วิธีปล่อยปลาให้ถูกต้อง ทำบุญยังไงให้ได้บุญ ไม่ทำลายระบบนิเวศ

วิธีปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์ เรื่องควรรู้ก่อนทำบุญปล่อยปลา ไปดูกันว่าปลาแต่ละสายพันธุ์เหมาะกับพื้นที่แบบใด จะได้นำไปปล่อยให้ถูกต้อง และไม่กระทบกับระบบนิเวศ

วิธีปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์

หากพูดถึงการทำบุญแล้ว การทําบุญปล่อยปลาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนนิยมทำกัน โดยเฉพาะในช่วงขึ้นปีใหม่ แต่ถ้าหากไม่รู้วิธีการปล่อยปลาที่ถูกต้องก็อาจส่งผลเสียต่อตัวปลาไปจนถึงระบบนิเวศในแหล่งน้ำก็ได้ วันนี้เราจึงจะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีปล่อยปลา ว่าจะทำบุญยังไงไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศ ถ้าอยากรู้แล้วก็ตามไปอ่านกันเลย

วิธีปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์

เลือกปลาให้เหมาะกับแหล่งน้ำ

ควรเลือกปลาพื้นถิ่นหรือปลาที่เหมาะกับแหล่งน้ำนั้น ๆ นอกจากนี้ปลาควรมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีแผลตามตัว ไม่เป็นพาหะหรือเป็นโรคที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาด ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของปลาที่นำไปปล่อย และรักษาสมดุลของระบบนิเวศไปพร้อมกัน 

ปล่อยในเวลาที่เหมาะสม

เวลาในการปล่อยสัตว์น้ำควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด ก่อนปล่อยควรนำน้ำจากแหล่งน้ำที่จะปล่อยปลามาผสมกับน้ำเดิมที่ปลาอยู่ก่อน เพื่อให้ปลาได้ปรับตัว จากนั้นก็ค่อย ๆ ปล่อยปลาลงไปในแหล่งน้ำ  

ความหนาแน่นของสัตว์น้ำ

นอกจากนี้ควรคํานึงถึงปริมาณความหนาแน่นของสัตว์น้ำในแหล่งน้ำนั้น ๆ ซึ่งถ้าหากแหล่งน้ำนั้นมีสัตว์น้ำจำนวนมากก็ไม่ควรปล่อยลงไปเพิ่ม เพราะจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ เกิดของเสียสะสม และอาจทำให้สัตว์น้ำตายเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะในแหล่งน้ำปิดที่ไม่มีทางเชื่อมต่อ

ปลาที่ไม่ควรนำไปปล่อย

วิธีปล่อยปลาสะเดาะเคราะห์

สัตว์น้ำที่ไม่ควรนำไปปล่อย ได้แก่ กลุ่มกินเนื้อเป็นอาหาร เช่น ปลาชะโด และสัตว์น้ำต่างถิ่น เช่น ปลาหมอมายัน ปลาซัคเกอร์ เต่าแก้มแดง กุ้งเครย์ฟิช ฯลฯ เพราะหากนำไปปล่อยโดยไม่มีการควบคุมก็จะทำให้เกิดการรุกราน เช่น เกิดการแย่งอาหาร โดนสัตว์ต่างถิ่นกินไข่หรือตัวอ่อน อาจทำให้เกิดโรคจากสัตว์ที่เป็นพาหะ นอกจากจะทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำนั้น ๆ แล้ว ยังส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำพื้นถิ่นหรือสัตว์น้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติค่อย ๆ ลดน้อยลงไปด้วย

ปลาที่นิยมปล่อยลงแม่น้ำ

1. ปลาสวาย

ปลาสวาย

ปลาสวาย (Striped Catfish) มีลักษณะลำตัวยาว สีนวลขาว หลังมีสีเข้ม ครีบมีสีเหลืองอ่อน หน้าทู่ ปากกว้าง มีหนวด 2 คู่ ส่วนหัวจะลาดไปถึงบริเวณปาก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่และใช้พื้นที่กว้างในการอยู่อาศัย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใกล้พรรณไม้น้ำ 

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ : แม่น้ำ ลำคลอง ที่ระดับน้ำมีความลึกและกระแสน้ำไหลแรง 

2. ปลาตะเพียน

ปลาตะเพียน

ปลาตะเพียน (Common Silver Barb) มีลักษณะลำตัวอ้วนป้อม สีเขียวอมฟ้า ท้องขาว ด้านหลังมีสีน้ำตาลอมเทา หัวเล็ก เกล็ดใหญ่ ปากเล็ก มีก้านครีบอ่อนของครีบก้นอยู่ 5-6 ก้าน ว่ายน้ำได้รวดเร็ว กระโดดได้สูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี และชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง 

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ : แม่น้ำ ลำคลอง ที่ระดับน้ำมีความลึกและกว้าง

3. ปลากราย

ปลากราย

ปลากราย (Spotted Featherback) ลำตัวและท้องแบน สันหลังสูงแล้วค่อย ๆ ลาดลงไปทางหาง ลำตัวมีสีเทาเงิน เกล็ดละเอียด หัวเล็ก ปากสั้นทู่ เมื่อเป็นลูกปลาจะมีแถบสีดำพาดขวางลำตัว แล้วค่อย ๆ กลายเป็นจุดดำอยู่บริเวณท้องไปจนถึงหางแทน ชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ไม่ชอบแสงสว่าง ออกหากินตอนกลางคืน และมักซ่อนอยู่ตามซอกหินหรือตอไม้

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ แม่น้ำ ลำคลอง เลือกขนาด 4-5 นิ้วขึ้นไป แบ่งปล่อยให้กระจายตามจุดต่าง ๆ

4. ปลาช่อน

ปลาช่อน

ปลาช่อน (Striped Snakehead Fish) มีหัวโต ลำตัวอ้วนกลมยาวเรียวเป็นทรงกระบอก มีเกล็ดขนาดใหญ่ สีน้ำตาลอ่อนหรือสีคล้ำอมมะกอก และมีลายทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว มีตั้งแต่ขนาด 30-40 เซนติเมตร ไปจนถึง 1 เมตร ชอบอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ ตามริมตลิ่งชายคลองที่มีพืชน้ำขึ้น ไม่ควรปล่อยจำนวนมากเนื่องจากกินเนื้อเป็นอาหาร

5. ปลาไหล

ปลาไหล

ปลาไหล (Swamp Eel) ลักษณะลำตัวคล้ายงู ไม่มีครีบ ไม่มีเกล็ด มีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเหลือง ลำตัวมีสีเข้มกว่าส่วนท้อง ไม่มีก้าง แต่มีกระดูกสันหลัง เมื่อโตเต็มที่จะมีตั้งแต่ขนาด 0.5-1 เมตร และกินเนื้อเป็นอาหารหลัก

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะและกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก

6. ปลาดุกอุย หรือปลาดุกนา

ปลาดุกอุยหรือปลาดุกนา

ปลาดุกอุย หรือปลาดุกนา (Clarias Macrocephalus) ปลาพื้นบ้านของไทย ลำตัวทู่ ไม่มีเกล็ด สีค่อนข้างเหลืองและมีจุดประตามตัว ที่หัวมีหนวด 4 เส้น 

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง

7. ปลาบู่ทราย

ปลาบู่ทราย

 ปลาบู่ทราย (Sand Goby, Marbled Sleeper) ลำตัวค่อนข้างกลม ตัวสีดำ มีลายสีน้ำตาลพาดไขว้ด้านข้างลำตัว ขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ บริเวณที่เป็นกองหิน ขอนไม้ หรือไม้ชายน้ำ ควรปล่อยตัวที่มีขนาดโตหน่อย

8. ปลาหมอไทย

ปลาหมอไทย

ปลาหมอไทย (Climbing Perch, Walking Fish) ลักษณะลําตัวป้อมแบน เกล็ดแข็ง มีสีน้ำตาลเหลืองปนดําและแถบ 7-8 แถบ มีจุดสีดำที่โคนหาง หัวเล็กสั้นและลาดลง อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไปทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล

แหล่งน้ำที่ปล่อยได้ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำใหญ่

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้ไว้ก่อนจะทำบุญด้วยการปล่อยปลา เพื่อที่จะได้ทำบุญกันอย่างสุขใจและไม่สร้างผลเสียต่อระบบนิเวศกันนะคะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีปล่อยปลาให้ถูกต้อง ทำบุญยังไงให้ได้บุญ ไม่ทำลายระบบนิเวศ อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2566 เวลา 16:35:26 27,246 อ่าน
TOP
x close