รู้จัก ปลาหมอคางดำ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ในแหล่งน้ำไทย

ทำความรู้จัก ปลาหมอคางดำ มาจากไหน กินได้ไหม มีผลกระทบอะไรบ้าง ไว้หาทางป้องกันก่อนระบบนิเวศโดนทำลาย

Blackchin Tilapia

กลายเป็นปัญหาในหลายจุดสำหรับ ปลาหมอคางดำ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในหลายพื้นที่ รวมถึงสัตว์น้ำพื้นถิ่นหลายชนิด วันนี้ไปทำความรู้จัก ปลาหมอคางดำ ทั้งที่มา ลักษณะ และทางออกช่วยกำจัดปลาหมอคางดำ

ปลาหมอคางดํา มาจากไหน

ปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron มีถิ่นกำเนิดจากประเทศแอฟริกา ส่วนมากจะพบตามแนวชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น ไนจีเรีย เซเนกัล แคเมอรูน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์น้ำนำเข้าในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยพบว่ามีการนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553

ปลาหมอคางดํา ลักษณะ

ปลาหมอคางดำ ลักษณะ

ปลาหมอคางดํา สามารถอาศัยได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ตั้งแต่ 0-45 ppt มีลักษณะคล้ายปลานิลและปลาหมอเทศ แต่มีขนาดเล็กกว่า ช่วงเป็นลูกปลาจะมีขนาดเพียง 1.5-2.5 เซนติเมตร และแยกเพศได้ยาก แต่เมื่อโตเต็มวัยจะเห็นแถบสีดำบริเวณใต้คางได้อย่างชัดเจน อีกทั้งอาจจะมีลำตัวยาวได้ถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่า  

นอกจากนี้ปลาหมอคางดำตัวผู้จะมีสีดำบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าตัวเมีย และตัวเมียสามารถวางไข่ประมาณ 150-300 ฟอง ใช้เวลาในการฟักประมาณ 4-6 วัน โดยพ่อปลาจะดูแลลูกปลาด้วยการอมไว้ในปากประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทำให้มีโอกาสรอดตายสูง และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว 

อีกทั้งปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น แพลงก์ตอน ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังมีความต้องการกินอยู่ตลอดเวลาและมีนิสัยดุร้าย หากเกิดการระบาดก็จะส่งผลกระทบทั้งระบบนิเวศและเหล่าเกษตรกร

ปลาหมอคางดํา กินได้ไหม

ปลาหมอคางดำ เมนู

ปลาหมอคางดำ สามารถนำมากินได้ เมนูที่นิยมนำปลาหมอคางดำไปทำอาหาร ได้แก่ ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว น้ำปลา น้ำปลาร้า รวมถึงยังนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารสัตว์และปลาเหยื่อสำหรับเลี้ยงปลาเนื้อได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเมนูจากปลาหมอคางดำที่กรมประมงได้นำมาแนะนำพร้อมวิธีทำให้ด้วย เช่น สาคูไส้ปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำบดชุบเกล็ดขนมปัง ข้าวเกรียบปลาหมอคางดำ น้ำยาขนมจีนปลาหมอคางดำ ฯลฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ เมนูจากปลาหมอคางดำ

เจอปลาหมอคางดํา ทำอย่างไร

เจอปลาหมอคางดํา ทำอย่างไร

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก กรมประมง

หากเจอปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำให้แจ้งไปยังกรมประมงผ่าน QR Code (ด้านบน) พร้อมกรอกรายละเอียดส่วนตัวและระบุพิกัดแหล่งที่พบ 

จับปลาหมอคางดำ เพื่อกำจัดออกจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและแหล่งน้ำ ด้วยเครื่องมือประมง เช่น การวางข่าย การใช้แห เครื่องมืออวนรุน (ในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักและได้รับการผ่อนผัน อนุญาตให้ใช้เครื่องมือ) 

นำปลาหมอคางที่จับได้มาใช้ประโยชน์ เช่น ทำน้ำหมักเป็นปุ๋ย สับเป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปทำอาหาร

ปลาหมอคางดำ ปลาที่ควรระวัง หากเจอการระบาดในแหล่งน้ำควรแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และช่วยกันกำจัดปลาหมอคางดำ ก่อนระบบนิเวศจะถูกทำลายเพราะปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก ปลาหมอคางดำ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ในแหล่งน้ำไทย อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 13:50:32 21,655 อ่าน
TOP
x close