นกกรงหัวจุก เสียงร้องอันมีมนต์ขลัง


นกกรงหัวจุก 


นกกรงหัวจุก เสียงร้องอันมีมนต์ขลัง

           เมื่อพูดถึงสัตว์ที่มีเสียงร้องอันไพเราะ แทบปฏิเสธไม่ได้ว่า นกกรงหัวจุก จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ปัจจุบันวงการ นกกรงหัวจุก จัดได้ว่าเป็นวงการที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นจำนวนมาก มีการจัดรายการแข่งขันติดกันและต่อเนื่องตลอดทั้งปี และมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมแพร่ขยายมากขึ้น

           นกกรงหัวจุก มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "นกปรอดหัวโขนเคราแดง" หรือ "นกพิชหลิว" มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Pycnomotus Jocosus เป็นนกที่มีการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 17 ให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ นกปรอดมีมากมายหลายชนิด วงศ์นกปรอด (Family Pycnonotidae) เป็นนกที่มีชนิดมากที่สุด พบมากที่สุดคือประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบนกปรอดประมาณ 36 ชนิด โดยที่นกปรอดทั่วโลกมีประมาณ 109 ชนิด นกกรงหัวจุก มีชื่อเรียกหลายชื่อแตกต่างกันไปตามภาค อย่างภาคใต้โดยเฉพาะ จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า "นกกรงหัวจุก" หรือ "นกกรง" ภาคเหนือเรียกว่า "นกปริ๊ดเหลว" หรือ "นกพิชหลิว" ส่วนภาคกลางเรียกว่า "นกปรอดหัวจุก" หรือ "นกปรอดหัวโขน"

           นกกรงหัวจุก เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม ขนที่ตัวมีสีดำอมน้ำตาล มีขนจุกที่หัวตั้งตรง ปลายจุกที่ติดกับลำคอมีสีดำสนิท ที่แก้มมีขนสีขาว และมีจุดสีแดงที่ข้างตาทั้ง 2 ข้าง โคนหางล่างมีสีแดง นกกรงหัวจุก มีเสียงร้องไพเราะ คนนิยมนำมาเลี้ยงไว้ฟังเสียงร้อง และนำมาแข่งขันประชันลีลาการร้องของสำนวนเสียงว่า นกกรงหัวจุก แต่ละตัวว่าใครจะเหนือกว่ากัน

           ถิ่นอาศัยของ นกกรงหัวจุก อยู่ในแถบประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น ในทวีปเอเชียส่วนใหญ่พบ นกกรงหัวจุก ได้ในประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ในประเทศไทยเราจะพบ นกกรงหัวจุก ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบ นกกรงหัวจุก อาศัยอยู่ตามชายป่า ทุ่งหญ้า พื้นที่เกษตรกรรม และตามแหล่งชุมชนในชนบท โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน

นกกรงหัวจุก 

           ชาติแรกที่นำนกกรงหัวจุกมาเลี้ยงคือชาวจีน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2410 ในประเทศไทยเริ่มนิยมเลี้ยงประมาณ พ.ศ. 2504 ที่ภาคใต้ แต่จะนำมาเล่นให้นกตีกันต่อสู้กันแบบเดียวกับไก่ชน จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2515 จึงได้คิดเล่นแบบใหม่ โดยให้แข่งขันเสียงร้อง จากนั้นจึงได้แพร่หลายมาที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ส่วนที่ภาคอีสานมีค่อนข้างน้อย นกกรงหัวจุกเป็นที่นิยมของคนภาคใต้มายาวนาน และสืบทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน จนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านทางภาคใต้ จึงเห็นมีกรงนกแขวนตามบ้านเรือนประชาชนแทบทุกบ้าน และมีการตั้งเป็นชมรมทุกจังหวัด

           การแข่งขัน นกกรงหัวจุก ได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีผู้คนให้ความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการจัดงานแข่งขันประชันเสียง นกกรงหัวจุก กันทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ในแต่ละสัปดาห์จะมีรายการแข่งขันทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 5 สนาม มีชมรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับ นกกรงหัวจุก ทั่วประเทศนับเป็นร้อยๆ ชมรม 

           นกกรงหัวจุก ที่จะนำเข้าแข่งขันนั้นต้องเป็น นกกรงหัวจุก ตัวผู้ เพราะ นกกรงหัวจุก ตัวเมียจะร้องไม่เป็นเพลง โดย นกกรงหัวจุก ที่เลือกมานั้นต้องมีลักษณะรูปร่างและน้ำเสียงที่ดี ตัวอย่างเช่น มีรูปร่างเหมือนปลีกล้วยขณะที่ปลียังเล็กอยู่ ปากของนกทั้งด้านบนและด้านล่างควรจะใหญ่ ซึ่งทำให้มีเสียงดังกังวาน ลำคอต้องใหญ่ หน้าอกต้องใหญ่ ซึ่งหมายถึงปอดของนกจะใหญ่ จะร้องได้ทนและนาน ลักษณะขน หางต้องสวยงามตามตำรา เป็นต้น

           การร้องของ นกกรงหัวจุก ต้องเปล่งเสียงร้องเต็มที่ เสียงเป็นเพลงเหมือนเสียงดนตรี เสียงของ นกกรงหัวจุก ที่ดีควรจะเป็นเสียงใหญ่ ถัดมาก็เสียงกลางและเสียงเล็ก ซึ่งก็แล้วแต่ถิ่นกำเนิดของ นกกรงหัวจุก นั้นๆ เพลงของนกกรงหัวจุกต้องมีคำหรือ 3 คำขึ้นไปจนถึง 7 คำ ซึ่งนกที่ร้องเพลงได้ 3 - 5 คำ เป็นนกแบบธรรมดา นกที่ร้องเพลงได้ 6 - 7 คำ จะเป็นนกที่หายาก จังหวะและคำร้องแต่ละคำต้องสม่ำเสมอและชัดเจน ในภาพรวมการร้องของ นกกรงหัวจุก คือ ขณะร้องเพลงต้องมีท่าที ลีลาสวยงามไปทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นปาก คอ อก หาง ขา หน้าตาสดชื่นแจ่มใส ดวงตาแจ่มใส ขาเหยียด ลำตัวนกตั้ง หน้าเชิด ขนอกฟู หางกระดก น้ำเสียงดังฟังชัดเป็นจังหวะจะโคนที่ดี สม่ำเสมอและต่อเนื่อง

           ลักษณะดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้เลี้ยง นกกรงหัวจุก หลงใหลในเสน่ห์ จนทำให้เกิดความรัก สนใจเลี้ยง นกกรงหัวจุก เพื่อการประกวดประชันเสียงร้องเพลง สำหรับกติกาการแข่งขัน นกกรงหัวจุก ในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ คือ กติกาแบบสากล และ กติกาแบบ 4 ยก สำหรับ นกกรงหัวจุก ที่มีเสียงไพเราะหรือชนะการประกวดก็จะมีราคาแพงตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนเลยทีเดียว นอกจากการประชันเสียงร้องแล้วยังมีการประกวดประชันหรือโชว์กรง นกกรงหัวจุก อีกด้วย 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นกกรงหัวจุก เสียงร้องอันมีมนต์ขลัง อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2553 เวลา 11:28:37 6,095 อ่าน
TOP
x close