x close

วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์ ทำยังไงถ้าเจ้าของติดโควิด 19

วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์ ต้องเตรียมอะไรบ้าง หากหมา- แมวป่วยกะทันหันจะทำอย่างไร พร้อมวิธีดูแลสัตว์เลี้ยง หากเจ้าของอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือติดเชื้อ โควิด 19 ไว้เตรียมรับมือและป้องกันล่วงหน้า 

วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์

เนื่องจากในปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 สูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีประกาศล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ขอนำข้อมูลเตรียมความพร้อมสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงมาฝาก ว่ามีของจำเป็นอะไรบ้างที่ควรมี และจะเตรียมตัวอย่างไรหากสัตว์เลี้ยงป่วยกะทันหัน จำเป็นต้องพาไปโรงพยาบาล รวมถึงการรับมือหากเจ้าของติด COVID-19 เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังสัตว์เลี้ยง และลดความกังวลหากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 

วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์
  • เช็กอาหารให้พร้อม โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่มีโรคประจำตัวและต้องกินอาหารเฉพาะอย่าง 
  • เช็กของใช้จำเป็น เช่น ทรายแมว แชมพูอาบน้ำ แพมเพิร์ส โอบิ แผ่นรองซับขับถ่าย 
  • เช็กยา กรณีสัตว์มีโรคประจำตัว โดยปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อขอรับยาต่อเนื่อง จะได้ไม่ขาดการรักษา 
  • เตรียมเบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกใกล้บ้าน ไว้ติดต่อในกรณีสัตว์ป่วยฉุกเฉิน พร้อมเช็กเวลาเปิด-ปิดให้เรียบร้อย เพราะบางแห่งอาจมีการปรับเวลาให้บริการ 
  • หากสัตว์เลี้ยงป่วย ควรโทร. แจ้งนัดคิวกับโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกใกล้บ้านล่วงหน้า เพื่อลดความหนาแน่นในเวลาที่เข้ารับบริการ 
  • เมื่อถึงวันนัด หากไม่สะดวกเดินทาง ควรโทร. ปรึกษากับสถานพยาบาลว่าขอเลื่อนนัดหรือขอรับยามาให้แทนได้หรือไม่ เช่น การฉีดวัคซีนประจำปี ยาป้องกันเห็บ-หมัด ยาถ่ายพยาธิ 
  • หากไม่สะดวกพาสัตว์เลี้ยงไปสถานพยาบาล ใช้บริการจาก Pet Taxi หรือรถรับ-ส่งจากโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิก
  • เมื่อจำเป็นต้องพาสัตว์เลี้ยงไปรับการรักษา ควรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อของสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด 
  • ช่วงกลางคืน หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยหรือฉุกเฉิน สามารถพาไปรักษาโรงพยาบาลสัตว์ที่เปิด 24 ชั่วโมงได้ เพราะเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน ไม่ต้องรอถึงตอนเช้า แต่อย่างไรก็ตามควรโทร. เช็กข้อมูลกับสถานพยาบาลก่อนล่วงหน้า
วิธีดูแลสัตว์เลี้ยง เมื่อเจ้าของติดเชื้อโควิด 19 
วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์

1. เจ้าของสัตว์เลี้ยงอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและต้องกักตัว 14 วัน

  • เจ้าของสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้ตามปกติ แต่อย่าเพิ่งกอดหรือพาไปนอนด้วย 
  • ให้คนในครอบครัวรับสัตว์เลี้ยงไปดูแลแทน และควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย รวมถึงล้างมือหลังการสัมผัสทุกครั้ง 
  • หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยไม่รุนแรง ให้โทร. ขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ แต่หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยรุนแรง ให้แจ้งคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ และให้เพื่อนหรือญาติพาไปรับการรักษา

2. เจ้าของสัตว์เลี้ยงติดเชื้อโควิด 19 แต่มีสมาชิกในบ้านไม่ติดเชื้อ

  • เจ้าของไม่ควรสัมผัสสัตว์เลี้ยง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังสัตว์เลี้ยง
  • ห้ามนำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์มามาอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง แต่ให้ใช้แชมพูอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงตามปกติ
  • ให้คนในครอบครัวดูแลสัตว์เลี้ยงแทน แต่อย่าเพิ่งกอดหรือพาสัตว์เลี้ยงไปนอนด้วย และไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงเลียมือ 
  • หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยไม่รุนแรง ให้โทร. ขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ แต่หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยรุนแรง ให้แจ้งคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ และให้เพื่อนหรือญาติพาไปรับการรักษา

3. เจ้าของสัตว์เลี้ยงติดเชื้อโควิด 19 และอยู่คนเดียว

  • ไม่ควรสัมผัสสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่สัตว์เลี้ยง
  • ให้ญาติหรือเพื่อนช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงแทน หากเจ้าของจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายสถานที่ของสัตว์เลี้ยง โดยใส่ถุงมือและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
  • หากไม่สามารถหาคนดูแลแทนได้ ให้ติดต่อคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่พร้อมรับฝากสัตว์เลี้ยง 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข สามารถแพร่เชื้อโควิด 19 สู่คนได้ ควรทำตามข้อแนะนำและไม่ควรทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง

วิธีปฏิบัติเมื่อต้องพาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาล 
วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์

  • โทร. ปรึกษาและรับคำแนะนำเบื้องต้นในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกใกล้บ้าน
  • นัดหมายช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้ารับการรักษา 
  • เลือกช่วงเวลาในการพาสัตว์ป่วยไปโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกใกล้บ้าน ในเวลาที่มีผู้มารับบริการไม่มากเกินไป เพื่อลดความแออัด 
  • เข้ารับการรักษาที่จำเป็นตามที่สัตวแพทย์แนะนำ 
  • ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในการคัดกรองโรค เช่น การวัดอุณหภูมิร่างกาย การล้างมือก่อนเข้ารับบริการ 
  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่พาสัตว์เลี้ยงไปรับการรักษา 
  • เว้นระยะห่างกับผู้อื่นขณะรอรับบริการ 
  • ใช้หลัก 1:1 (เจ้าของ 1 คน ต่อสัตว์เลี้ยง 1 ตัว) เพื่อจำกัดคนพาสัตว์ป่วยไปให้น้อยที่สุด 

เจ้าของสัตว์เลี้ยงนอกจากเตรียมของใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ก็อย่าลืมเตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วยนะคะ โดยเฉพาะอาหารและยาของสัตว์ที่มีโรคประจำตัว และหากรู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด 19 แล้ว ก็ป้องกันตัวเองและสัตว์เลี้ยง ด้วยการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจาย 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์ ทำยังไงถ้าเจ้าของติดโควิด 19 อัปเดตล่าสุด 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 11:35:59 17,589 อ่าน
TOP