แมวอ้วน ความน่ารักที่แฝงมากับอันตราย ป้องกันไว้ก่อนเป็นโรค

แมวอ้วน หนึ่งในปัญหาสุขภาพของเจ้าเหมียวที่ทาสไม่ควรมองข้าม ที่แม้จะดูน่ารักน่ากอด แต่ก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน

 แมวอ้วน

หากพูดถึงแมวอ้วน ทาสแมวหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าน่ารัก ด้วยรูปร่างที่ดูอ้วนกลมปุ๊กลุก น่าหมั่นเขี้ยว เห็นแล้วอยากเข้าไปกอดไปเล่นด้วย แต่ถ้าจะให้ว่ากันในเรื่องของสุขภาพของเจ้าเหมียวแล้ว นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีเสมอไปก็ได้ เพราะแมวที่อ้วนนั้นอาจเป็นโรคอ้วน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เจ้าของก็ไม่ควรข้ามเลยล่ะ โดยในวันนี้เราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้แมวอ้วนรวมทั้งวิธีแก้ปัญหากัน

แมวอ้วน ดูยังไง ?

แมวอ้วน ดูยังไง

หากแมวมีน้ำหนักมากกว่าค่าปกติ 10-20% จะถือว่าเป็นแมวที่มีน้ำหนักเกิน แต่ถ้าหากมีไขมันส่วนเกินมากเกินกว่า 20% จะถือว่าเป็นโรคอ้วนหรือเรียนกกันว่าแมวอ้วนนั่นเอง

เกณฑ์น้ำหนักแมว 

  • ผอมเกินไป : น้ำหนักน้อยกว่า 2.5-3 กิโลกรัม

  • น้ำหนักน้อย : น้ำหนักน้อยกว่า 4 กิโลกรัม

  • สมส่วน : น้ำหนักประมาณ 4-4.5 กิโลกรัม

  • น้ำหนักเกิน : น้ำหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม

  • โรคอ้วน : น้ำหนักมากกว่า 6-6.5 กิโลกรัม

การมีน้ำหนักเกินก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ต่อตัวน้องแมว ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคข้ออักเสบ โดยแมววัย 8-12 ปี ที่ทำหมันแล้ว และเลี้ยงแบบให้อยู่แต่ในบ้าน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้มากกว่า การควบคุมปริมาณอาหารจึงมีความสำคัญต่อการควบคุมน้ำหนักของแมว

แมวอ้วน เกิดจากอะไร ?

สาเหตุของโรคอ้วนในแมวสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ปัจจัยจากตัวสัตว์และปัจจัยด้านโภชนาการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปัจจัยจากตัวแมว

แมวอ้วนนอน

  • อายุ : แมวอายุ 8-12 ปี จะมีความเสี่ยงโรคอ้วนมากกว่าลูกแมวและแมวสูงอายุ

  • การทำหมัน : แมวที่ทำหมันแล้วจะมีความอยากอาหารมากกว่าตัวที่ยังไม่ได้ทำหมัน

  • สภาพแวดล้อม : แมวที่เลี้ยงให้อยู่แต่ในบ้านหรือมีปัญหาสุขภาพมักไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้พลังงานไม่ค่อยถูกเผาผลาญ

  • สุขภาพ : แมวที่แพ้อาหารจะทำให้การเลือกอาหารที่เหมาะสมเพื่อควบคุมน้ำหนักทำได้ยากขึ้น

ปัจจัยด้านสุขภาพ

หากน้องแมวมีน้ำหนักมากขึ้นแต่กลับไม่ค่อยอยากอาหาร นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าแมวกำลังป่วย เช่น เป็นโรคไฮโปไทรอยด์กับโรคคุชชิง

โรคไฮโปไทรอยด์

โรคไฮโปไทรอยด์ เกิดการต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินไป สามารถสังเกตได้จากอาการ ดังนี้

  • อ่อนเพลีย

  • ความอยากอาหารลดลง

  • สุขภาพขนแย่ลง

  • ท้องผูก

โรคคุชชิง

โรคคุชชิงเกิดจากต่อมใต้สมองผลิตคอร์ติซอลมากเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • กระหายน้ำ

  • ปัสสาวะมากขึ้น

  • ท้องอืด

  • สุขภาพขนแย่ลง

  • อ่อนเพลีย

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ปัจจัยด้านอาหาร

แมวอ้วนอาหาร

  • ปริมาณอาหาร : การไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยตวงอาหาร อาจทำเกิดปัญหาให้อาหารแมวปริมาณมากเกินไปได้
  • การให้อาหาร : การให้อาหารเพิ่มเมื่อแมวกินอาหารหมดเร็วแล้วร้องขออาหารเพิ่มอีก
  • จำนวนมื้ออาหาร : การให้อาหารปริมาณมากวันละ 1-2 มื้อ มีโอกาสที่แมวจะขออาหารเพิ่มมากกว่าการแบ่งให้หลาย ๆ มื้อ
  • ขนม : การให้ขนมที่มากเกินไป เพราะขนมมักมีพลังงานและไขมันที่สูงกว่าอาหารมื้อปกติ

แมวอ้วน ลดน้ำหนักยังไงดี

แมวอ้วน ชั่งน้ำหนัก

1. ปรึกษาสัตวแพทย์

ควรพาน้องแมวไปปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน เพื่อให้ช่วยจัดทำแผนการลดน้ำหนักสำหรับแมวแบบค่อยเป็นค่อยไปและดีต่อสุขภาพ โดยไม่จำกัดการบริโภคอาหารหนักเกินไป เพราะการจำกัดอาหารของแมวมาก ๆ และการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วอาจทำให้น้องเกิดอาการป่วยและเกิดโรคร้ายแรงอย่างเช่นโรคไขมันพอกตับได้

2. ปรับอาหารให้เหมาะสม

เลือกให้อาหารที่ทำให้แมวรู้สึกอิ่มไว ให้พลังงานต่ำ เช่น อาหารที่กากใย มีกรดไขมันที่สำคัญ เช่น โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 คาร์โบไฮเดรตต่ำ และที่สำคัญคือ มีโปรตีนสูง เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อไก่ เนื้อปลา เป็นหลัก 

3. เพิ่มกิจกรรมระหว่างวัน

แมวบางตัวสามารถนอนได้สูงสุดถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นลองหาของเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้แมวทำเพิ่มเติมในระหว่างวัน เพื่อเป็นการออกกำลังกายและช่วยในการเผาผลาญพลังงานไปในตัว 

4. ฝึกกินอาหารเป็นมื้อ 

โดยใช้เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ เพื่อฝึกให้แมวคุ้นชิ้นกับการกินอาหารเป็นเวลา หรือให้อาหารหรือขนมที่ต้องมีการเล่นเกมก่อน เผื่อให้แมวชะลอความเร็วในการกินอาหารและได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย

วิธีป้องกันแมวอ้วน

แมวอ้วน ออกกำลังกาย

การป้องกันโรคอ้วนเป็นนั้นสิ่งสำคัญที่เจ้าของแมวควรทำตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าหากปล่อยหให้น้องแมวเป็นโรคอ้วน การควบคุมน้ำหนักจะทำได้ยากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการทำความเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงและปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อจัดแผนการควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสมกับแมวที่กำลังเลี้ยงอยู่ รวมทั้งให้แมวได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้แมวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในขณะที่ทำตามแผนควบคุมน้ำหนักจากคำแนะนำของสัตว์แพทย์ เจ้าของก็ควรมีเครื่องชั่งติดบ้านไว้และหมั่นเช็กดูน้ำหนักของแมวอย่างต่อเนื่องด้วย ว่าน้องยังมีน้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก : petmd.com, whiskas.co.th, theanimaldoctors.org และ petcheckurgentcare.com 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แมวอ้วน ความน่ารักที่แฝงมากับอันตราย ป้องกันไว้ก่อนเป็นโรค อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2567 เวลา 16:59:23 32,915 อ่าน
TOP
x close