระจายเป็นจุดเล็กๆ เหมือนลินอายการที่ปลาทั้งสองมีลวดลายเช่นนี้ก็เพราะพวกมันต้องใช้ในการอำพรางตัวไม่ให้เหยื่อที่กำลังจะล่ามองเห็นได้ง่ายปลาหมอโพลีสติกมาเป็นปลาที่กินปลาด้วยกัน (Piscivorus)เหมือนกับปลาหมอลินอาย อาหารที่โปรดปรานคือบรรดาลูกปลาหมอเล็กๆโดยเฉพาะปลาหมอในกลุ่ม Mbuna

          โพลีสติกมาเป็นปลาขนาดใหญ่ แต่ไม่เท่าลินอายโตเต็มที่ตัวผู้จะมีขนาดประมาณ 25 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียจะโตเพียง 18-20เซนติเมตรแต่การเลี้ยงก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่อยู่ดีเพราะเป็นปลาที่ต้องการพื้นที่ว่ายน้ำมาก โพลีสติกมามีนิสัยตะกละแต่ไม่ก้าวร้าวมากนักสามารถเลี้ยงรวมกับมาลาวีพันธุ์ที่ไม่ใหญ่นักได้ เช่น ปลาหมอกล้วยหอม(Labidochromis caeruleus) ปลาหมอเยลโลพีค็อก (Aulonocara baenschi)ปลาหมอนการ่า (Aulonocara stuartgranti Ngara)หรือปลาหมอกลุ่มเอ็มบูน่าที่มีขนาดปานกลาง

          ปลาหมอโพลีสติกมาค่อนข้างจะเป็นปลาที่อึดแต่การเลี้ยงดูที่ขาดความเอาใจใส่อาจทำให้ปลามีรูปร่างรูปทรงไม่สวยงามเนื่องจากเป็นปลาที่ต้องการอาหารมาก ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 20เปอร์เซ็นต์ ทุกสัปดาห์ และอย่าให้อาหารมากเกินความจำเป็น

          ตู้ที่ใช้เลี้ยงควรจัดให้มีกลุ่มกองหินหรือกระถางต้นไม้ไว้บ้างเพื่อให้เป็นที่หลบซ่อนของปลาตัวที่อ่อนแอกว่าต้นไม้น้ำอาจไม่จำเป็นนักสำหรับปลาตู้นี้ แต่ถ้าอยากใส่แนะนำเป็นต้นไม้พลาสติคหรือต้นที่มีก้านและใบแข็งเหนียวอย่างต้นอนูเบียสที่เอามาปลูกด้วยวิธีพันกับขอนไม้เพื่อที่ปลาจะได้ไม่สามารถขุดทำลายได้

3. ปลาหมอลิฟวิงสตันนิอาย (Nimbochromis livingstonii)




          ชื่อวิทยาศาสตร์ Nimbochromis livingstonii (Guenther, 1893)

          ชื่อของปลาหมอลายเมฆสายพันธุ์นี้ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นักบุกเบิกทวีปแอฟริกา นามว่า เดวิด ลิฟวิงสตัน ปลาตัวนี้มีลวดลายสวยที่สุดในกลุ่มนิมโบโครมิสด้วยกัน เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้มีขนาด 25 เซนติเมตร ในขณะที่ตัวเมียจะโตเพียง 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทะเลสาบมาลาวี แต่โดยส่วนใหญ่จะมีชุกชุมอยู่ทางตอนใต้

          จุดเด่นของปลาชนิดนี้อยู่ ที่ลวดลายที่เป็นสีน้ำตาลเข้มพลิ้วไหวอยู่บนพื้นลำตัวสีขาวหรือสีครีมเด่น ชัด ประโยชน์ของลายดังกล่าวไม่ใช่เพื่อการข่มขู่ศัตรูหรือเพื่อหวังผลในการเชิญ ชวนตัวเมียเข้าร่วมผสมพันธุ์แต่อย่างใด หากแต่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินในชีวิตประจำวันของมัน ด้วยลวดลายที่แปลกและความสามารถในการปรับสีสันให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เช่น พื้นทราย ปลาหมอลิฟวิงสตันนิอายจะแกล้งทำเป็นนอนนิ่งประหนึ่งว่าตายหรือป่วยหนัก สีและลวดลายบนลำตัวจะซีดเผือด การหายใจจะดูรวยริน รอคอยให้มีลูกปลาหรือปลาที่มีขนาดเล็กๆ พอที่จะเขมือบเข้าปากกว้างๆ ของมัน ได้ว่ายเข้ามาใกล้ การแกล้งตายอาจใช้เวลานาน บางครั้งกินเวลาเป็นหลายๆ นาที จนกระทั่งเหยื่อว่ายเข้ามาใกล้รัศมีทำการ

           และในทันทีที่คุณไม่อาจกระพริบตา ปลาหมอลิฟวิงสตันนิอายจะตวัดงับเอาเหยื่อเข้าปากได้อย่างง่ายดาย ดูแล้วบางครั้งก็หมั่นไส้เอาการ แต่สำหรับปลาที่เลี้ยงในตู้ พฤติกรรมเช่นว่ามักไม่ค่อยเกิดขึ้น เนื่องจากปลามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์

          ปลาหมอลิฟวิงสตันนิอายเพศผู้ในช่วงผสมพันธุ์จะมีสีสันสวยงามเป็นพิเศษ สีพื้นบริเวณลำตัวที่เป็นสีขาวก็จะกลายเป็นสีฟ้าหรือบางครั้งก็ออกน้ำเงิน สวยงาม ในธรรมชาติชอบทำรังและวางไข่บนพื้นทรายใกล้กับโขดหิน ปลาตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกับไข่ก่อน จากนั้นตัวเมียค่อยอมไข่เหล่านั้นไว้ในปาก ซึ่งผิดกับปลาหมอสีอมไข่ทั่วไปที่มักอมไข่ก่อนแล้วค่อยปล่อยน้ำเชื้อ

4. ปลาหมอฟัสโคทีเนียตัส (Nimbochromis fuscotaeniatus)




          ชื่อวิทยาศาสตร์ Nimbochromis fuscotaeniatus (Regan, 1922)

          ปลาหมอลายเมฆสายพันธุ์นี้คือนักล่าขนานแท้ เนื่องจากมันไม่ค่อยสนใจเรื่องของการพรางตัวเพื่อดักจับเหยื่ออย่างปลาหมอลายเมฆสายพันธุ์อื่นๆ แต่จะใช้ความเร็วและความแข็งแกร่งของขากรรไกรในการไล่ล่า ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีทีเดียว

          ปลาหมอฟัสโคทีเนียตัส โตเต็มที่ไม่เกิน 30 เซนติเมตร ปลาตัวเมียเล็กกว่าค่อนข้างมาก รูปร่างของมันเพรียวยาว ส่วนหัวใหญ่โค้งมนรับกับส่วนปากที่กว้างหนาทรงพลัง เทียบกับบรรดาปลาหมอลายเมฆที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจัดได้ว่าปลาหมอฟัสโคทีเนีย ตัสมีสีสันงดงามที่สุด (ไม่ใช่ว่าลายสวยที่สุด) ปลาเพศผู้เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สีบริเวณส่วนหัวลามไปจนถึงด้านหลังจะเป็นสีน้ำเงินเข้มเงางาม ส่วนลำตัวที่มีลายจะเต็มไปด้วยจุดสีแดงอมน้ำตาล ครีบทุกครีบมีลวดลายสีแดงสลับกับน้ำเงินและขาว ดูโดดเด่นมาก ส่วนปลาเพศเมียนั้นมีเพียงลวดลายปกติ ไม่มีสีสันอย่างตัวผู้

          ปลาหมอฟัสโคทีเนียตัสมีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว หวงถิ่น ในธรรมชาติจะหากินบริเวณน้ำตื้นที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างหาดทรายและกองหิน ปลาตัวผู้มักสร้างรังโดยเลือกเอาจากกองหินขนาดใหญ่และครอบครองไว้ไม่ให้ปลา ตัวอื่นเข้าใกล้ ยกเว้นตัวเมียที่มันหมายปอง

          การเลี้ยงปลาหมอฟัสโคทีเนียตัสจึงต้องใช้ตู้ที่ใหญ่มาก หากต้องการเลี้ยงมากกว่า 1 ตัว หรือเลี้ยงร่วมกับปลาอื่นๆ ตู้ที่เหมาะสมควรมีขนาด 7-8 ฟุตเป็นอย่างน้อย (ความจุน้ำประมาณ 500-600 ลิตร) ปูพื้นด้วยทราย ประดับตกแต่งด้วยหินหลากหลายขนาด การจัดควรเน้นบริเวณด้านหลัง ปล่อยส่วนหน้าของตู้ให้ว่างไว้เพื่อให้ปลาได้ว่ายน้ำเต็มที่ ปลาที่สามารถนำมาเลี้ยงร่วมกันได้ควรเป็นปลาที่ไม่เล็กนัก (เพราะปลาหมอฟัสโคทีเนียตัสปากกว้าง สามารถกินปลาหมอกลุ่มเอ็มบูน่าได้อย่างสบายๆ) ที่สำคัญต้องเป็นปลาว่องไว ปราดเปรียว และทรหดอดทนพอสมควร

          ในธรรมชาติปลาหมอฟัสโคทีเนียตัสกิน ปลาเป็นอาหารหลัก แต่ในตู้เลี้ยง พวกมันสามารถปรับตัวมากินอาหารสำเร็จรูปได้อย่างไม่ยากนัก ควรเลือกประเภทของอาหารให้เหมาะสมเนื่องจากมันเป็นปลากินเนื้อ หากกินอาหารเม็ดปกติทั่วไปที่ออกแบบมาสำหรับปลาที่กินทั้งพืชทั้งสัตว์ต่อ เนื่องกันเป็นเวลานาน ปลาหมอฟัสโคทีเนียตัสก็จะมีรูปร่างแกร็น ขาดความสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญอาจมีอายุสั้นเพียงไม่กี่ปี

          ปลาในกลุ่มปลาหมอลายเมฆเหมาะกับผู้เลี้ยงที่มีประสบการณ์สักหน่อย เพราะมันเป็นปลาใหญ่ โตเร็ว กินเก่งและมีนิสัยดุร้าย หากนำไปเลี้ยงในตู้ที่มีพื้นที่คับแคบก็มักเกิดปัญหาตามมาไม่จบ เช่น ปลาไล่กัดเพื่อนร่วมตู้จนตายทีละตัวๆ หรือปลามีสีไม่สวยอย่างที่ควรจะเป็น (เพราะในตู้แคบ ปลาจะเกิดความเครียดสูงทำให้ลวดลายและสีสันเลือนหาย) ดังนั้น ก่อนเลี้ยงจึงต้องดูความพร้อมของตัวเองเสียก่อน







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  aquariumlife.net, malawicichlids.com,  petfish.net, malawicichlidhomepage.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลาหมอลายเมฆ อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2552 เวลา 15:19:06 3,646 อ่าน
TOP