เมื่อ ปลามังกร หมดท่า เหงือกอ้า..จะแก้ไขอย่างไร



ปลามังกร ไฮแบ็ค



เมื่อ ปลามังกร หมดท่า เหงือกอ้า..จะแก้ไขอย่างไร (ข่าวสารโลกสัตว์เลี้ยง)

          โดยธรรมชาติของปลาอะโรวาน่า หรือ ปลามังกร จัดว่าเป็นปลาที่มีความต้านทานต่อโรคภัยต่างๆ เนื่องจากสายพันธุ์ ปลามังกร เป็นปลาแม่น้ำ ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคดี ขอเพียงผ้เลี้ยงให้ความใส่ใจกับเรื่องของน้ำเลี้ยง และอาหารการกินก็พอ

          แต่หากผู้เลี้ยงขาดความใส่ใจ ปลามังกร ในเรื่องน้ำเลี้ยง และอาหาร เช่น ปล่อยให้อาหารบูดเสีย ทำให้น้ำเน่า และปนเปื้อนเชื้อโรค หรือจะเป็น การขาดออกซิเจน การเปลี่ยนอุณหภูมิน้ำอย่างฉับพลัน หรือเหตุอื่นๆ ก็จะทำให้ปลาเจ็บป่วยได้โดยง่าย

          ทั้งนี้ โรคชนิดหนึ่งที่มักพบกับ ปลามังกร ก็คือ โรคเหงือกอ้า ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับนักเลี้ยงปลาส่วนมาก สาเหตุของการเกิดโรคนี้มีที่มาจากอะไร และวิธีการรักษาโรคมีขั้นตอนอย่างไร เรามีคำแนะนำดีๆ มาเสนอให้คนรัก ปลามังกร ได้ติดตามกันค่ะ

 อาการของโรค

          อาการในระยะยเริ่มแรก การเคลื่อนไหวของแผ่นปิดเหงือกจะไม่สม่ำเสมอ การหายใจจะเร็วขึ้นอย่างผิดปกติ ต่อมาแผ่นที่ปิดเหงือกจะเว้าเข้า และขอบริมจะหยักขึ้นบน เป็นเหตุให้เหงือกเปิดอ้าขึ้น และในที่สุดเมื่อถึงระยะรุนแรง ปลามังกร จะเอาหัวโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อเอาอากาศหายใจ ขณะเดียวกัน ปลามังกร ก็จะไม่อยากอาหาร เนื่องจากเหงือกได้รับความเสียหาย และอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีผลต่อระบบหายใจและทำให้ปลาเสียชีวิตในที่สุด

 แนวทางการรักษา เมื่อ ปลามังกร เป็นโรคเหงือกอ้า

          เมื่อพบว่า ปลามังกร เริ่มที่จะหายใจไม่สม่ำเสมอควรจะเปลี่ยนน้ำทันทีทุก 2-3 วัน ครั้งละ 20 %  ของปริมาณน้ำในตู้ ควรนำปั๊มลมมาเพิ่ม เพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนในน้ำให้มากขึ้น อีกทั้งควรนำระบบกรองมาล้างทำความสะอาด จากนั้นใส่เกลือ 0.3% และยาเตตร้าไซคลิน 250 มก./น้ำ 25 ลิตร เพื่อฆ่าเชื้อโรค

          แต่หากระยะโรคเริ่มแสดงอาการรุนแรง ขอบของแผ่นปิดเหงือก ปลามังกร จะเป็นรอยหยักเพียงเล็กน้อย แต่ยังไม่แข็ง ควรจะทำให้กระแสน้ำไหลแรงขึ้น โดยการใช้พาวเวอร์เฮดเป่า และยาเตตร้าไซคลิน 250 มก./น้ำ 25 ลิตร เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยที่ยังใช้เกลือ 0.3% ร่วมด้วย ซึ่งจะมีโอกาสหายถึง 50%

          อย่างไรก็ตาม หาก ปลามังกร ป่วยระยะสุดท้าย อาการที่พบคือ แผ่นปิดเหงือกจะเผยออกมา โดยในช่วงแรกจะเริ่มส่วนที่นุ่ม หรือเหงือกบางก่อนที่จะลุกลามไปยังเหงือกส่วนที่แข็ง หากไม่รีบจำกัดการลุกลามของโรค ปลามังกร จะตกอยู่ในอันตราย เหงือกของ ปลามังกร จะเปิด ทำให้หายใจได้ลำบาก และติดเชื้อได้ง่าย อาจทำให้ ปลามังกร เสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ทางเดียวที่จะแก้ไขได้คือ การตัดเหงือกเฉพาะส่วนที่อ้าทิ้ง และปรับปรุงสภาวะของน้ำให้เหมาะสมกับ ปลามังกร


ปลามังกร บลัด เรด


 ขั้นตอนการผ่าตัดเหงือก ปลามังกร

          1. เตรียมถุงใส่ ปลามังกร ที่มีขนาดพอเหมาะกับตัวปลา และมีความหนาอย่างน้อย 2 ใบ

          2. เตรียมยาสลบ (aquadine ราคา 100 บาท หรือ nikatransmore ราคา 300-350 บาท) ด่างทับทิม หรือทิงเจอร์ไอโอดีน กรรไกรที่ใช้ในวงการแพทย์ (ราคา 300-400 บาท) ผ้าขนหนูสะอาด กะละมังขนาดใส่ตัวปลาได้ และขันน้ำเพื่อใช้ผสมน้ำกับยาสลบ

          3. นำขันตักน้ำในตู้ปลามาประมาณครึ่งขัน นำยาสลบเติมลงไป ครั้งแรกใส่ 40 หยด สำหรับ ปลามังกร ที่มีขนาดไม่เกิน 12 นิ้ว จากนั้นใช้ถุงที่เตรียมไว้มาซ้อนกัน 2 ใบ ที่ทำเช่นนี้ เพราะ ปลามังกร มีการชนที่รุนแรง อาจทำให้ถุงขาด จากนั้นให้พับปากถงก่อนที่จะนำไปตักน้ำในตู้ปลาให้เต็ม และใช้มืออ้าปากถุงออกให้กว้างที่สุด แล้วค่อยๆ ต้อน ปลามังกร เข้ามาในถุง โดยต้องให้หัว ปลามังกร เข้ามา อย่าต้อนทางหาง เพราะ ปลามังกร จะตกใจ ค่อยๆ ทำอย่างใจเย็น

          4. เมื่อต้อน ปลามังกร เข้าไปอยู่ในถุงแล้ว ให้รีบปิดปากถุง โดยขณะที่จะปิดปากถุง ปากถุงจะต้องจมอยู่ในน้ำ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่ปลาจะกระโดดสวนออกมา ทั้งนี้ต้องสังเกตดูว่าน้ำควรท่วมหลังปลาประมาณ 2 นิ้ว


ปลามังกร บลูเบส


          5. แง้มปากถุงเล็กน้อย แล้วนำยาสลบที่เตรียมไว้เทลงไปในถุงที่บรรจุ ปลามังกร จากนั้นให้นำเอาหัวออกซิเจนที่ใช้ในตู้ปลาใส่ลงไปเพื่อกระจายยาให้ผสมกับน้ำเร็วขึ้น ใช้ยางรัดปากถุงทิ้งไว้ดูอาการ 5 นาที หาก ปลามังกร ยังไม่สลบ ให้เพิ่มยาสลบไปครั้งละ 5 หยด และรอดูอาการทุก 2 นาที และเมื่อแน่ใจว่า ปลามังกร สลบดีแล้ว ให้แก้มัดถุงออก แล้วใช้มือจับที่ตัวปลา หากไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ก็เป็นอันสำเร็จขั้นตอนการวางยา

          6. นำผ้าเช็ดตัวมาปูในกะละมังเพื่อรองรับตัวปลา ผสมด่างทับทิมกับน้ำเพื่อใช้ทำความสะอาด กรรไกร และบริเวณที่จะทำการผ่าตัด และนำหัวออกซิเจนออกจากถุง แล้วนำปลามาวางบนผ้าในกะละมัง จากนั้นทำการตัดเอาเหงือกส่วนที่ปัญหาออกอย่างรวดเร็ว ในการตัดเหงือกนั้นให้ตัดเฉพาะส่วนที่อ่อนออกเท่านั้น อย่างตัดถูกตรงส่วนของเหงือกที่แข็ง โดยให้เหลือเหงือกส่วนที่อ่อนไว้ 1-2 มิลลิเมตร จะทำให้เหงือก ปลามังกร เร็วขึ้นและสวยได้รูป

          7. เมื่อตัดเหงือกเสร็จแล้ว ให้ใช้น้ำด่างทับทิมทำความสะอาดแผลบริเวณที่ผ่าตัด แล้วทายาทิงเจอร์ไอโซดีนที่แผลอีกครั้ง แต่อย่าให้เข้าไปภายในเหงือกปลา ทั้งนี้หาก ปลามังกร รู้สึกตัวเร็วก็ให้นำปลาลงไปใส่ในถุงที่มียาสสบเจือจางอยู่โดยเร็ว

          8. เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้ยกกะละมังที่บรรจุ ปลามังกร ขึ้นไปไว้เหนือตู้ แล้วค่อยๆ จับปลาปล่อยลงน้ำ ซึ่งเราควรช่วยจับประคองตัวปลาไว้ใกล้ๆ กับหัวออกซิเจน หรือพาวเวอร์เฮด จะทำให้ ปลามังกร ฟื้นตัวเร็วขึ้น

          9. งดอาหารปลา และเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20% ทุก 2-3 วัน ใส่เกลือ 0.3% และยาเตตร้าไซคลิน 250 มิลลิกรัม / น้ำ 25 ลิตร ทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำ หลังจากทำเช่นนี้ประมาณ 2 อาทิตย์ ก็หยุดการใช้ยา และให้อาหารตามปกติได้

          เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยในการจัดการกับ ปลาอะโรวาน่า หรือ ปลามังกร เหงือกอ้า ให้กลับมามีเหงือกที่สวยดังเดิม





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อ ปลามังกร หมดท่า เหงือกอ้า..จะแก้ไขอย่างไร อัปเดตล่าสุด 24 สิงหาคม 2552 เวลา 00:10:31 23,044 อ่าน
TOP
x close