x close

เช็คร่างกายเหมียวกันหน่อย…






เช็คร่างกายเหมียวกันหน่อย…(นิตยสารโลกสัตว์เลี้ยง)


          การเลี้ยงแมวสักตัวนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้ข้าว ให้น้ำ ให้เจ้าเหมียวมีชีวิตรอดไปวันๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว เจ้าเหมียวไม่ได้ต้องการเพียงแค่นั้น แต่เจ้าเหมียวยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่อีกด้วย การดูแลเอาใจใส่นอกจากจะได้เรียนรู้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเจ้าเหมียวแล้ว  หากพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเจ้าเหมียวเราก็ยังสามารถรู้ได้เร็วและสามารถที่จะเยียวยาและรักษาได้ทันท่วงทีอีกด้วย

          พูดถึงเรื่องการใส่ใจแล้ว วันนี้เรามีวิธีใส่ใจเจ้าเหมียวแบบง่ายๆ มาฝากกัน แต่ประโยชน์ที่ได้นั้นมหาศาล นั่นก็คือการตรวจสุขภาพเจ้าเหมียวแบบคร่าวๆ นั่นเอง วิธีการจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย...

          การตรวจร่างกายเจ้าเหมียวนั้นจะเริ่มตรวจไล่ตามส่วนต่างของร่างกายเจ้าเหมียว เริ่มจาก...

          ส่วนหัวและคอ หน้าของน้องเหมียวจะต้องอยู่ในลักษณะที่สมดุล ไม่โย้ ไม่บวม ไม่ฟีบ ดวงตาเป็นประกายสดใส ขนาดม่านตาปกติ และคอยสังเกตว่ามีเส้นเลือดโป่งหรือแดงผิดปกติในตาหรือเปล่า ใบหูสีผิดปกติหรือไม่ มีน้ำหนองหรือขี้หูไหลเยิ้มหรือเปล่า

          รูจมูก จะต้องไม่มีสิ่งใดอุดตันหรือแห้งเกรอะกรัง สำหรับช่องปากจะต้องดูสีเหงือกว่าซีดไหม และดูบาดแผลที่เกิดขึ้น

          ช่องปาก ตรวจดูคราบหินปูน และดูว่ามีเศษอาหารติดที่ซอกฟันหรือไม่ มีกลิ่นปากหรือเปล่า ควรจะพาแมวไปตรวจสุขภาพปากและฟันทุกๆ 6 เดือน

          ลำตัว จะดูจากความสมดุลของลำตัว สังเกตุได้จากกระดูกซี่โครงเชิงกราน แลกระดูกสันหลัง จากนั้นใช้ฝ่ามือกดจากทั้ง 2 ข้างของลำตัวดูว่าอ่อนนุ่ม แข็ง หรือตึงกว่าปกติไหม หรือว่าเจ้าเหมียว แสดงอาการเจ็บปวดออกมาเมื่อถูกสัมผัส แบบนี้แสดงว่าน่าจะเกิดอาการผิดปกติ

          อวัยวะเพศ ต้องคอยดูว่ามีอาการบวมแดงหรือเปล่า รวมถึงกลิ่นที่ผิดปกติด้วย การสังเกตการก้าวย่างจากการมองหลายๆ มุม เพื่อดูว่าเขาสามารถเดินได้อย่างปกติไหม และลองจับขายืด หด งอตามข้อต่อ ดูว่าเจ้าเหมียวต้องไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น แต่ต้องทำเบาๆ ไม่ต้องใช้ความรุนแรงเดี๋ยวจากน้องเหมียวจะเกิดอาการบาดเจ็บได้

          ผิวหนัง จะต้องคอยดูว่าเกิดสะเก็ดบนผิวหนังหรือเปล่า รวมถึงการไม่ปล่อยให้ขนแมวพันอีนุงตุงนัง หรือขนร่วงและตรวจดูเล็บเท้าว่าสั้นหรือยาวไปไหม

           นอกจากนี้แล้วยังต้งอสังเกตการกินน้ำ กินอาหาร การขับถ่าย ว่ากินน้ำมากกว่าปกติหรือเปล่า หรือเบื่ออาหารไหม หรือมีอาการท้องผูกท้องร่วงซึ่งอาการฉี่ไม่ออก จะพบได้ในแมวที่มีอายุมากขึ้น รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ อีกด้วย  วิธีการตรวจเช็คร่างกายแบบง่ายๆ อย่างนี้ เชื่อว่าใครๆ ก็สามราถที่จะทำได้ แต่หากพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น การปรึกษาสัตวแพทย์นั้น คงจะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนมิถุนายน 2552


   


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็คร่างกายเหมียวกันหน่อย… อัปเดตล่าสุด 16 กรกฎาคม 2552 เวลา 23:14:46 2,931 อ่าน
TOP