วิธีเลี้ยงไก่ไข่ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง

          วิธีเลี้ยงไก่ไข่ ฉบับมือใหม่ ทำความรู้จักไก่ไข่ให้มากขึ้นก่อนเลี้ยง มีสายพันธุ์อะไรบ้าง มีวิธีเลี้ยงอย่างไร การให้น้ำและอาหาร รวมถึงปัญหาและวิธีป้องกันที่ควรรู้ก่อนเลี้ยงไก่ไข่ 


ไก่โรดไทย

          ไก่ไข่ เป็นสัตว์เลี้ยงอีกหนึ่งชนิดที่ทำรายได้ได้อีกทางหนึ่ง สำหรับคนที่กำลังจะหันไปเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสร้างอาชีพ แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี วันนี้กระปุกดอทคอมรวบรวมข้อมูลวิธีเลี้ยงไก่ไข่มาฝาก ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ที่อยากจะเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งจะพาไปทำความรู้จักตั้งแต่สายพันธุ์ การเลี้ยงไก่ไข่ด้วยวิธีต่าง ๆ การให้น้ำ-อาหาร ปัญหาที่พบบ่อยในการเลี้ยง รวมถึงวิธีป้องกันกันค่ะ 

สายพันธุ์ไก่ไข่


          ไก่ไข่ที่นิยิมเลี้ยงในไทยมี 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ ไก่โรดไทย ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ และไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ดังนี้

          1. ไก่โรดไทย (Rhode Thai)

          ไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ สามารถเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งเนื้อและไข่ ลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาล เปลือกไข่สีน้ำตาล ให้ไข่ฟองแรกได้เมื่ออายุประมาณ 168 วัน อัตราการให้ไข่ 94% ผลผลิตประมาณ 240 ฟองต่อตัวต่อปี 

          2. ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ (DLD Layer Hen)

          มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขนปีกสีน้ำตาล สร้อยคอสีน้ำตาลเข้ม หงอนจักรใหญ่สีแดงสด เหนียงสีแดงใหญ่ ตุ้มหูแดงมีสีขาวปนเล็กน้อย ผิวหนังและแข้งมีสีเหลือง ปลายหางมีสีดำ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน ให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุ 169 วัน ผลผลิตประมาณ 290 ฟองต่อตัวต่อปี 

          3. ไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร  (Single Comb White Leghorn)

          เป็นไก่พันธุ์แท้ มีลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนาดเล็ก ขนสีขาว เปลือกไข่สีขาว ไข่ดก ให้ไข่เร็ว เริ่มให้ไข่ได้เมื่ออายุ 4 เดือนครึ่ง ถึง 5 เดือน ผลผลิตประมาณ 300 ฟองต่อตัวต่อปี 

          การเลือกสายพันธุ์ไก่ไข่ ควรเป็นไก่สายพันธุ์ที่ดี ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นไก่ไข่โดยเฉพาะ และมีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ของประเภทไก่ไข่ มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ มีอัตราการเลี้ยงรอดสูง แข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อมของไทยได้ดี นอกจากนี้ควรให้ผลผลิตสูง ไข่ทน ฟองใหญ่ และเปลือกหนา ที่สำคัญควรสอบถามข้อมูลจากผู้เลี้ยงรายอื่นเพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ 

การวางแผนก่อนเลี้ยงไก่ไข่ 


ไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร

          ควรเริ่มการวางแผนเลี้ยงไก่ไข่ 10-20 ตัว แล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวน เพื่อศึกษาพฤติกรรมต่าง  ๆ รวมไปถึงการให้อาหาร โรคที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการหาวิธีป้องกันและดูแล อีกทั้งในระหว่างนี้ควรจัดพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักควบคู่กันไปด้วย เช่น กล้วย ข้าว และผักสวนครัว ไว้ใช้เป็นอาหารเสริมและอาหารหลักของไก่  

วิธีเลี้ยงไก่ไข่


          - การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ 

          การเลี้ยงไก่ที่ปล่อยให้ไก่ออกมาจากโรงเรือนหรือภายนอกคอกได้อย่างอิสระ และได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ เป็นวิธีเลี้ยงไก่ไข่ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะจะทำให้ไก่อารมณ์ดี มีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นผลดีกับผลผลิตที่ได้ ซึ่งช่วยให้ไข่แดงมีสีเข้มนูนเด่น ไข่ขาวสีข้นชัดเจน เมื่อนำมาปรุงอาหารจะมีความหอมมัน รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เหมาะกับการเลี้ยงไก่ไข่สายพันธุ์โรดไทย ไก่บาร์ไทย ไก่พลีมัธร็อกไทย และไก่ไข่กรมปศุสัตว์ เนื่องจากสามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติและทนต่อสภาพแวดล้อม สำหรับพื้นที่ในการเลี้ยงควรจัดให้อยู่ห่างจากที่พักอาศัย เช่น สวนหรือลานโล่งที่มีหญ้าปกคลุม โดยเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการใช้สารเคมีอย่างน้อย 3 ปี และควรตรวจสอบคุณภาพดินว่าไม่มีสารเคมีหรือโลหะหนักปนเปื้อน อัตราพื้นที่หญ้า 5 ตารางเมตร ต่อไก่ไข่ 1 ตัว 

          การเลี้ยงไก่ไข่แบบโรงเรือน 

          โรงเรือนไก่ไข่ต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ป้องกันลม กันแดด กันฝน รวมถึงสัตว์อื่น ๆ เช่น นก แมว หนู และสุนัขได้ ทำความสะอาดง่าย อยู่ห่างจากชุมชนเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นรบกวน โครงสร้างควรเป็นคอนกรีต มีวัสดุรองพื้นคอก เช่น แกลบหนา 3-5 นิ้ว และควรมีรังไข่ 1 ช่อง ต่อแม่ไก่ 4 ตัว และประตูเข้า-ออก 2 ด้าน เพื่อหมุนเวียนปล่อยไก่ออกสู่แปลงอิสระ ทั้งนี้ หากมีโรงเรือนมากกว่า 1 หลัง แต่ละหลังควรเว้นระยะห่างกันมากกว่า 10 เมตร เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวกและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค 


การให้น้ำและอาหาร


ไก่ไข่

          อาหารไก่ไข่มี 4 ชนิด คือ อาหารผสม หัวอาหาร อาหารอัดเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูป และอาหารเสริม สำหรับการให้น้ำในไก่ไข่อายุ 5 เดือนขึ้นไป ควรให้น้ำประมาณครึ่งลิตรต่อวัน หากไก่ขาดน้ำในช่วงกำลังไข่ จะทำให้ไข่ฟองเล็ก น้ำที่ให้ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ใส่ในกระบอกหรือถังให้ไก่กิน 

ปัญหาและการป้องกัน


          ปัญหาการเลี้ยงไก่ไข่ที่ต้องระวังก็คือ โรคระบาดต่าง ๆ ที่มาจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เช่น โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ โรคอหิวาต์ไก่ และโรคฝีดาษไก่ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนตามอายุไก่และให้วัคซีนอย่างสม่ำเสมอ เพราะวัคซีนแต่ละชนิดมีระยะคุ้มกันโรคไม่เหมือนกัน 

          คราวนี้ก็ได้ทราบกันไปแล้วถึงวิธีเลี้ยงไก่ไข่ ตั้งแต่สายพันธุ์ การวางแผน วิธีการเลี้ยง รวมถึงปัญหาที่ต้องระวังและแนวทางการป้องกัน เอาเป็นว่าหากต้องการจะเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพ ก็ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นนะคะ 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเลี้ยงไก่ไข่ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2565 เวลา 10:12:48 281,180 อ่าน
TOP
x close