x close

แมวท้องกี่เดือน สังเกตยังไง ดูแลอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

แมวท้องดูยังไง ออกลูกกี่ตัว ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ตามไปดูวิธีดูแลแม่แมวตั้งแต่ช่วงตั้งท้องถึงหลังคลอดกันเลย  

แมวท้อง

เพราะแมวท้องต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องคอยประคับประคองเจ้าเหมียวตัวเล็กไปด้วย สำหรับเจ้าของที่เพิ่งมีแมวท้องเป็นครั้งแรก หรือกำลังสงสัยว่าแมวของเราแค่อ้วน ท้องลม หรือแมวท้องจริง ๆ กันแน่ ตามไปดูวิธีสังเกตแมวท้องพร้อมการดูแลไว้ต้อนรับสมาชิกใหม่กันเลย 

สัญญาณแมวเป็นสัด

แมวเริ่มเป็นสัด (Proestrus-estrus) ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 6-10 เดือน หรือมีโอกาสเป็นได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือน ความถี่การติดสัดขึ้นอยู่กับฤดูกาล (Seasonally Polyestrous) ในแต่ละปีมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อย แต่ละรอบกินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในช่วงนี้แมวจะกระสับกระส่าย อยากอาหารน้อยลง ร้องหง่าวเสียงดัง คลอเคลียกับเจ้าของมากกว่าปกติ เช่น ใช้หัวถูบ่อยครั้ง ทำท่าหมอบกระดกก้นขึ้น และแกว่งหางไป-มา การลูบหรือเกาคางจะช่วยให้แมวรู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้ หากไม่มีการตั้งท้องก็จะเข้าสู่ระยะพักตัวก่อนจะเข้าสู่ฤดูเป็นสัดอีกครั้ง 

ทั้งนี้ หากต้องการคุมกำเนิด สามารถพาแมวไปทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป หลังจากที่ระบบสืบพันธุ์พัฒนาเต็มที่หรือได้รับวัคซีนครบแล้ว รวมถึงลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในการวางยาสลบ แต่เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนผ่าตัด 

แมวท้องดูยังไง

แมวท้องดูยังไง

หากแมวมีการผสมพันธุ์ในระยะไข่ตก และมีการตั้งท้อง ก็จะใช้เวลาประมาณ 65-72 วัน ออกลูกได้ 2-8 ตัวต่อครั้ง สังเกตได้จากท้องแมวขยายใหญ่กว่าปกติ นมตั้งเต้าหรือหัวนมขยายมีสีเข้มขึ้น กินเยอะกว่าปกติ หลังโก่งโค้ง รวมถึงช่วงคอและขามีขนาดใหญ่ขึ้น มีอาการง่วงนอนและหลับบ่อย จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดหลังจากแมวท้อง 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป โดยสามารถตรวจหาด้วยวิธีอัลตราซาวด์ได้ตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป และช่วงใกล้คลอดแมวจะหามุมหลบเพื่อสร้างรัง 

ส่วนแมวท้องลมหรือท้องเทียม อาการกับพฤติกรรมอาจจะดูคล้ายกับแมวท้อง ซึ่งเกิดจากมีฮอร์โมนโปรเจสเตอนโรนสูง ทำให้มีการตกไข่แต่ไม่ได้ท้อง ต่างกันที่เต้านมของแมวท้องลมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ควรพาไปตรวจร่างกายเพื่อความปลอดภัยจะดีกว่า 

วิธีดูแลแมวท้อง

วิธีดูแลแมวท้อง

ควรให้อาหารสำหรับแมวท้องโดยเฉพาะ เพราะจะให้สารอาหารและพลังงานในปริมาณที่เหมาะสม โดยนำไปผสมกับอาหารเก่า เช่น เริ่มจากอาหารเก่า 75% ต่ออาหารใหม่ 25% แล้วหลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหารใหม่แล้วลดปริมาณอาหารเก่าลง เพื่อให้แมวท้องปรับตัวและลดอาการระคายเคือง ซึ่งหากแมวท้องได้รับอาหารหลักเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริม เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้แมวท้องจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 40% และน้ำหนักจะกลับมาเท่าเดิมหลังจากคลอดลูกแล้วประมาณ 1 เดือน 

ทั้งนี้ ในช่วงใกล้คลอดแม่แมวอาจจะกินน้อยลง แต่เพื่อให้แม่แมวได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอ อาจจะเพิ่มความถี่ในการให้อาหาร แต่ปรับปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลงแทนก็ได้ 

ในระหว่างนี้แม่แมวอาจจะเข้ามาคลอเคลียกับเจ้าของมากขึ้น สามารถลูบตัวเพื่อให้แม่แมวผ่อนคลายได้ แต่หลีกเลี่ยงบริเวณท้อง พร้อมกับหามุมสงบไม่พลุกพล่าน ไม่วุ่นวาย และไม่เสียงดัง ให้แม่แมวได้พักผ่อน เพื่อลดสิ่งเร้าที่อาจทำให้แม่แมวรู้สึกเครียด 

นอกจากนี้ก่อนคลอดเจ้าของควรเตรียมน้ำ อาหาร และอุปกรณ์อื่น ๆ เอาไว้ให้พร้อม เช่น แอลกอฮอล์ ทิชชูเปียก ผ้าขนหนู สำหรับดูแลแม่แมวช่วงคลอดลูก 

อาการแมวใกล้คลอด

อาการแมวใกล้คลอด

เมื่อแมวใกล้คลอดจะมีอาการกระสับกระส่าย กินอาหารน้อยลง เริ่มมองหาที่คลอด ส่งเสียงร้องและเลียขนตัวเองบ่อย และมีน้ำคร่ำไหลออกมา ซึ่งปกติจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ใช้เวลาในการคลอดลูก 10-30 นาทีต่อตัว 

ดังนั้น หากก่อนคลอด ของเหลวที่ไหลออกมามีกลิ่นเหม็น ลักษณะข้น เป็นสีดำหรือเป็นเลือด และใช้เวลาในการคลอดนานผิดปกติ ควรพาไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด 

วิธีดูแลแม่แมวหลังคลอด

แม่แมวดูแลลูกแมว

ระหว่างแมวคลอด เจ้าของควรช่วยดูแลอยู่ห่าง ๆ เพราะหากเข้าไปยุ่งมากเกินไปอาจทำให้แม่แมวรู้สึกไม่ปลอดภัยและทำร้ายลูกตัวเองได้ เมื่อลูกแมวคลอดออกมา แม่แมวจะกัดรกและสายสะดือให้ลูกเอง หากแม่แมวไม่ยอมทำ เจ้าของสามารถเข้าไปช่วยในจุดนี้ได้  

หลังคลอดเสร็จลูกแมวจะเดินไปดูดนมเอง และแม่แมวจะทำความสะอาดตัวให้ลูกเพื่อกระตุ้นระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ช่วงนี้ควรให้ลูกแมวกินนมแม่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ 12-24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ลูกแมวก็จะเริ่มหย่านม 

คราวนี้ก็ได้รู้วิธีดูแมวท้องกันแล้ว ลองนำไปสังเกตแมวที่บ้านกันนะคะ หากจะให้ปลอดภัยก็อย่าลืมพาแม่แมวไปตรวจเช็กร่างกายและทำตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ด้วยนะคะ เพราะแมวแต่ละตัวมีสภาพร่างกายและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน เพื่อความความปลอดภัยของเจ้าเหมียว

ขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai7pet, purina.co.th, Royal Canin และ vcharkarn.com 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แมวท้องกี่เดือน สังเกตยังไง ดูแลอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก อัปเดตล่าสุด 11 มิถุนายน 2567 เวลา 13:45:35 11,522 อ่าน
TOP