x close

สี่ขา แน่(นอน) กว่า จีที 200






สี่ขา แน่(นอน) กว่า จีที 200 (กรุงเทพธุรกิจ)
โดย : สุเมธ ปานเพชร

          ในวันที่เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 กำลังถูกตั้งคำถามถึงกลไกการใช้งาน จู่ๆ ก็มีคนนึกถึง "เจ้าสี่ขา" ชุดตรวจระเบิดรุ่นคลาสสิคขึ้นมา

          เรากำลังพูดถึง "ชุดตรวจระเบิด 4 ขา" ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "หมวดสุนัขทหารอโณทัย หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย" หรือ "หน่วยย่าเหล" ตามนามของสุนัขทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสุนัขที่ฉลาด แสนรู้

          ใน "หมวดสุนัขทหารอโณทัยฯ" มีสมาชิกทั้งหมด 34 ตัว ครอบคลุมทุกประเภทภารกิจ ในจำนวนนี้มีหลายตัวที่ความสามารถโดดเด่นเป็นพิเศษ

          เริ่มต้นที่ "เรดาส" สุนัขเพศเมีย พันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ สีน้ำตาลอ่อน วัยอายุ 3 ปี รูปร่างสมส่วน น้ำหนัก 30 กิโลกรัม สีน้ำตาลอ่อน โดยมี พล.อส.กิตติศักดิ์ พิสุทธิ์เกษมบุญ เป็นผู้บังคับสุนัข เจ้าเรดาสเป็นสุนัขใช้ในหน้าที่สุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด ประจำการมาแล้วเกือบ 2 ปี เลขทะเบียน ประจำตัวสุนัขทหาร 7049

          พล.อส.กิตติศักดิ์ เล่าว่า เริ่มจับเรดาสมาตั้งแต่ มีอายุได้ 8 เดือน  มีนิสัยขี้เล่น อยู่ไม่ค่อยจะนิ่ง กระตือรือล้นอยู่ตลอดเวลา เป็นลักษณะนิสัยทั่วไปของสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ หากผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นสุนัขทหาร มักจะถูกบรรจุในหน้าที่เป็นสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด หรือสุนัขตรวจค้นยาเสพติด เป็นส่วนใหญ่

          "ในคอกเดียวกับเจ้าเรดาส มีทั้งหมด 9 ตัว เป็นเพศเมีย 8 เพศผู้ 1 ทุกตัวจะมีชื่อต้นด้วยคำว่า "เร" หมดเลย"

          พล.อส.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ทุกตัวในคอกเดียวกันกับเจ้าเรดาสได้ผ่านการคัดเลือกมาเป็นสุนัขทหาร ทำหน้าที่ สุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด ทั้ง 9 ตัว เพราะนิสัยของสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ เหมาะกับหน้าที่นี้

          ผู้บังคับ เล่าถึงวีรกรรมของเจ้าเรดาสที่ผ่านมาว่า "ช่วงที่เรดาสยังอยู่ที่กองพันสุนัขทหาร เคยถูกส่งไปช่วยเจ้าหน้าที่ชุดทำลายล้างวัตถุระเบิด ในงานที่ไบเทคบางนา โดยเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าในบริเวณพื้นที่ มีวัตถุต้องสงสัยที่คาดว่า จะเป็นพัสดุภัณฑ์ระเบิด แต่ยังหาจุดไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน เมื่อพาเจ้าเรดาสมายังพื้นที่และเริ่มทำงาน มันสามารถระบุจุดที่มีวัตถุต้องสงสัยได้ โดยจะแสดงการนั่งในระยะ 2-7 ก้าว ใกล้จุดที่มีวัตถุ เจ้าเรดาสสามารถทำได้อย่างแม่นย่ำ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถค้นจุดที่มีพัสดุภัณฑ์ระเบิด ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น"





          ด้าน "เซนอล" สุนัขเพศเมียวัย 6 ปี พันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ดหรือ อัลเซเซียล เลขทะเบียน ประจำตัวสุนัขทหาร 6347 สีน้ำตาลดำ รูปร่างใหญ่ท้วม ขนสีขาวแซมออกมาบริเวณใต้ปาก แสดงถึงวัยที่ค่อนข้างจะสูงกว่าตัวอื่นๆ

          พล.อส.ประพันธ์ ชมโคกกวด ผู้บังคับสุนัขคู่หูเจ้าเซนอล เย้าเจ้าเพื่อนยากว่า สุนัขแก่ ด้วยอายุปัจจุบัน 6 ปี อีก 2 ปีก็ปลดประจำการแล้ว ทั้งลักษณะการยืนแต่ต่างจากตัวอื่น เพราะข้อสะโพกขาหลังห่าง ซึ่งจริงๆแล้ว สุนัขลักษณะนี้จะไม่ได้รับคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่สุนัขทหาร แต่ยกเว้นให้เซนอลเพราะอาการข้อสะโพกห่างมาเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับการฝึกและบรรจุเข้าสุนัขลาดตระเวน

          ในความแก่ก็มีข้อดีอยู่ ตรงบุคลิกที่นิ่งในการทำงาน ตั้งใจ ไม่วอกแวกและไม่เล่นขณะปฏิบัติหน้าที่

          "แต่พอปฏิบัติหน้าที่สำเร็จเรียบร้อย เซนอลจะเริ่มอ้อนขอคำชม เราก็จะชมด้วยการใช้มือตบและลูบที่ลำตัวหรือหัวเบา ทุกครั้งที่ทำงานสำเร็จเรียบร้อย ต้องมีคำชมให้ตลอด ไม่ต่างอะไรกับเด็ก จะทำให้เขาจดจำ และทำหน้าที่ได้ดี"
 
          แม้หน้าที่จะไม่ค่อยบู๊เหมือนเจ้าเรดาส แต่เจ้าเซนอลก็มีช่วยเพื่อน 2 ขา ได้หลายครั้ง  

          "หากในเส้นทางลาดตระเวนมีสิ่งผิดปกติ เป็นอุปกรณ์หรือระเบิด เจ้าเซนอลจะเตือนภัยด้วยการนั่ง ห่างจากจากวัตถุ และหากเป็นข้าศึกฝ่ายตรงข้ามอยู่ในรัศมี 30 -300 เมตร จะเตือนภัยเช่นเดียวกัน ซึ่งเซนอลจะหยุดนั่ง และแสดงอาการหูตั้งชันขึ้น เป็นการเตือนบอกให้รู้"

          อยู่ด้วยกันมาเกือบ 5 ปี พล.อส.ประพันธ์กับเจ้าเซนอล ก็แนบแน่นไม่แพ้คู่อื่น

          "รักเหมือนลูก เซนอลเคยป่วยหนัก เป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือด ออกทำงานไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลารักษาเกือบ 2 อาทิตย์ ตอนนั้น จะเรียกได้ว่า ใกล้ชิดอยู่ดูแลเขาตลอดเลย"

          ด้วยความผูกพันที่มีมากต่อเจ้าเซนอล ของ พล.อส.ประพันธ์ ประกาศเอาไว้เลยว่า หากเซนอลปลดประจำการ (8-10 ปี) เขาจะประมูลเอาไปเลี้ยงเอง

          "ตอนนั้นเซนอลก็ไม่ต่างอะไรกับสุนัขแก่ตัวหนึ่ง ซึ่งคงไม่ได้รับความสนใจมากนัก ผมเชื่อว่า ไม่มีใครจะสนใจดูแลเซนอลเท่ากับผม"

          สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว สุนัขทหารที่จะละเลยการพูดถึงไม่ได้ก็คือ สุนัขสะกดรอย "อันอาร์ม" เลขทะเบียนประจำตัวสุนัขทหาร 5151 สุนัขสะกดรอยฝีมือดีอีกตัวของหมวดสุนัขทหารอโณทัย เป็นสุนัขพันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ดหนุ่มวัย 2 ปี ค่อนข้างปราดเปรียว ว่องไว ขี้เล่นตามประสาสุนัขวัยละอ่อน มี พล.อส.พิคิด สุขคุ้ม เป็นผู้บังคับสุนัขคู่ใจ
 
          "อันอาร์มขี้เล่นและกระตือรือล้นมาก ว่องไวไม่เป็นรองใคร เหมาะกับหน้าที่สุนัขสะกดรอยตามที่ถูกคัดเลือกมา หากออกปฏิบัติหน้าที่สะกดรอยคนร้าย สุนัขจะเริ่มทำงานและเดินหน้าทันที ผู้บังคับสุนัขต้องตามสุนัขให้ทัน"

          แม้จะเป็นสุนัขขี้เล่น แต่ขณะที่ผู้บังคับ 2 ขา กำลังนั่งสนทนาอยู่นั้น เจ้าอันอาร์มไม่ได้แสดงอาการขี้เล่นออกมาเลย เพราะได้รับคำสั่งให้หมอบตั้งแต่แรก แต่เมื่อทาง พล.อส.พิคิด ยกเลิกคำสั่ง เจ้าอันอาร์ม กลับสู่โหมดขี้เล่น กระโดดทันที หยอกล้อ วิ่งวนไปมา

          ตั้งแต่ลงมาอยู่พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา อันอาร์มได้ลงพื้นที่อยู่หลายครั้ง อย่างกรณีล่าสุด เกิดขึ้นในบ้านพักของทหาร มีคนร้ายพยายามบุกขึ้นไปลวนลามผู้หญิงในบ้านพัก แต่ผู้หญิงสู้คนร้ายจึงหนีไป จึงขอให้นำสุนัขทหารไปแกะรอยคนร้าย สุนัขตามกลิ่นไปจนถึงแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้เบาะแสแคบลงและจับคนร้ายได้

          "ความแม่นย่ำของเจ้าอันอาร์ม ถือว่าดีเลยทีเดียว สุนัขในหน้าที่นี้ จะมีประสาทแยกกลิ่นสามารถแยกกลิ่นได้พร้อมๆ กันสูงสุดถึง 7 กลิ่น คนร้ายที่ติดตามมี ไม่เกิน 7 คน สามารถตามตัวแยกระบุแต่ละรายตามกลิ่นไปในคราวเดียวกันได้เลย"




รู้จักหมวดสุนัขทหารอโณทัย

          ร.อ.พัฒนศักดิ์ ประสมศรี ผู้บังคับหมวดสุนัขทหารฯ เล่าว่า กองทัพใช้งานสุนัขทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังมีกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 หรือ พตท.43 (ในยุคก่อนปี 2545 ที่ยังไม่ยุบ ศอ.บต.) แต่ตอนนั้นไม่ได้ถูกตั้งขึ้นเป็นหน่วย เป็นแต่เพียงชุดสุนัขทหารที่ทำงานคู่กับชุดของทหารช่างเท่านั้น

          ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้นจึงมีคำสั่งให้กองพันสุนัขทหารจัดกำลังพล 12 นายและสุนัขทหาร 8 ตัว ลงมาประจำยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจค้นหาแหล่งซุกซ่อนของอาวุธที่ถูกปล้นไป

          กระทั่งปี 2548 กองทัพบกจึงมีคำสั่งให้จัดตั้งหมวดสุนัขทหาร บรรจุกำลังพล 22 นาย และสุนัขทหาร 12 ตัว ขึ้นตรงกับกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ตั้งฐานอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีภารกิจสนับสนุนงานด้านยุทธการ ทำงานควบคู่กับชุดทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี และได้รับการปรับเพิ่มกำลังพลและสุนัขทหารเรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันมีกำลังพลทั้งสิ้น 54 นาย และสุนัขทหาร 34 ตัว

          สุนัขทหารทั้งหมดถูกส่งไปประจำยังหน่วยเฉพาะกิจประจำจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 1 ชุดปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วยกำลังพล 6 นาย และสุนัขทหาร 4 ตัว ยกเว้นหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส มี 2 ชุดปฏิบัติการ เพราะพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางกว่าหน่วยเฉพาะกิจอีก 2 จังหวัด

          สุนัขทหาร 1 ตัวกับผู้บังคับสุนัขทหาร 1 นาย เรียกว่า "1 ชุดสุนัขทหาร" ฉะนั้นชุดปฏิบัติการที่ถูกส่งไปประจำยังหน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัดแต่ละจังหวัดซึ่งมีสุนัขทหาร 4 ตัว ก็จะเท่ากับมี 4 ชุดสุนัขทหาร เพื่อรับผิดชอบภารกิจ 4 หน้าที่ คือ สุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด สุนัขลาดตระเวน สุนัขสะกดรอย และสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด ซึ่งถือว่าครอบคลุมทุกภารกิจด้านความมั่นคง

          ผู้กองพัฒนศักดิ์ บอกต่อว่า สุนัขทหารที่ลงมาทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นสุนัขที่จบจากโรงเรียนสุนัขทหาร ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก โดยกระบวนการฝึกจะคัดสุนัขให้ได้คุณภาพตามหน้าที่ที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 พันธุ์ คือพันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด (German Shepherd) และพันธุ์ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) เมื่อสุนัขมีอายุได้ 10-12 เดือน ก็จะเข้ารับการฝึกคู่กับผู้ควบคุมสุนัขทหาร หลักสูตรขั้นต้น 4 เดือน จึงจะออกปฏิบัติภารกิจได้

          ในห้วงที่เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ถูกตั้งคำถามเรื่องราคาที่สูงถึง 1.2 ล้านบาท เชื่อหรือไม่ว่าราคาของจีที 200 สามารถผลิตเครื่องตรวจระเบิด 4 ขาได้ถึง 10 ตัว

          "สุนัขทหารตัวหนึ่งมีต้นทุนประมาณแสนกว่าบาท แต่ใช้งานได้ถึง 10 ปี โดยปีแรกจะแพงที่สุด เพราะคือต้นทุนราคาสุนัขพันธุ์ดีที่ซื้อมาตัวละ 30,000 บาท หลังจากนั้นก็จะเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว พวกค่าอาหาร 1 ตัวต่อปีใช้ประมาณ 182.5 กิโลกรัม และค่ายารักษาโรคต่างๆ อีก 1,890 บาทต่อปี" ผู้กองพัฒนศักดิ์ กล่าว

          อาหารการกินของชุดตรวจระเบิดเห่าโฮ่งๆ ไม่ได้วิลิศมาหราแต่อย่างใด เพราะทุกตัวจะกินอาหารสำเร็จรูปที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป และกินแค่วันละมื้อตอนบ่ายสามโมง โดยในหนึ่งสัปดาห์จะมีมื้อพิเศษ 1 มื้อ คือจะมีการผสมพวกเนื้อ นม ไข่ หรือตับบดเข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้รสชาติซ้ำซากจำเจ

เมารถแต่ไม่เมางาน
 
          ในเวทีเสวนาเรื่องเครื่องตรวจระเบิด (ลวงโลก) ที่จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แม้นักฟิสิกส์ชื่อดังอย่าง ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ จะยกย่องเจ้า "ชุดตรวจระเบิด 4 ขา" ว่าเป็น "ไบโอเซ็นเซอร์" ชนิดหนึ่ง ทั้งยังการันตีว่าแม่นกว่าเครื่องตรวจระเบิดลวงโลกเป็นไหนๆ ทว่าการปฏิบัติงานจริงที่ชายแดนใต้ก็ประสบปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน...

          แต่เป็นปัญหาเรื่องความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม หาใช่เรื่องประสิทธิภาพ
 
          "ชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ยอมให้นำสุนัขทหารเข้าไปในหมู่บ้านด้วยเหตุผลทางศาสนา จึงทำให้ภารกิจปิดล้อมตรวจค้นเพื่อหาตัวคนร้ายและอาวุธไม่สามารถใช้สุนัขทหารได้ทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ปัญหานี้ผมเคยสอบถามจากผู้รู้ทางศาสนาแล้ว ได้รับคำตอบว่าจริงๆ พี่น้องมุสลิมสามารถถูกตัวสุนัขได้ หากสุนัขไม่เปียก แต่ที่ผ่านมาเมื่อเข้าไปปฏิบัติงานจริงชาวบ้านก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี ประเด็นนี้คงต้องช่วยกันทำความเข้าใจกันต่อไป เพื่อให้สุนัขทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" ผู้กองพัฒนศักดิ์ บอก

          ส่วนที่มีบางหน่วยอ้างว่า สุนัขทหารมีจุดอ่อนเรื่องการเมารถ จึงไม่สามารถพาไปปฏิบัติหน้าที่ไกลๆ ได้นั้น ประเด็นนี้ ผู้กองพัฒนศักดิ์ มองว่าไม่ใช่ปัญหา

          "ที่บอกว่าสุนัขเมารถมันก็มีส่วนถูก คือหากนำสุนัขนั่งรถไปไกลๆ ก็อาจจะเมารถหรือเหนื่อยได้ แต่ไม่ถึงขั้นทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อมาถึงที่หมายแล้ว หากให้เวลาสุนัขพักก่อน สุนัขก็จะทำงานได้ตามปกติ"

          "จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สุนัขแต่ละตัวสามารถทำงานได้ต่อเนื่องประมาณ 2-3 ชั่วโมง เมื่อสุนัขทำงานครบตามเวลาจะเกิดอาการเหนื่อยล้า สังเกตได้จากการที่สุนัขจะแลบลิ้นออกมาเพื่อระบายความร้อน เมื่อผู้บังคับสุนัขเห็นแบบนั้น ก็จะนำสุนัขไปพักก่อน แล้วนำสุนัขตัวอื่นออกมาสลับทำหน้าที่แทน"

          ผู้กองพัฒนศักดิ์ ย้ำว่า แม้ทั้งสองเรื่องจะเป็นข้อจำกัดของสุนัขทหาร แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความแม่นยำ

          "สิ่งสำคัญอยู่ที่การนำไปใช้งานและความเข้าใจในสุนัขตัวนั้นๆ ของผู้บังคับสุนัขมากกว่า เพราะหากพูดกันตรงๆ เครื่องมือทันสมัยก็มีปัญหาในการใช้งานไม่ต่างกับสุนัข แต่ในเรื่องความแม่นยำแล้ว ผมยังเชื่อในสุนัขทหาร 100 เปอร์เซนต์"




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สี่ขา แน่(นอน) กว่า จีที 200 อัปเดตล่าสุด 10 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 12:03:59 1,666 อ่าน
TOP