x close

ปลามังกร ปลานำโชค


ปลามังกร


          ปลาอโรวาน่า (Arowana) AROWANA หรือ "Bonytongue fish" มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ปลาตะพัด หรือ ปลามังกร มีลักษณะเด่นที่รูปร่างคล้ายมังกรและมีความเชื่อกันว่าเป็นปลานำโชค ปลาชนิดนี้จัดอยู่ในครอบครัวออสทีโอกลอสซิตี้ (Osteoglossidae) ประกอบด้วยปลา 4 สกุล (Genus) และ 7 ชนิด (Species) ซึ่งแต่ละชนิดมีถิ่นกำเนิดแตกต่างกันออกไป ดังนี้

ลักษณะรูปร่าง

          มีลักษณะลำตัวยาวแบนข้าง ส่วนท้องแบนมาก เป็นสันคม ความกว้างลำตัวบริเวณส่วนต้นและส่วนท้ายของลำตัว (บริเวณโคนครีบก้น)เกือบเท่ากัน มีความยาวลำตัวเป็น 3.5-4.8 เท่าของความกว้างลำตัว และ 3.5-4 เท่าของความยาวส่วนหัว ปลาที่มีอายุน้อยบริเวณสันหลังจากจงอยปากไปจนถึงบริเวณโคนหางเกือบเป็นเส้นตรง แต่แม่ปลาอายุมากขึ้นจะโค้งเล็กน้อย เกล็ดบริเวณลำตัวมีขนาดใหญ่ หนา และแข็งแรง

          จำนวนเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว (lateral line) 21-24 เกล็ด ครีบหลังและครีบก้นอยู่ค่อนไปทางด้านหลัง ครีบหลังสั้นกว่าครีบก้น ครีบก้นมีความยาวเท่าๆกับความยาวของส่วนหัว ครีบหลังมีจำนวนครีบ 20 ก้าน ครีบก้นมี 26-27 ก้าน ครีบอกค่อนข้างยาว ยาวจนถึงโคนครีบท้องวัดความยาวได้ประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว และมีจำนวน 7 ก้าน

          ครีบท้องสั้นมีเพียง 5 ก้าน ครีบหางกลมมนไม่ติดกับครีบหลังและครีบก้น ปลาชนิดนี้ปากกว้างมาก เฉียงขึ้นด้านบน มุมปากยาวเลยไปทางด้านล่างของส่วนหัว บนขากรรไกรและเพดานปากมีฟันแหลมคม ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย ที่ปลายขากรรไกรล่างมีหนวดขนาดใหญ่สั้นๆ 1 คู่ ตามีขนาดใหญ่มากกว่าความยาวของจงอยปากเล็กน้อย

          ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้โตเต็มที่มีความยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม ชอบอาศัยแหล่งน้ำบริเวณภูเขาที่มีน้ำไหลเอื่อยๆ ที่พื้นท้องน้ำเป็นหินปนทรายน้ำค่อนข้างขุ่นและเป็นกรดเล็กน้อย(pH 6-6.5) เป็นปลาที่มีไข่จำนวนน้อย ปลาขนาด 3-6 กิโลกรัม จะมีไข่ประมาณ 40-100 ฟองเท่านั้น เมื่อวางไข่แล้วจะฟักไข่ในปากขนาดไข่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.72 เซนติเมตร สามารถแบ่งตามทวีปที่พบได้ 4 ทวีป ดังนี้

1. อะโรวาน่าจากทวีปเอเชีย

          ปลาอะโรวาน่าจากทวีปเอเชีย จัดเป็นอะโรวาน่าที่นิยมสูงสุด ในหมู่นักเลี้ยงปลา ในกลุ่มนี้ มีชื่อ วิทยาศาสตร์ว่า Scleropages Formosus รูปร่างของปลา จะค่อนข้างออกไปทาง ป้อมสั้น หากเทียบกับสายพันธุ์ ที่มาจากทวีปอเมริกาใต้ นอกจากนี้ยัง จัดเป็นกลุ่มที่มีราคาแพงที่สุด อันเนื่องมาจาก สีสรร อันสวย เกินบรรยาย สีทองดั่งทองคำเปลว หรือ สีแดงแบบเลือดนก

           1. อะโรวาน่าทองมาเลย์ ( CROSS BACK )

            อะโรวาน่าทองจากมาเลเซีย มีชื่อเรียกหลายแบบ ตามแหล่งที่พบ เช่น ปาหังโกลด์ มาลายัน โบนีทัง (Malayan Bony Tongue), บูกิทมีราสบลู, ไทปิงโกลด์เดน หรืออะโรวาน่าทองมาเลย์ สาเหตุของการมีชื่อเรียกมากมาย อย่างนี้ ก็เพราะว่าอะโรวาน่าชนิดนี้ สามารถพบได้ทั่วไป ในมาเลเซีย ปลาอะโราวาน่าทองมาเลเซีย จัดเป็นปลาอะโรวาน่า ที่มีราคาแพงที่สุดในบรรดาประอะโรวาน่าด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากปลาชนิดนี้ จะให้ลูกน้อย และในธรรมชาติ หาได้ยากเต็มทีแล้ว ทุกวันนี้มีเพาะเลี้ยงกันที่ ในมาเลเซียและสิงคโปร์เท่านั้น อะโรวาน่าทองมาเลเซีย สามารถแบ่งจริงๆ ได้เป็น 3 พวก ใหญ่ๆ คือ

          - สายพันธุ์ที่ฐานเกล็ดออกสีน้ำเงิน หรือม่วง ( Blue or Purple Based )

          - สายพันธุ์ที่ฐานเกล็ดออกสีทอง (Gold Based)

          - สายพันธุ์ที่ฐานเกล็ดออกสีเขียว (Green Based)

          สำหรับ ปลาประเภท 1 และ 2 บางครั้งจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เนื่องจาก สีน้ำเงิน หรือ ม่วงที่เราเห็น ขึ้นอยู่กับมุมสะท้อน ที่เราดูปลา เลยทำให้บางครั้งเราเห็น ออกสีม่วง ทั้งที่ความจริงแล้ว ปลามีฐานเกล็ดสีน้ำเงิน สำหรับแบบที่ 3 หรือ แบบที่มีฐานเกล็ดสีทอง แบบนี้ จัดว่าเป็นสุดยอดของปลาอะโรวาน่า ทองมาเลเซีย เนื่องจาก เมื่อปลาโตเต็มที่ ปลาจะมีสรรที่เหลืองอร่าม ดั่งทองคำเคลื่อนที่ ปลาชนิดนี้ ดูเหมือนจะเป็นอะโรวาน่าทองมาเลย์ประเภท แรก ที่สีทองจะอ้อมข้ามหลังได้เร็ว กว่าสายพันธุ์อื่นๆ

          การผสมข้ามสายพันธุ์ ก็ได้ทำให้เกิด สายพันธุ์ใหม่ๆ ของอะโรวาน่าทองมาเลเซีย ขึ้นมา ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Platinum White Golden และ Royal Golden Blue Arowana เป็นต้น

           2. อะโรวาน่าแดง ( Red Arowana )

            ปลาอะโราวาน่าแดง ที่มีขายกันในบ้านเรา มีที่มาจากหลายแหล่งน้ำ ในทางตะวันตกของกัลลิมันตัน ในประเทศ อินโดนีเซีย บริเวณแนวสันหลังจะมีสีน้ำตาล เกล็ดบริเวณลำตัวที่อยู่ค่อนไปทางด้านหลังมีสีเขียวอมน้ำตาล เกล็ดบริเวณด้านข้างลำตัว มีสีเขียวเหลือบสีแดง หรือแดงอมส้ม บริเวณส่วนท้องและแผ่นปิดเหงือกสีแดงหรือแดงอมส้มครีบอกและครีบท้องสีเขียว แต่บริเวณส่วนปลายครีบจะมีสีแดงหรือแดงอมส้ม ริมฝีปากก็จะมีสีแดงหรือแดงอมส้มเช่นกัน อะโรวาน่า แดง สามารถ แบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ

          - แดงเลือดนก (Blood Red)

          - แดงพริก (Chilli Red )

          - แดงส้ม (Orange Red)

          - แดงอมทอง (Golden Red)

          ในปัจจุบัน อะโรวาน่าแดง ทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ถูกเรียก รวมๆ ทั้งหมด ว่า Super Red เนื่องจาก ปลาอะโรวาน่าแดง ประเภท Orange Red และ Golden Red เวลาโต จะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่าสีจะไม่แดงเข้ม เท่า 2 สายพันธุ์แรก จากรูปข้างบน จะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า คุณภาพสีแดงของ Orange Red และ Golden Red จะออกไปทางส้มอม แดง หรือ ทองอม แดง

          ชิลี่เรด และ บัดเรด ทั้งสองตัวนี้ มีแหล่งกำเนิดจาก แม่น้ำ Kapaus และทะเลสาบ Sentarum ซึ่งทะเลสาบ Sentarum นี้จะประกอบไป ด้วยทะเลสาบย่อยๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้หมด ทางตอนปลายจะมีทางออกสู่ แม่น้ำ Kapaus ธรรมชาติของแม่น้ำนี้ จะถูกปกคลุม ด้วยต้น Peat ซึ่งทำให้แลดูเป็นธรรมชาติ เหมาะสำหรับ การดำรงชีวิตของปลาชนิดนี้มาก สภาพ น้ำในแม่น้ำ Kapuas จะมีสีดำ ของแร่ธาตุ และอาหาร ซึ่งมีผลต่อสีของปลา ทำให้ อะโรวาน่าแดง มีสายพันธุ์ย่อยๆ ลงไปอีก โดยสามารถแบ่งแยกได้ จากความเข้มของสี ที่แตกต่างกัน และ รูปทรงของปลา ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวนี้ พ่อค้าปลา ได้ตั้งชื่อเรียกปลาอะโรวาน่า ชุดแรกๆ ที่มีการส่งออก ว่า Chilli Red และ Blood Red โดยที่จะใช้ ความเข้มของสีแดงและ รูปทรงของปลา ในการจำแนก ปลาทั้งสองชนิดออกจากกัน ในปลาที่โตเต็มที่ ชิลี่เรด จะสีแดงคล้ายพริกในขณะที่ บัดเรด จะแดงออกสีเลือด ชีลี่เรด จะมีตาที่ใหญ่สีแดง และหางที่มีรูปร่างคล้ายรูปร่างของเพชร ในขณะที่ บัดเรด จะมีตาที่เล็กกว่า ขาวกว่าและรูปแบบหาง จะกลม เปิดกว้างมากกว่า ตาที่ใหญ่ของชีลี่เรด บางครั้งขอบ ตาบนจะแตะระดับส่วนบนของหัวพอดี

           3. อะโรวาน่าทองอินโดนีเซีย ( Red Tail Golden Arowana )

          จำแนกอยู่ภายใต้กลุ่มอะโรวาน่าทอง เช่น เดียวกับทองมาเลย์ ปลาชนิดนี้ พบใน Pekan Baru ในประเทศอินโดนีเซีย เวลามันโต เต็มที่ มันจะไม่ทองแบบเหลืองอร่ามทั้งตัว ทองอินโด สามารถแบ่งประเภท ตาม สีของเกล็ดได้ 4 ประเภท คือ พวกที่มีฐานเกล็ด สีน้ำเงิน, เขียว และ ทอง อะโรวาน่าทองที่มีขนาดเล็ก จะมีสีที่ด้านกว่าของมาเลย์อย่างเห็นได้ชัด

           4. อะโรวาน่าเขียว Green Arowana

          แหล่งกำเนิดของปลาตัวนี้ พบกระจายอยู่ใน มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย และ ประเทศไทย ใน แถบจังหวัด จันทบุรี ตราด บริเวณด้านหลังจะมีสีเขียวอมน้ำตาล สีเทา หรือเทาอมเขียว เกล็ดบริเวณด้านข้างลำตัวมีสีเงินหรือเงินเหลือบเขียว ครีบทุกครีบสีน้ำตาลอมเขียว

2. อะโรวาน่าจากทวีปอเมริกาใต้

          สำหรับ อะโรวาน่าที่มาจากทวีปอเมริกา มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ อะโรวาน่าเงิน อะโรวาน่าดำ และ อะราไพม่า ชาวพื้นเมือง จะเรียกปลาอะโรวาน่า ว่า "ลิงน้ำ (Water Monkey)" เนื่องจากลักษณะการ กระโดด ขึ้นกินแมลง ที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ เหนือ ผิวน้ำ

          อะโรวาน่าเงิน (Silver Arowana)

            มีแหล่งกำเนิดในลุ่มน้ำอะเมซอนในจิอานา(Guiana) อเมริกาใต้ เมื่อโตเต็มที่ยาวถึง 1 เมตร ลำตัวยาวและแบนข้างมาก เรียงไปทางส่วนโคนหาง ส่วนท้องแบนเป็นสัน ลำตัวมีสีเงินอมเทา หรือเหลืองอมเขียว บางตัวเมื่อโตขึ้นจะมีสีขาวเหมือนหิมะ จึงเรียกว่า snow arowana บริเวณลำคอจะมีสีส้มหรือส้มอมแดง เกล็ดตามตัวมีขนาดใหญ่ เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี 31-35 เกล็ด บนเกล็ดมีจุดสีแดงและสะท้อนแวววาวเมื่อมีแสงสว่าง ครีบมีสีเหลืองหรือเขียวอ่อน ปากกว้างมากเมื่อยื่นขึ้นไปด้านบน ริมฝีปากล่างยื่นออกไปกว่าริมฝีปากบนเล็กน้อย ปลายริมฝีปากล่างมีหนวดขนาดใหญ่ 2 เส้น หนวดมีสีน้ำเงินหรือฟ้าน้ำทะเล ครีบก้นยาวมากเริ่มจากลำตัวยาวไปจนถึงโคนหางมีก้านครีบ 50-55 ก้าน ส่วนครีบหลังอยู่ตรงกันข้ามกับครีบก้นแต่สั้นกว่าครีบก้นเล็กน้อย จำนวนก้านครีบ 42-46 ก้าน

          อะโรวาน่าดำ (Black Arowana)

            พบแพร่กระจายบริเวณแม่น้ำริโอนิโกร (Rio Negro) ในบราซิล ลักษณะลำตัวโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกัน กับอะโรวาน่าเงินมากในขณะที่ปลาอายุยังน้อยยังมีเส้นขนาดเล็กคาดอยู่ อะโรวาน่าดำจะมีสีคล้ำกว่าอะโรวาน่าเงินมาก และจะมีแถบสีดำพาดไปตามความยาวลำตัว แต่เมื่อปลามีอายุมากขึ้น สีบริเวณลำตัวจะซีดจางลงจนมีสีใกล้เคียงกับอะโรวาน่าเงิน จุดที่พอจะสังเกตุความแตกต่างได้เมื่อปลาอายุมากขึ้นคือ ครีบหลังและครีบก้น อะโรวาน่าดำจะมีขอบครีบหลังและครีบก้นเป็นสีดำในขณะที่อะโรวาน่าเงินไม่มี

          อะราไพม่า หรือ ปลาช่อนยักษ์ ( Aarapaima )

            ในธรรมชาติปลาอะราไพม่าจะกิน ปลาตระกูลแคชฟิช บางชนิดเป็นอาหาร ในบางครั้งก็อาจจะกระโดดขึ้นมาเหนือน้ำ เพื่อจับนก ที่บินไปบินมา ปลาพิรารูคู หรือ อะราไพม่า ที่เรารู้จักดี เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ ที่สุดในโลก สามารถเติบโต ได้ถึง 10 ฟุต น้ำหนักถึง 400 ปอนด์ จากหลักฐานเท่าที่มีการยืนยัน เมื่อ ร้อยปีที่แล้วมีคนเคยจับได้ขนาดใหญ่สุดถึง 15 ฟุต 4.6 เมตร ปลาช่อนยักษ์จะวางไข่ราวๆ ช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ไข่เป็นพันๆ ฟองจะถูกวางในแอ่งดินใต้น้ำ ที่พ่อแม่ปลา ช่วยกันเตรียมรังเอาไว้ต้อนรับลูกน้อย

          ปลาชนิดนี้ มีลิ้นเป็นกระดูกแข็ง Bony Tongue ซึ่งมีฟันชุดที่สองเรียงราย อยู่ ด้วยคุณสมบัติดังนี้ ทำให้ปลาช่อนยักษ์ สามารถกินปลาในตระกูล Catfish ซึ่งเป็นปลาที่มีเกราะหุ้ม อันแข็งของปลาในกลุ่มนี้

3. อะโรวาน่าจากทวีปแอฟริกา (African Arowana)

          อะโรวาน่าที่พบในอัฟริกามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น อาศัยแพร่กระจายอย่างกว้างขวางจากตอนบนของแม่น้ำไนล์ บริเวณส่วนกว้างอัฟริกาไปจนถึงฝั่งตะวันตก ขนาดใหญ่ที่สุดของปลาชนิดนี้ มีความยาวลำตัวถึง 4 ฟุต ลำตัวค่อนข้างแบนและกว้าง(ลึก) ส่วนหัวค่อนข้างหนาและสั้น ด้านบนโค้งเล็กน้อย ลำตัวด้านหลังและด้นข้างมีสีน้ำเงินอมดำ น้ำตาลอมเทา น้ำตาลอมแดงหรือน้ำตาลอมเขียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่ ส่วนบริเวณท้องจะมีสีซีดกว่าด้านข้าง อาจจะมีสีครีมหรือน้ำตาลอมเหลือง ส่วนครีบต่างๆจะมีสีคล้ายกับสีของลำตัว จงอยปากสั้นกลม ริมฝีปากหนา ปากมีขนาดเล็กแต่มีฟันเต็มปาก ไม่มีหนวดที่ขากรรไกรล่าง ครีบหลังและครีบท้องอยู่ค่อนไปทางด้านหาง ครีบหางมีขนาดเล็ดรูปร่างกลม ครีบอกและครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบอกอยู่ค่อนไปทางด้านล่างของลำตัว ครีบท้องมีก้านครีบเพียง 6 ก้าน บริเวณหัวไม่มีเกล็ด เกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 32-38 เกล็ด

4. อะโรวาน่าจากทวีปออสเตรเลีย (Saratogos)

          ที่พบในทวีปนี้ มีด้วยกัน 2 ชนิด พบที่ออสเตรเลียเหนือ มีชื่อว่า Nothern Saratogas และที่พบที่ ออสเตรเลียตะวันออก ชื่อว่า Spotted Saratogas

          อะโรวาน่าออสเตรเลียเหนือ (Nothern Saratoga)

          พบในทางตอนเหนือ ของประเทศออสเตรเลีย และ หมู่เกาะนิวกีนี ในประเทศอินโดนีเชีย ปลาชนิดนี้ เป็นปลาอะโรวาน่า ที่มีรูปร่าง ที่คล้าย อะโรวาน่าจากทวีปเอเชียมากที่สุด

          มีขนาดโตเต็มที่ ประมาณ 90 เซนติเมตร ลักษณะ ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ของอะโรวาน่าออสเตรเลีย จากอะโรวาน่าในแถบทวีปเอเชีย คือ จำนวนแถว ของเกล็ด จะมีมากแถวกว่า โดยที่อะโรวาน่าออสเตรเลีย จะมีเกล็ด 7 แถว ในขณะที่ ของอะโรวาน่าจากเอเชีย มี เพียง 5 แถว ส่งผลให้ขนาดของเกล็ดปลาจะมีขนาดเล็กลง ขอบเกล็ดของปลาอะโรวาน่าชนิดนี้ จะออกสีส้ม เหลือบเขียว เป็นรูปเสี้ยวพระจันทร์

          อะโรวาน่าออสเตรเลียตะวันออก (Spotted Saratoga)

            มีถิ่นกำเนิดในรัฐ ควีนส์แลนด์ ในลุ่มแม่น้ำ Dawson อะโรวาน่า ชนิดนี้ หรือ ที่เรียกกัน สั้นๆ ว่า อะโรวาน่าออสเตรเลียจุด มีขนาดความยาวสูงถึง 90 ซม. ลักษณะลำตัวยาวเรียว บริเวณสันหลังตรง ลำตัวบริเวณด้านหลังและด้านข้างลำตัวเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมเขียว หรือเหลืองอมเขียว บริเวณส่วนท้องสีจางกว่าลำตัว เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว 35 เกล็ด มีจุดสีส้มอมแดงและสะท้อนแสงบนเกล็ดแต่ละเกล็ดจำนวน 1-2 จุด ครีบหลังและครีบก้นสีเหลืองอ่อน ขอบครีบทั้งสองเข้มจนเกือบดำ ครีบก้นยาวกว่าครีบหลังเล็กน้อยมีก้านครีบ 31 ก้าน ครีบหลังมีก้านครีบ 20 ก้าน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลามังกร ปลานำโชค อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2552 เวลา 23:08:33 28,872 อ่าน
TOP