นักวิทยาศาสตร์จีนตัดแต่งพันธุกรรม เพาะพันธุ์ลิงออทิสติกชุดแรกของโลก เพื่อใช้ทดลองศึกษาหาวิธีดูแลรักษาออทิสติกในมนุษย์ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เป็นการทดลองโหดร้ายไร้จริยธรรม
วันที่ 28 มกราคม 2559 สำนักข่าวบีบีซี ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งของจีนได้ใช้วิธีการตัดแต่งยีน เพาะพันธุ์ลูกลิงที่มีอาการออทิสติกขึ้นมา เพื่อใช้ทดลองศึกษาหาวิธีการดูแลรักษาอาการออทิสติกในมนุษย์
โดยลูกลิงออทิสติกนี้ เมื่ออายุได้ 11 เดือน ก็เริ่มแสดงอาการเช่นเดียวกับมนุษย์ที่เป็นออทิสติกออกมา อาทิ พฤติกรรมทำอะไรซ้ำ ๆ อย่างวิ่งเป็นวงกลม แสดงภาวะอารมณ์ในการเข้าสังคมบกพร่อง เป็นต้น
ก่อนหน้านี้การศึกษาเกี่ยวกับอาการออทิสติกจะทำกับหนูทดลองเป็นส่วนใหญ่ จึงได้เกิดการเพาะพันธุ์ลิงออทิสติกขึ้นมา โดยคาดว่าจะอำนวยให้ประสบผลสำเร็จในการหาทางรักษามากกว่าเดิม เนื่องจากลิงมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่า และยังเพื่อศึกษาว่ายีนจากพ่อแม่เกี่ยวข้องกับการส่งต่ออาการออทิสติกไปยังลูกจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์จะพึงพอใจมากกับการศึกษานี้ แต่ก็หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้จริยธรรม จากการนำสัตว์มาเป็นเครื่องทดลอง
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการออทิสติก มีแนวโน้มมีปัญหาในการสื่อสารและเข้าสังคม บกพร่องในการรับรู้อารมณ์ของคู่สนทนา มักพูดไม่สบตา มีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำ ๆ ฯลฯ ขณะที่วิทยาการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ก็ยังไม่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และยังไม่สามารถหาทางรักษาอาการออทิสติกได้ ทำได้เพียงการบำบัดและพัฒนาทักษะไปเท่านั้น
ภาพจาก Niu et al., Cell / Nature