x close

ศัลยกรรมเสริมความงาม...ปลา…ก็ทำได้


ปลามังกร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก aro4u.com

          ในยุคที่กระแสการทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือต้องปกปิด จึงมีหนุ่ม ๆ สาว ๆ หลายคนคิดจะลบจุดด้อยเสริมจุดเด่นของตนเองด้วยการทำศัลยกรรมความงามกันมากขึ้น แต่ยุคนี้ไม่ใช่แค่ "คน" เท่านั้นจะที่เสริมสวยเสริมหล่อได้ เพราะสัตว์เลี้ยงสวยงามอย่าง "ปลา" ก็สามารถทำศัลยกรรมเพิ่มความโดดเด่นได้เหมือนกัน

          สำหรับ การทำศัลยกรรมปลา ในประเทศไทยแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นที่รู้จักเฉพาะในวงการ ปลามังกร (arowana) หรือปลาตะพัด เท่านั้น ไม่ใช่ว่าปลาชนิดอื่นจะทำศัลยกรรมไม่ได้ เพียงแต่อาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่ากับปลาชนิดนี้ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูง ประกอบกับ ปลามังกร เป็นปลาที่ตกใจง่าย(มาก) ทำให้อาจเกิดอาการบาดเจ็บจากการชนตู้หรือสิ่งของภาพในตู้ปลาได้บ่อยครั้ง จนทำให้เกิดตำหนิขึ้น เช่น ตาตก ครีบหัก ครีบขาด หนวดขาด เกล็ดหลุด แผลถลอก ฯลฯ ซึ่งในบางกรณีระบบร่างกายของปลาจะซ่อมแซมได้เองตามธรรมชาติ แต่บางกรณีก็ไม่สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้

          ด้วยสาเหตุที่กล่าวมานี้ ทำให้นักเลี้ยงปลาคิดค้นวิธีการรักษาจุดตำหนิ และแก้ไขจุดบกพร่องต่าง ๆ ของปลามังกรให้สวยสมบูรณ์แบบ ด้วยการทำศัลยกรรม และวันนี้มีเทคนิคการทำศัลยกรรมปลามังกรจากผู้รู้ผู้เลี้ยงปลามังกร มาฝากกันค่ะ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำศัลยกรรมปลา
 
          1. ถุงใส่ปลา ควรเป็นถุงที่เหนียวและหนา มีขนาดกว้างกว่าตัวปลาประมาณ 1.5 เท่า จำนวน 2-3 ใบ
          2. ยาสลบ มีมากมายหลายยี่ห้อ ทั้งจากน้ำมันกานพลู, MS-222, ควินาดีน ฯลฯ มีวางขายทั่วไปตามร้านอุปกรณ์ปลาใหญ่ ๆ
          3. อุปกรณ์ผ่าตัด เช่น มีดผ่าตัด ปากคีบ กรรไกรผ่าตัด ซึ่งควรมีความคมมาก ๆ
          4. แหนบ ใช้สำหรับถอนเกล็ดปลาที่เสียหรือถอนหนอนสมอ
          5. อ่างหรือกะละมัง ควรมีขนาดพอเหมาะกับไซด์ของปลา
          6. ถุงมือยาง ชนิดเดียวกับที่แพทย์ใช้ ใช้สวมมือเวลาจับปลา
          7. แอลกอฮอล์ ใช้ในการฆ่าเชื้อทำความสะอาดอุปกรณ์ และสำลี สำหรับทาแผลปลา
          8. ยาป้องกันการติดเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน(เบตาดีน) อคริฟลาวิน (ยาเหลืองใส่แผล) หรือ เยนเชียลไวโอเลต(ยาม่วง) เป็นต้น
          9. ปั้มน้ำ สำหรับดูดน้ำทิ้งออกจากตู้ และดูดน้ำสำรองใส่ตู้
          10. ผู้ช่วย 1-2 คน

          ทั้งนี้ ในการทำศัลยกรรมปลานั้น อุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ ต้องเช็ดด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อไว้ก่อนเสมอ หลังจากปลาสลบแล้วให้ทำการศัลยกรรมอย่างรวดเร็วและระมัดระวัง

วิธีการจับปลาและวางยาสลบ

          ขั้นตอนแรกคือ การลดน้ำในตู้เลี้ยงลงเหลือครึ่งตู้ วิธีการนี้จะทำให้คุณจับปลาได้ง่ายขึ้น และลดโอกาสที่ปลาจะกระโดดชนขอบตู้ หรือกระโดดออกมาหัวปักลงบนพื้นดินได้อีกด้วย ถ้าเป็นปลาไซด์เล็กให้ใช้ถุงค่อย ๆ ต้อนปลาเข้าถุง ถ้าปลาเหลือบตามองด้านบนต้องระวังปลากระโดด ให้ทำอย่างระมัดระวัง เมื่อปลาเข้าถุงแล้วให้เอาน้ำออกเหลือ 1/3 ของถุงหรือท่วมตัวปลาประมาณ 3 นิ้วพอ จากนั้นค่อย ๆ หยดยาสลบใส่ในถุง โดยใส่ห่างจากปากประมาณ 5 เซนติเมตร ครั้งละประมาณ 10 หยด ทำติดต่อกันสัก 3-4 ครั้ง ให้สังเกตปลาจะเริ่มลอยหายใจบริเวณผิวน้ำ






          เมื่อใช้มือแตะตัวปลาการเคลื่อนตัวหนีก็จะช้าลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลาในปริมาณการใช้ยาสลบ ให้สังเกตดูอาการสักประมาณ 2-3 นาทีก่อนใส่ยาสลบเพิ่ม เมื่อปลาเริ่มมึนงง ว่ายเอียง เสียการทรงตัว ให้หยุดใส่ยาปลาจะเริ่มหงายและสลบในที่สุด จากนั้นก็ทำการศัลยกรรมต่อไป
       
          แต่ถ้าหากเป็นปลาขนาดใหญ่ ถ้าไม่มั่นใจว่าจะต้อนปลาเข้าถุงได้ ให้ลองทำดังต่อไปนี้ หลังจากลดน้ำลงครึ่งตู้แล้วใช้ถุง 2-3 ชั้นใส่น้ำในตู้ให้เต็มรวบจับปากถุงขวางไว้กึ่งกลางตู้ จากนั้นจึงบีบยาสลบใส่ห่างจากปากประมาณ 5 ซม.ทำติดต่อกันซัก 2 ครั้ง ปลาจะลดการเคลื่อนไหวลงจึงเปิดปากถุง ใช้มือหรือสวิงเล็ก ๆ ต้อนปลาเข้าถุงต่อไป เมื่อปลาเข้าถุงแล้วให้เอาน้ำออกเหลือ 1/3 ของถุง แล้วจึงใส่ยาสลบวิธีการเดียวกับปลาไซด์เล็ก เมื่อปลาสลบแล้วจึงย้ายปลาลงกะละมังที่ใส่น้ำพอท่วมตัวปลาเตรียมไว้ก่อนแล้วและทำการศัลยกรรมต่อไป 

การศัลยกรรมครีบ

          เป็นที่ทราบกันดีว่า ปลามังกรเอเชีย ครีบจะเปราะบางและหักง่าย จึงมักเป็นส่วนที่มีโอกาสตัดแต่งได้บ่อยที่สุด แต่หากในกรณีที่ครีบปลาเสียหายแค่เพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องทำศัลยกรรม ให้หมั่นถ่ายน้ำและใส่ยา Fungus Cure หรือ Anti Bacteria ในอัตรา 1 เม็ดต่อน้ำ 100 ลิตร ไม่นานครีบก็จะติดดังเดิม แต่ถ้าครีบหักไม่ว่าจะเป็นครีบอก ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้น เมื่อปลาว่ายจะสังเกตเห็นใบครีบช่วงที่หักจะพับไปพับมา ให้ตัดแต่งเฉพาะส่วนที่หักเสียหายเท่านั้น

          โดยกรีดแบ่งครีบส่วนที่หักออก จากนั้นใช้กรรไกรตัดย้อนศรตามรอยหักไปทางทิศเดียวกับส่วนหัวของปลา และใช้สำลีชุบยาเหลืองหรือเบตาดินเช็ดตรงรอยแผลที่ตัด เมื่อเสร็จจากการตัดแต่งแล้ว จึงทำให้ปลาฟื้น โดยการนำปลาไปไว้ตรงบริเวณหัวทรายหรือปั้มน้ำ พร้อม ๆ กับจับตัวปลาประคองให้บริเวณเหงือกได้รับออกซิเจนมากที่สุด ไม่นานปลาก็จะฟื้นตัวว่ายได้ตามปกติ ทั้งนี้ ควรใส่ยา Anti Bacteria ในอัตรา 2 เม็ดต่อน้ำ 100 ลิตร ในตู้ปลาด้วย

การศัลยกรรมเหงือก







          เหงือกหุบหรืออ้า ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ปลาหมดสวย ซึ่งการตัดเหงือกที่พับอ้านั้น ทำได้โดยใช้ปลายกรรไกรตัดซอยบริเวณแผ่นปิดเหงือกอ่อน โดยตัดซอยลักษณะเป็นริ้วคล้ายนิ้วมือและให้ตัดถึงขอบแผ่นปิดเหงือกแข็ง แต่อย่าตัดเข้าไปในแผ่นปิดแข็ง ใช้สำลีชุบยาทาบริเวณแผล หลังจากเสร็จแล้วจึงทำให้ปลาฟื้นและใส่ยาต่อไป ซึ่งวิธีนี้มีข้อควรระวังคือ ให้ระวังปลายกรรไกรตัดอย่าให้เลยไปถูกซี่เหงือกหรือจิ้มเข้าไปในเหงือก ซึ่งจะทำให้ปลาตายได้

          ส่วนในกรณีแผ่นปิดเหงือกอ่อนพับ เป็นเหตุสืบเนื่องมาจากเมื่อเหงือกอ้าแล้วปล่อยเรื้อรังมานาน แผ่นปิดเหงือกจึงพับถาวร หลังจากปลาสลบแล้วใช้กรรไกรตัดแผ่นปิดเหงือกอ่อนทิ้งให้หมด จากนั้นจึงใช้ใบมีดคัดเตอร์คม ๆ ขูดเนื้อเยื้อฐานของแผ่นปิดเหงือกอ่อนบริเวณขอบแผ่นปิดเหงือกแข็งออกให้หมด ใช้สำลีชุบยาเช็ดบริเวณแผล จากนั้นจึงทำให้ปลาฟื้นและใส่ยาต่อไป ทั้งนี้ ถ้าตัดแผ่นปิดเหงือกออกอย่างเดียวโดยไม่ขูดเนื้อเยื้อทิ้ง เมื่อแผ่นปิดเหงือกขึ้นมาใหม่ก็มีโอกาสพับเหมือนเดิมสูงมาก

การทำศัลยกรรมเกล็ด

          ในการถอดเกล็ดปลานั้น ไม่ว่าจะเป็นเกล็ดกร่อน เกล็ดหลุดคา เกล็ดผิดรูป หรือเกล็ดซ้อนนั้น หลังจากวางยาให้ปลาสลบแล้ว ใช้ปลายกรรไกรหรือแหนบงัดเกล็ดขึ้นด้านบน เกล็ดก็จะหลุดออกมาได้ง่าย หลังนั้นจึงใช้สำลีจุ่มยาทาบริเวณแผลและทำให้ฟื้นต่อไป

การทำศัลยกรรมหนวด

          สำหรับการทำศัลยกรรมหนวดนั้น หากหนวดปลายาวไม่เท่ากัน ให้ขลิบปลายหนวดออกเล็กน้อย หนวดก็สามารถงอกมาใหม่ได้ ในกรณีที่เกิดเนื้องอกที่โคนหนวด ก็ให้ตัดแต่งเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้องอกออกเท่านั้น ส่วนในกรณีหนวดเสียหายอันเนื่องมาจากการขนย้าย โดด หรือกระแทกตู้เวลาไล่กินเหยื่อเป็น ส่งผลให้หนวดหัก คดหรือบิดงอ ให้สังเกตว่าเกิดบริเวณใดอาจเกิดปลายหนวด กลางหนวดก็ให้ตัดแต่งบริเวณนั้น แต่หากเกิดบริเวณโคนหนวดโอกาสที่หนวดจะไม่งอกมีสูงมาก การตัดแต่งให้ตัดเหลือโคนไว้ 1-2 มิลลิเมตร หนวดก็มีโอกาสงอกใหม่ได้

วิธีดูแลปลา หลังการทำศัลยกรรม








          เมื่อทำการตัดแต่งเสร็จแล้ว ปลาจะเกิดบาดแผลขึ้น ให้ใช้สำลีชุบยาฆ่าเชื้อที่เตรียมไว้ชุ่ม ๆ แล้วมาป้ายตรงแผลเบา ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณแผล เช่น แบคทีเรียและเชื้อรา แล้วอุ้มประคองปลา ลงไปในอ่างฟื้นปลาที่เตรียมไว้ น้ำที่ใช้ก็เป็นน้ำในตู้ หรือน้ำกรองสะอาดทั่วไป พร้อมกับให้ใส่หัวทรายออกซิเจนแรง ๆ เตรียมไว้ แล้วประคองปลาไปปล่อยในอ่างดังกล่าว หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ปลาฟื้นเอง โดยไม่ต้องประคอง เพราะอย่างไรมันก็จมน้ำอยู่ดี

          เมื่อปลาเริ่มฟื้น และเริ่มทรงตัวได้แล้ว ส่วนใหญ่จะกินเวลาประมาณ 3 นาที ให้รีบใช้ถุงต้อนปลาเข้าถุงดังเดิม แล้วนำไปปล่อยในตู้เลี้ยงที่เตรียมน้ำไว้แล้วในแบบที่พร้อมเลี้ยงปกติครับ ทั้งนี้ ไม่ควรทิ้งไว้นานจนปลาฟื้นเต็มที่  เพราะเสี่ยงที่ปลาจะโดดออกมาข้างนอกได้ ซึ่งเมื่อปล่อยปลาลงไปสักพัก ปลาก็จะว่ายน้ำได้ปกติ

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ปล่อยปลาลงไปแรกๆนั้น ควรมีการเพิ่มหัวทรายเตรียมไว้ด้วยในตู้เลี้ยง เพื่อปลาจะได้ฟื้นตัวแข็งแรงเร็วขึ้น และเมื่อปลาว่ายน้ำได้เป็นปกติแล้ว ก็เป็นอันปลอดภัยเรียบร้อย การดูแลปลาต่อจากนี้ ก็คือการรักษาคุณภาพน้ำครับ ส่วนเรื่องอาหารควรให้เมื่อผ่านไปอีกวัน และควรให้น้อย ๆ ก่อนในระยะแรก เพื่อคุณภาพน้ำที่ดีและการฟื้นตัวของปลาซึ่งอาจยังไม่เต็มที่



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, aro4u.com, taphadshop.com, pantown.com





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศัลยกรรมเสริมความงาม...ปลา…ก็ทำได้ อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2553 เวลา 18:06:45 7,521 อ่าน
TOP