เปิดโลก นกยูง... ราชินีแห่งนก


นกยูง

นกยูง

นกยูง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           นกยูง ( Peacocks) ถูกยกให้เป็นนกสวยงามและสง่างามที่สุดของโลก และเป็นราชินีของนกทั้งปวง ในอดีตจึงมักมีเรื่องราวของนกยูง ปรากฎตามภาพเขียน บทกวี และลัทธิความเชื่อของชนหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวฮินดู จีน อียิปต์ และชนพื้นเมืองแถบเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงประเทศไทยด้วย

           ทั้งนี้ นกยูง จัดอยู่ในวงศ์ Phasianidae เป็นสัตว์ปีกจำพวกไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่ด้วยกัน 2 สกุล ในโลก คือ นกยูงทางทวีปเอเซีย (Pavo) และ นกยูงทางทวีปแอฟริกา (Afropavo) หรือนกยูงคองโก โดยนกยูงเอเชีย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ นกยูงอินเดีย หรือนกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงไทย หรือนกยูงสีเขียว อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่าน ไม่ถือว่านกยูงคองโก เป็นนกยูง เพราะลักษณะภายนอก และพฤติกรรมต่าง ๆ แตกต่างจากนกยูงอินเดีย และนกยูงไทยมาก

           สำหรับในประเทศไทย นกยูง เคยมีกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันได้ลดจำนวนอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และถูกจับล่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้น นกยูงจึงคงเหลืออยู่แต่ในสวนสัตว์ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพียง 10 แห่งเท่านั้น คือ

           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน

           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

           อุทยานแห่งชาติภูเก้า - ภูพานคำ

           อุทยานแห่งชาติภูพาน

           อุทยานแห่งชาติเขาสก

           อุทยานแห่งชาติเขาแหลม (รวมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงเกริงกะเวีย - หนองน้ำซับ เข้าไว้ด้วย)

           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี

           โดยบริเวณที่พบนกยูงมากที่สุด คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีจำนวนประมาณ 400 ตัว รองลงมาคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร


นกยูง


ทำความรู้จัก นกยูงเอเชีย

           1. นกยูงไทย หรือ นกยูงสีเขียว

           นกยูงชนิดนี้จะมีขนาดลำตัวยาว 120-210 เซนติเมตร มีขายาวสมส่วน ทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีหงอน เป็นเส้นขน สีเขียวเหลือบ ชี้ ตรงอยู่บนหัว แตกต่างกับ นกยูงอินเดีย ที่จะมีหงอนเป็นรูปพัดบนหัวและที่คอเป็นขนสั้น ๆ เหลือบเขียวแกมน้ำเงิน ส่วนหน้าของ นกยูงไทย ทั้งสองข้างจะมีสีฟ้า ดำ และเหลือง ขนคอ ขนหน้าอก และส่วนบนของหลังเป็นขนที่มีปลายขนป้าน กลม, ตรงกลางขนเหลือบสีน้ำเงินแก่ล้อมรอบด้วยสีเขียว และสีทองแดง ตรงขอบขนปีก มีขอบสีเหลือบเขียวแกมดำ มองดูคล้าย ๆ กับเกล็ดปลา, หลังเป็นขนสีเหลือบเขียวตรงกลางแล้ว กลายเป็นสีทองแดงแกมดำ

           ทั้งนี้ นกยูงไทย เพศผู้ จะมีแพนขนปิดหางยาวหลายเส้น ที่ปลายแพนขนปิดหางนี้ มีดอกดวง ที่เรียกว่า "แววมยุรา" ซึ่งตรงกลางดวง เป็นสีน้ำเงินแกมดำ อยู่ในพื้นวงกลมเหลือบเขียว ล้อมรอบด้วยลายเป็นวงรูปไข่สีทองแดง เวลานกยูงรำแพน จึงเปรียบเหมือนพัดขนาดใหญ่ ที่มีสีสันงดงาม 

           ส่วนนกยูงไทยเพศเมีย จะแตกต่างจากเพศผู้ คือมีขนาดร่างกายเล็กกว่า สีขนสดใสน้อยกว่า และมีเดือยสั้นกว่าเดือยของเพศผู้มาก นอกจากนั้นบริเวณขนต่าง ๆ ของเพศเมียมักมีสีน้ำตาลดำ หรือสี น้ำตาลแดงแทรกเป็นคลื่น จึงมองเห็นเป็นลายคลื่นทั่วทั้งลำตัว

           สำหรับ นกยูงไทย แบ่งออกเป็น 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์พม่า สายพันธุ์ชวา และสายพันธุ์อินโดจีน ซึ่งสองสายพันธุ์หลังนี้ พบการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย โดยสายพันธุ์ชวาพบอยู่ทางใต้ ส่วนสายพันธุ์อินโดจีน พบได้ทั่วไปในอาณาบริเวณที่อยู่เหนือคอคอดกระ ตามริมลำน้ำสายใหญ่ ใกล้แนวป่า เช่น แถบลำน้ำปิง ลำน้ำพอง ลำน้ำตาปี ลำน้ำแควใหญ่ และแควน้อย

           2. นกยูงอินเดีย

           หน้าตาของนกยูงอินเดีย มีลักษณะคล้ายกับนกยูงไทย แต่จะต่างกันตรงที่ขนบนหัวนกยูงไทยจะมีลักษณะเป็นจุก แต่นกยูงอินเดียจะแผ่ออกเหมือนพัด และสีของขนของนกยูงไทยจะมีสีเขียวใบไม้ แต่ของนกยูงอินเดียจะเป็นสีน้ำเงินและมีสีขาวที่จมูกจนถึงขอบตาด้านบนนัยน์ตา

           นกยูงชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในป่าดงดิบทึบ อยู่กันเป็นฝูง พบได้ในอินเดียและศรีลังกา โดยตัวผู้จะชอบทำลานเอาไว้เพื่อรำแพนหาง มันจะรักษาความสะอาดลานของมันไว้อย่างดี นกยูงเป็นนกที่สายตาไวมากและระวังตัวมาก นอกจากนี้ ยังบินเก่งและชอบนอนในที่สูง ดังนั้น การจะเข้าใกล้ตัวมันได้จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมันจะบินหนีก่อนที่เราจะเข้าใกล้

อุปนิสัยของนกยูง

           นกยูงจะออกหากินตามหาดทรายและสันทรายริมลำธาร ในตอนเช้าตรู่จนกระทั่งถึงตอนบ่าย กินทั้งเมล็ดพืชและสัตว์เล็ก ๆ แล้วจึงบินกลับมาเกาะนอนอยู่บนยอดไม้สูง ปกติอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ 2-6 ตัว ยกเว้นในบางบริเวณ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี พบนกยูงอยู่รวมกันเป็นฝูงถึง 10 ตัว

           ทั้งนี้ พบว่านกยูง มักมีปฎิกริยาต่อเสียงดังผิดปกติ เช่น เสียงปืน เสียงไม้หัก ไม้ล้มดัง นกยูงจะส่งเสียงร้อง และ การส่งเสียง ร้องบนกิ่งไม้ที่จับคอนนอน ในเวลาเช้าตรู่ และ ตอนใกล้ค่ำ เป็นการเปิดเผยที่ซ่อน ให้ศัตรูผู้ล่าเห็นตัวได้โดยง่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ นกยูงถูกล่า โดย พราน และ ศัตรูธรรมชาติ

           ฤดูผสมพันธุ์ของนกยูง อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนเมษายน ขนคลุมโคนหางของนกตัวผู้จะเจริญเต็มที่ในเดือนตุลาคม และจะผลัดขนนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ วางไข่สีขาว 2-5 ฟอง ในรังที่ทำในกอต้นกกหรือต้นอ้อริมลำธาร
   
ที่อยู่อาศัยของนกยูง

           นกยูงชอบอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบผสม ตามริมลำธารในป่า

เขตแพร่กระจายของนกยูง

           นกยูงมีเขตแพร่กระจายจากทางเหนือของประเทศอินเดียไปทางทิศตะวันออก ผ่านพม่า ตอนใต้ของประเทศจีน ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียและชวา

สถานภาพของนกยูงในปัจจุบัน

           นกยูงเคยมีชุกชุมทั่วประเทศที่ระดับความสูงต่ำกว่า 900 เมตร ยกเว้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ปัจจุบันพอจะพบได้ในบริเวณทิศตะวันตกของประเทศบริเวณจังหวัดตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี และยังมีรายงานการพบที่จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย นกยูงจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1

สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์

           การปล่อยให้มีการล่านกยูงโดยเสรีในอดีต และการที่มีผู้ที่นิยมเลี้ยงนกยูงกันเป็นจำนวนมากในระหว่างปี พ.ศ. 2510-2517 ทำให้มีการส่งออกนกยูงออกนอกราชอาณาจักร เฉพาะที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมากถึง 626 ตัว นอกจากนี้ ความนิยมในการนำขนนกยูงมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งและเป็นเครื่องหมายแสดงสถานภาพในกลุ่มสังคมของคนบางกลุ่ม เป็นเหตุให้นกยูงถูกล่าเป็นจำนวนมาก เพียงเพื่อต้องการขน ประกอบกับการทำลายป่าที่อยู่ตามริมลำธารในป่า ก่อให้เกิดความสูญเสียแหล่งหากินและทำรังวางไข่ของนกยูง ทำให้ปัจจุบันนกยูงกลายเป็นสัตว์ที่หาได้ไม่ง่ายนัก







ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, หนังสือ : พืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดโลก นกยูง... ราชินีแห่งนก อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2554 เวลา 13:47:01 68,120 อ่าน
TOP
x close