เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ การบริจาคเลือดแมว ครบทั้งข้อมูล คุณสมบัติ ขั้นตอน ข้อควรรู้ และประโยชน์ ใครเคยสงสัยว่าวิธีบริจาคเลือดแมวเป็นอย่างไร ? ตามมาดูกันได้เลยค่ะ
รู้หรือไม่ว่านอกจากคนจะบริจาคเลือดได้แล้ว สัตว์เลี้ยงแสนรักอย่าง แมว ก็สามารถบริจาคเลือด เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่เกิดอุบัติเหตุได้เหมือนกัน ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงขออาสาพาทุกคนไปเจาะลึกข้อมูลการบริจาคเลือดแมว เจ้าเหมียวสี่ขาหน้าตาน่ารัก พร้อมทั้งไขข้อสงสัยว่าการบริจาคเลือดแมวกับการบริจาคเลือดหมาต่างกันอย่างไร วิธีเป็นแบบไหน ต้องมีคุณสมบัติอะไร และขั้นตอนเป็นยังไงบ้าง
การบริจาคเลือดแมวต่างจากการบริจาคเลือดสุนัขอย่างไร ?
แม้ว่าสุนัขและแมวจะบริจาคเลือดได้เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วการบริจาคเลือดแมวมีความซับซ้อนมากยิ่งกว่า เนื่องจากเม็ดเลือดแดงของแมวจะแตกในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เก็บรักษาไว้ใช้ได้ไม่นานเหมือนกับเลือดของสุนัข ฉะนั้นจึงไม่มีการเก็บสต็อกเลือดแมวเอาไว้ เมื่อแมวตัวไหนป่วยหนักจนถึงขั้นต้องการเลือด ก็จะใช้วิธีประกาศเพื่อขอรับบริจาคแทน และเมื่อได้ผู้ใจบุญเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการเก็บเลือดสดจากอีกตัวหนึ่งแล้วถ่ายต่อให้อีกตัวหนึ่งทันที แต่ทว่าไม่ใช่แมวทุกตัวที่สามารถถ่ายเลือดให้กันได้ เพราะจะต้องตรวจความเข้ากันของเลือดก่อน
ดังนั้นหลาย ๆ โรงพยาบาลจึงหาทางแก้ไขด้วยการจัดตั้ง "ธนาคารเลือด" สำหรับสัตว์เลี้ยงขึ้น เพื่อให้แมวที่ต้องการจะบริจาคเลือดมาลงชื่อและข้อมูลไว้ เมื่อมีแมวตัวไหนต้องการเลือด ก็สามารถติดต่อขอรับได้อย่างรวดเร็ว โดยตัวอย่างโรงพยาบาลที่มีโครงการธนาคารเลือด ได้แก่ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน, โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท, โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 และโรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์ เป็นต้น
แมวมีกรุ๊ปเลือดหรือไม่ ?
แมวมีทั้งหมด 3 กรุ๊ปเลือด ได้แก่ A ที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในแมวพันธุ์ไทย B ที่มักจะพบในแมวพันธุ์ต่างประเทศ และ AB ที่พบได้ค่อนข้างน้อย โดยการบริจาคเลือดแมวเป็นการเก็บเลือดสดจากแมวที่ให้บริจาค (Donor) และถ่ายต่อให้กับแมวที่รับบริจาค (Recipient) ทันที เพราะอย่างที่บอกไปว่าเม็ดเลือดแดงของเลือดแมวแตกง่าย ไม่สามารถเก็บสต็อกได้เหมือนเลือดสุนัขหรือเลือดคน
การบริจาคเลือด 1 ครั้ง แมวจะบริจาคเลือดได้ประมาณ 40-50 มิลลิลิตรต่อตัว และสามารถบริจาคเลือดใหม่ได้ทุก 3-5 เดือน แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรเว้นช่วงนาน 5 เดือนขึ้นไป แต่ก็ยิ่งทำให้แมวมีเลือดสำรองน้อยตามไปด้วย
แมวที่สามารถบริจาคเลือดได้มีคุณสมบัติอย่างไร ?
1. เป็นแมวสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง หรือโรคติดต่อทางเลือด
2. อายุตั้งแต่ 1-7 ปี ไม่จำกัดเพศและสายพันธุ์
3. มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัมขึ้นไป
4. ควรเป็นแมวเลี้ยงระบบปิดหรือเลี้ยงในบ้าน
5. ทำวัคซีน เช่น พิษสุนัขบ้า ลูคีเมีย เอดส์ หัดและหวัดแมว ครบถ้วนและต่อเนื่อง
6. ไม่เป็นโรคผิวหนัง ได้รับการถ่ายพยาธิ และป้องกันเห็บหมัดสม่ำเสมอ
7. ไม่เคยได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน
8. ไม่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา
9. ไม่ได้กินยาหรือฉีดวัคซีนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
10. นิสัยดี เป็นมิตร และเจ้าของควบคุมได้
ขั้นตอนการบริจาคเลือดแมว ทำอย่างไรบ้าง ?
1. ให้แมวงดอาหารมื้อเช้า หรือก่อนบริจาคเลือดอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพราะต้องมีการวางยาสลบ ทั้งนี้สามารถดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำได้
2. ลงทะเบียน กรอกข้อมูล ตรวจสุขภาพเบื้องต้นและซักประวัติการทำวัคซีน
3. เจาะตัวอย่างเลือดบริเวณขาไปตรวจอย่างละเอียด
4. ตรวจความเข้ากันของเลือดระหว่างแมวที่ให้บริจาค (Donor) และแมวที่รับบริจาค (Recipient) *หากเลือดไม่ตรงกัน จะสิ้นสุดที่ขั้นตอนนี้ รอบริจาคเลือดให้กับแมวตัวอื่นต่อไป*
5. วางยาสลบเพื่อให้แมวนิ่ง ไม่ดิ้น ป้องกันการทำเข็มหลุด
6. โกนขนบริเวณคอและฆ่าเชื้อเพื่อเก็บเลือดตามปริมาณที่เหมาะสม
7. นำเลือดที่ได้รับจากแมวที่ให้บริจาค (Donor) ไปถ่ายต่อให้กับแมวที่รับบริจาค (Recipient)
8. ตัวที่ให้บริจาค (Donor) รับน้ำเกลือทดแทนเลือดที่เสียไป และรอให้ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ
9. เก็บประวัติและจ่ายยาบำรุงเลือด
การบริจาคเลือดแมวมีประโยชน์อย่างไร ?
1. ได้ช่วยเหลือเพื่อนสัตว์เลี้ยงด้วยกัน ถือเป็นการทำบุญไปในตัว
2. สุขภาพแข็งแรง ผิวสวย เนื่องจากร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ขึ้นมา
3. ได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามโรงพยาบาลสัตว์ที่เข้าร่วม เช่น โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน จะให้ฉีดวัคซีนประจำปีฟรี และมีส่วนลดค่ารักษาพยาบาลให้ โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ท จะได้เหรียญที่ระลึก ส่วนที่อื่น ๆ จะพวกบัตรประจำตัวผู้บริจาค อาหารเม็ด และของที่ระลึก เป็นต้น
นอกจากจะเป็นการช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงตัวอื่นแล้ว การบริจาคเลือดแมวยังทำให้สุขภาพของแมวแข็งแรงขึ้นอีกด้วย ฉะนั้นถ้าหากแมวของใครมีคุณสมบัติครบ และมีสุขภาพกายสุขภาพใจพร้อม ก็ขอเชิญชวนให้ลงชื่อและข้อมูลกับโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านไว้ แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคเลือดแมวกันนะคะ