10 วิธีรับมือเมื่อสัตว์เลี้ยงตาย เคล็ดลับช่วยให้มูฟออนได้ง่ายและใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นกว่าเดิม พร้อมทริกช่วยผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นทำใจ หลังจากสูญเสียเพื่อนที่รักไป
ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว หนึ่งในปัญหาที่คนเลี้ยงสัตว์หรือคนมีสัตว์เลี้ยง ต้องพบก็คือ "การจากลา" ซึ่งแม้จะรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำใจ ยิ่งถ้าหากรักและผูกพันมาก ก็ยิ่งทำใจยอมรับได้ยาก บางคนถึงขนาดเศร้าหมองอยู่เป็นเดือน ๆ ก็มี ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอรวบรวมวิธีรับมือกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยงมาฝาก เผื่อจะช่วยให้ทุกคนทำใจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีเคล็ดลับช่วยผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นให้มูฟออนอีกด้วย
1. ยอมรับความรู้สึกตัวเอง
สิ่งแรกที่จะช่วยรับมือกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยง คือ การยอมรับความรู้สึกตัวเอง หลีกเลี่ยงการเก็บความรู้สึกไว้ เพราะจะยิ่งทำให้ระยะเวลาทำใจยืดเยื้อออกไปอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วการปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเสียใจ ร้องไห้ หรือระบายความรู้สึกออกไปบ้าง จะทำใจได้ง่ายกว่า แต่จะใช้เวลามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคน ที่มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ทั้งนี้ความรู้สึกเศร้าอาจจะวนกลับมาอีกครั้งหรือเป็นช่วง ๆ ได้ เช่น เวลาที่มีคนพูดถึง เห็นสัตว์เลี้ยงตัวอื่นตาย หรือวันครบรอบหรือวันพิเศษ
2. พูดคุยกับคนที่เข้าใจ
การพูดคุยกับคนที่เข้าใจถือเป็นวิธีที่ดีไม่น้อย โดยขั้นแรกให้ลองมองหาเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ตัว แล้วเล่าเรื่องราวที่ต้องเผชิญให้เขาฟังก่อน แต่ถ้าหากคนรอบตัวไม่เข้าใจ ก็ให้ลองมองหาคนอื่นที่เคยมีประสบการณ์เหมือนกัน เช่น กลุ่มสัตว์เลี้ยง เว็บบอร์ด หรือแม้กระทั่งสายด่วนปรึกษาปัญหาต่าง ๆ แทน เพราะจะได้ช่วยระบายความรู้สึก พร้อมทั้งได้รับกำลังใจและคำแนะนำดี ๆ มาพร้อม ๆ กัน
นอกเหนือจากนี้ หากใครรู้ตัวว่าความเศร้าติดค้างอยู่ในใจนานจนส่งผลกระทบต่อหลายด้าน ควรตัดสินใจเข้าพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยกันแก้ไข รักษา รับมือ และหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกจุด
3. จัดการกับความรู้สึกผิด
นอกจากอายุขัย โรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุแล้ว บางครั้งการสูญเสียสัตว์เลี้ยงก็มาจากการการุณยฆาต จึงอาจจะทำให้เจ้าของหลายคนรู้สึกผิดต่อพวกเขาได้ ดังนั้นขอแนะนำให้พยายามทำใจยอมรับและจัดการกับความรู้สึกให้เร็วที่สุด อย่าคิดว่าเป็นการฆ่าหรือเอาชีวิต แต่ให้คิดว่าเป็นการช่วยให้สัตว์เลี้ยงของเราไม่ต้องทรมานหรือเจ็บปวดในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแทน
4. เคลียร์ปัญหาคาใจ
หากใครมีปัญหาคาใจเกี่ยวกับการตายของแมว ควรสอบถามกับสัตวแพทย์เพื่อให้ได้รับคำตอบชัดเจน อย่าทนเก็บหรือทิ้งไว้นานหลายปี เพราะการมูฟออนโดยไม่มีข้อสงสัยใด ๆ จะทำใจได้ง่ายและเร็วกว่าการมีความสับสนอยู่ในใจนั่นเอง
5. ให้พิธีกรรมช่วยบำบัด
หลายคนรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อได้จัดงานศพหรือพิธีกรรมให้กับสัตว์เลี้ยงที่จากไป เพราะเหมือนเป็นการส่งเขาไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ได้กล่าวคำอำลาและขอบคุณ อีกทั้งงานเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของแสดงความเศร้าโศกเสียใจได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องปิดบัง ช่วยให้โล่งใจหรือเป็นการระบายได้พร้อมกัน ทั้งนี้อาจจะมีคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วย ให้พยายามอย่าไปสนใจและทำสิ่งที่สมควรก็พอ
6. สร้างความทรงจำ
การทำไอเทมที่ระลึกเพื่อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ปลูกต้นไม้ ทำหลุมฝังศพ เก็บกระดูกไว้ในบ้าน ทำอัลบั้มรูปพิเศษ เขียนไดอารี่ความทรงจำ และเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีและควรทำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ความทรงจำในหัวจับต้องได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการให้เกียรติสัตว์เลี้ยง เป็นการเก็บรวบรวมความสัมพันธ์ และเป็นการระบายความรู้สึกช่วยให้เปิดใจไปในตัว จนทำให้เรามูฟออนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
7. ช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่น
การสมัครเป็นอาสาสมัคร เช่น พาสุนัขเดิน เล่นกับแมว ทำความสะอาดที่อยู่ หรือบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่น จะในนามตัวของคุณเองหรือสัตว์เลี้ยงของคุณก็ตาม สามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีและมีความสุขได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้ทำใจรับมือได้ง่ายขึ้นด้วย
8. ดูแลตัวเอง
เมื่อสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่รักไป คนส่วนใหญ่มักจะเศร้าและเครียด จนทำให้ร่างกายทรุด สุขภาพแย่ อารมณ์ไม่ดี และไม่มีพลังงาน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรทำที่สุดเพื่อช่วยให้กลับมามีแรงกาย แรงใจได้อีกครั้งก็คือ การหันมาดูแลตัวเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น กินอาหารที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ พบปะพูดคุยกับคนใกล้ตัว และทำกิจกรรมคลายเครียดที่ชื่นชอบ เป็นต้น
9. มูฟออน
หลังจากเผชิญหน้ากับความเศร้าเสียใจมาสักระยะ ทำพิธีกรรมอย่างถูกต้อง และทำมุมที่ระลึกหรือของที่ระลึกให้กับสัตว์เลี้ยงเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายก็ต้องรู้จักยอมรับ เรียนรู้ และปล่อยวาง เพื่อปรับตัวให้เข้ากับชีวิตใหม่ที่ไม่มีพวกเขาให้ได้นั่นเอง
10. อย่ารีบร้อนรับสัตว์อื่นมาเลี้ยง
ไม่ว่าบ้านจะเงียบเหงาและว่างเปล่าสักแค่ไหน แต่ก่อนจะรับสัตว์ตัวใหม่มาเลี้ยง เราควรใช้เวลาผ่านความเศร้าและความเสียใจให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อป้องกันความสับสนหรือปัญหาที่อาจจะตามมา เช่น การไม่พอใจสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ หรือความรู้สึกผิดกับสัตว์ตัวเก่า
ทั้งนี้เมื่อเปิดใจพร้อมจะรับเลี้ยงสัตว์อีกครั้งแล้ว ขอแนะนำให้เลือกที่สายพันธุ์หรือลักษณะแตกต่างจากเดิม เพื่อช่วยป้องกันการเปรียบเทียบและให้ความยุติธรรมกับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่
สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การรับมือกับความสูญเสียเหล่านี้อาจจะใช้เวลามากกว่ากว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง ที่อาจจะรู้สึกว่างเปล่า เหงา และไร้จุดหมายได้ง่าย อีกทั้งการตายของสัตว์เลี้ยงอาจจะไปกระทบจิตใจเกี่ยวกับการตายของคนใกล้ตัวหรือของตัวเองในอนาคต ฉะนั้นหากคุณเป็นลูกหลาน ควรรีบเข้ามาดูแลและพูดคุยอย่างใกล้ชิด หรือหากเป็นตัวคุณเอง ควรติดต่อพูดคุยกับคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนฝูงหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นอกเหนือจากนี้ ผู้สูงอายุทั้งหลายยังควรต้องดูแลตัวเอง หมั่นออกไปเดินเล่นพบปะผู้คนเพื่อช่วยขจัดอารมณ์เศร้า ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มพลังงาน และลองมองหาความสุขใหม่ในชีวิต ไม่เช่นนั้นก็อาจจะพิจารณาถึงการรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาดูแล ทว่าต้องทบทวนให้รอบคอบเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่สัตว์เลี้ยงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้เลี้ยงนั่นเอง
วิธีรับมือสำหรับเด็ก
การจากไปของสัตว์เลี้ยง อาจจะเป็นประสบการณ์เศร้า ๆ หรือเกี่ยวกับความตายครั้งแรกของเด็ก ๆ ผู้ปกครองจึงต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก ควรสอนให้เขาเรียนรู้และยอมรับ แม้ว่าเหตุการณ์นี้อาจกระทบกระเทือนจิตใจพวกเขา จนทำให้เด็กบางคนโกรธพ่อแม่หรือหมอ บางคนกลัวการเลี้ยงสัตว์ตัวใหม่ บางคนกลัวการลาจากของคนรัก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องบอกความจริงกับพวกเขาไป เพราะการปกปิด เช่น บอกว่าสัตว์เลี้ยงหนีไปหรือออกไปข้างนอก อาจจะทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิม ทำให้พวกเขาคาดหวัง เฝ้ารอ และผิดหวัง อีกทั้งเวลาที่ได้รู้ความจริงจะช้ำใจมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำมากที่สุด คือ การทำตัวเป็นตัวอย่าง และการปล่อยให้เด็ก ๆ แสดงความรู้สึกในแบบของเขาเอง พูดหรือร้องไห้ได้ตามที่คิด ไม่ต้องอายหรือกังวลอะไร อาจจะมีกิจกรรมให้ทำ เช่น วาดรูปหรือปลูกต้นไม้ให้สัตว์เลี้ยงที่รัก รวมทั้งให้เด็กเข้าร่วมในพิธีกรรมหรืองานศพได้ และไม่จำเป็นต้องรีบหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาแทนที่ด้วย
สัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถเศร้าเสียใจกับการจากไปของเพื่อนได้เหมือนกัน หรือไม่เช่นนั้นเมื่อเขาเห็นอาการผิดปกติของเจ้าของ ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายใจจนซึมลงได้ ฉะนั้นเจ้าของจึงควรทำตัวให้เหมือนเดิม รักษากิจวัตรประจำวันให้ปกติ และทางที่ดีอาจจะเพิ่มเวลาพาไปออกกำลังกาย หรือเพิ่มเวลาเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวที่ยังอยู่ เพื่อช่วยให้ทั้งคนและสัตว์แฮปปี้ขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่สัตว์เลี้ยงยังดูเศร้าผิดปกติอยู่ ขอแนะนำให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตได้
ถึงแม้ว่าการทำใจยอมรับจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องมูฟออนและปรับตัวให้เร็วที่สุด และสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับเรื่องนี้อยู่ กระปุกดอทคอมก็ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก helpguide, humanesociety, vetstreet, healthline และ everydayhealth